"โรคเบาจืด" เป็นแล้วรักษาไม่หาย ต้องกินยาตลอดชีวิต

"โรคเบาจืด" เป็นแล้วรักษาไม่หาย ต้องกินยาตลอดชีวิต

"โรคเบาจืด" เป็นแล้วรักษาไม่หาย ต้องกินยาตลอดชีวิต
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

โรคเบาจืดเป็นโรคที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาด แต่พบได้ไม่มากนัก มีเพียง 3-4 รายใน 1 แสนคน และผู้ป่วยต้องรับประทานยาฮอร์โมนทดแทนตลอดชีวิต


โรคเบาจืด คืออะไร?

โรคเบาจืด คือโรคที่ร่างกายสูญเสียความสมดุลของน้ำ  ซึ่งเกิดขึ้นได้น้อยในคนทั่วไป โดยมีผลมาจากความผิดปกติของฮอร์โมนแอนติไดยูเรติก (Antidiuretic Hormone) ซึ่งก่อให้เกิดอาการกระหายน้ำอย่างรุนแรงแม้จะดื่มน้ำเข้าไปแล้วก็ตาม ส่งผลให้ผู้ป่วยดื่มน้ำมากผิดปกติ และปัสสาวะออกมามากกว่าที่ควรจะเป็น 

สาเหตุหลักของโรคเกิดจากร่างกายไม่สามารถหลั่งฮอร์โมนออกมาได้ เช่น ผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดบริเวณใกล้ต่อมใต้สมอง มีผลแทรกซ้อนตามมาทำให้เกิดโรคเบาจืด และไตผิดปกติแต่กำเนิด โดยเมื่อแรกเกิดมักไม่ค่อยแสดงอาการของโรคเบาจืด แต่จะแสดงอาการเมื่ออายุประมาณ 1-3 ขวบ หรือพบในบางรายเมื่อเป็นผู้ใหญ่แล้ว


ประเภทของโรคเบาจืด

โรคเบาจืดแบ่งออกเป็น 4 ชนิด ได้แก่

  1. โรคเบาจืดที่เกิดจากความผิดปกติของสมอง (Cranial Diabetes Insipidus) เป็นชนิดของโรคเบาจืดที่พบได้บ่อยที่สุด ซึ่งเกิดจากความเสียหายของต่อมใต้สมอง หรือสมองส่วนไฮโปทาลามัส มีหลายสาเหตุ เช่น ผลพวงจากการติดเชื้อที่สมอง การผ่าตัด เนื้องอกที่สมอง หรือการบาดเจ็บที่ศีรษะ จนทำให้สมองส่วนไฮโปทาลามัสไม่สามารถสร้างฮอร์โมนที่ควบคุมการปัสสาวะได้

  2. โรคเบาจืดที่เกิดจากความผิดปกติของไต (Nephrogenic Diabetes Insipidus) เป็นโรคที่เกิดจากระบบการทำงานของไตไม่สามารถตอบสนองต่อฮอร์โมนแอนติไดยูเรติกได้ โดยเป็นผลจากความเสียหายของไต หรือการใช้ยาบางชนิด เช่น ลิเทียม ซึ่งเป็นยาที่ใช้ในผู้ป่วยที่มีปัญหาสุขภาพจิต เป็นต้น

  3. โรคเบาจืดที่เกิดจากความผิดปกติของกลไกควบคุมการกระหายน้ำ (Dipsogenic Diabetes Insipidus) ซึ่งเกิดจากความผิดปกติของกลไกการทำงานที่เกี่ยวข้องกับการกระหายน้ำภายในสมอง

  4. โรคเบาจืดที่เกิดขึ้นระหว่างตั้งครรภ์ (Gestational Diabetes Insipidus)


โรคเบาจืด รักษาไม่หาย ต้องกินยาตลอดชีวิต

นายแพทย์ภาสกร ชัยวานิชศิริ รองอธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า โรคเบาจืดเป็นโรคที่สามารถพบได้ทุกวัย แม้พบได้น้อยมาก โดย 1 แสนคน จะพบผู้ป่วยเพียง 3-4 รายเท่านั้น แต่โรคเบาจืดเป็นโรคที่ไม่มียารักษาให้หายขาด ต้องกินยาไปตลอดชีวิต 


อาการของโรคเบาจืด

การสังเกตุอาการของโรคนี้ คือ 

  • ปัสสาวะบ่อย และปัสสาวะครั้งละมากๆ ปัสสาวะมักไม่มีสี หรือกลิ่น 

  • เมื่อร่างกายเสียน้ำไปมาก ผลที่ตามมาคือ ผู้ป่วยจะกระหายน้ำบ่อย หากดื่มน้ำทดแทนส่วนที่เสียไปไม่ทันหรือไม่เพียงพอ อาจเกิดภาวะขาดน้ำรุนแรง ทำให้ซึม ไม่รู้สึกตัว และช็อก หรือหมดสติ เนื่องจากร่างกายไม่สามารถรักษาสมดุลของน้ำในร่างกาย 
  • อาจพบอาการปวดบริเวณเอว ท้องน้อย เนื่องจากการคั่งของปัสสาวะบริเวณท่อไต กรวยไต กระเพาะปัสสาวะ ส่งผลให้อวัยวะดังกล่าวโตขึ้น 


วิธีรักษาโรคเบาจืด

นายแพทย์วิบูลย์ กาญจนพัฒนกุล รักษาการแทนผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ความสำคัญคือต้องพบแพทย์เพื่อการวินิจฉัยและหาสาเหตุของโรค เพื่อจะได้รับการรักษาที่ถูกต้อง 

วิธีการรักษาและปฏิบัติตัวที่สำคัญของผู้ที่เป็นโรคเบาจืด คือ 

  1. ควรดื่มน้ำให้เพียงพอ ถ้าอยู่ในที่อากาศร้อนจัด ร่างกายต้องสูญเสียน้ำไปทางผิวหนังมาก หรือคนไข้ที่มีอาการท้องเดิน ท้องเสีย ต้องพยายามทดแทนโดยการดื่มน้ำเปล่าให้มาก 

  2. หลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสเค็มจัด เพราะอาหารที่เค็มจัดจะมีเกลือมาก ร่างกายจะขับเกลือออกมาทางไตและออกมากับปัสสาวะ เป็นสาเหตุให้ร่างกายถูกดึงน้ำออกไป จึงทำให้ขาดน้ำมากขึ้น 

  3. ใช้ยาตามแพทย์สั่งให้ครบและตรงเวลาสม่ำเสมอห้ามหยุดยาหรืองดยาไปเอง เพราะโรคนี้จำเป็นต้องใช้ยาควบคุมเสมอ ต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด 

  4. โรคเบาจืดมักเป็นโรคที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาด ผู้ป่วยต้องใช้ยาฮอร์โมนทดแทนตลอดชีวิต หากสงสัยว่าอาจเป็นโรคเบาจืดควรไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยต่อไป เนื่องจากภาวะเบาจืดอาจเป็นอาการของโรคทางสมอง โรคเลือด หรือความผิดปกติแต่กำเนิดบางอย่างได้

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook