คอกาแฟมีเฮ! เลือกดื่มถูกวิธี ก็ดีต่อสุขภาพได้
คอกาแฟมีเฮ! เพราะถึงแม้กาแฟจะมีคาเฟอีนที่อาจทำให้ใครหลายๆ คน นอนไม่หลับ ใจสั่น มือสั่น หรือมีผลกระทบต่อผู้มีความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ และโรคประจำตัวอีกหลายๆ โรค แต่ถึงกระนั้นเราก็เข้าใจดีว่า สำหรับคนที่ติดกาแฟ การจะเลิกกินเด็ดขาดมันเป็นอะไรที่ลำบากมากๆ
ดังนั้น Sanook! Health จะมาแนะนำวิธีดื่มกาแฟ ไม่ให้เสียสุขภาพกันค่ะ รับรองอร่อย หอมกรุ่นเหมือนเดิม ที่เพิ่มเติมคือสุขภาพดีขึ้นด้วย
วิธีดื่มกาแฟให้ดีต่อสุขภาพ
1. เลือกเมล็ดกาแฟที่ดี มีคุณภาพ จะมีปริมาณสารต้านอนุมูลอิสระมากกว่าชาเขียวถึง 4 เท่า โดยเฉพาะกาแฟพันธุ์โรบัสต้า จะมีสารต้านอนุมูลอิสระมากกว่า กาแฟพันธุ์อาราบิก้าถึง 2 เท่า
2. เลี่ยงกาแฟที่ใช้หม้อต้มแบบสไตล์สแกนดิเนเวีย เพราะจะมีสารไดเทอร์พีนสูง เพิ่มระดับคอเลสเทอรอลในเลือด ควรเลือกกาแฟสำเร็จรูปที่ละลายน้ำ หรือชนิดกรองหยด และเอสเพรสโซ ซึ่งจะมีผลน้อยกว่า
3. เลือกดื่มกาแฟดีแคฟ หรือกาแฟที่ไม่มีคาเฟอีน และหากเป็นไปได้ ควรเลือกชนิดที่ใช้ กระบวนการสกัดธรรมชาติ (Swiss Water Process)
4. เติมสิ่งนอกเหนือจากกาแฟกับน้ำร้อนให้น้อยที่สุด หรือไม่ใส่เลยได้ยิ่งดี เช่น ครีม นม น้ำตาล น้ำเชื่อม วิปครีม เพราะสิ่งที่เติมลงไปเท่ากับเพิ่มพลังงานให้กับกาแฟถ้วยน้ำด้วย
5. ไม่ควรดื่มเกินวันละ 1-2 แก้ว หากดื่มมากกว่านั้น ปริมาณคาเฟอีนที่ร่างกายได้รับ จะส่งผลร้ายต่อระบบหัวใจ ความดัน และหลอดเลือด
6. ดื่มน้ำเปล่าให้มากขึ้น เพราะกาแฟมีสารขับปัสสาวะ ทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำมากขึ้น
7. อย่าดื่มกาแฟแทนอาหารเช้าทั้งมื้อ เพราะอย่างไรอาหารเช้าควรเป็นอาหารที่มีคุณค่าทางสารอาหารครบ 5 หมู่ และให้พลังงานที่เพียงพอ
8. อย่าดื่มกาแฟตอนเย็น หรือก่อนเข้านอน 6 ชั่วโมง เพราะหากทำให้ตาค้าง นอนไม่หลับ และอาจเป็นปัญหาระยะยาวในภายหลัง
ประโยชน์ของกาแฟ หากดื่มอย่างถูกวิธี
จะช่วยลดความเสี่ยงของอาการ และโรคต่อไปนี้
- เบาหวาน
- นิ่วในถุงน้ำดี
- มะเร็งลำไส้ใหญ่
- พาร์กินสัน
- อันตรายจากตับ ในผู้ที่เสี่ยงต่อการเป็นโรคตับ
- อาหารหอบ จากผู้ป่วยหอบหืด
- เพิ่มความจำ
- เพิ่มความทน และอึดของร่างกาย
- แก้ง่วง โดยแนะนำให้ดื่มทีละน้อยๆ กระจายไปในแต่ละช่วงเวลาของวันแทน
อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ทุกคนที่ดื่มกาแฟได้ รวมถึงผู้ที่มีโรคประจำตัวค่อนข้างรุนแรง เช่น หลอดเลือดหัวใจหรือสมองตีบ/พอง ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคกระเพาะอาหารอักเสบ กรดไหลย้อน หรือโรคอื่นๆ และอยู่ในระหว่างการรักษากับคุณหมอ แนะนำให้ปรึกษาคุณหมอถึงการดื่มกาแฟ ว่าร่างกายสามารถรับได้มากน้อยแค่ไหน
ขอขอบคุณเนื้อหาบางส่วนจาก herbdd.com
ภาพประกอบจาก istockphoto