10 สัญญาณอันตราย “ซึมเศร้า” ในผู้สูงอายุ
![10 สัญญาณอันตราย “ซึมเศร้า” ในผู้สูงอายุ](http://s.isanook.com/he/0/ud/3/16873/senior-sad.jpg?ip/crop/w1200h700/q80/jpg)
โรคซึมเศร้าไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในวัยรุ่น หรือวัยทำงานเท่านั้น วัยสูงอายุก็เป็นอีกวัยหนึ่งที่พบอัตราผู้ป่วยโรคซึมเศร้าไม่น้อย โดยเราจะเรียกว่าเป็นโรคซึมเศร้าในผู้สูงอายุโดยเฉพาะ อันตรายต่อร่างกาย และจิตใจไปไม่น้อยกว่าวัยอื่นๆ เช่นกัน
โรคซึมเศร้าในผู้สูงอายุ เกิดจากสาเหตุใด?
โรคซึมเศร้าในผู้สูงอายุ หรือ Late-Life Depression อาจเกิดขึ้นได้กับผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป โดยอาจเป็นโรคซึมเศร้าที่เคยเป็นมาตั้งแต่ก่อนอายุ 60 ปีแล้ว หรืออาจเพิ่งเกิดขึ้นหลังจากอายุ 60 ปีเป็นต้นมา
สาเหตุของโรคซึมเศร้าในผู้สูงอายุ มาจากความผิดปกติของสารสื่อประสาทในสมอง ทำให้สภาวะทางอารมณ์เปลี่ยนไป โดยอาจมีปัจจัยกระตุ้นจากการเปลี่ยนแปลงของวิถีชีวิตต่างๆ เช่น
- วัยหลังเกษียณ อยู่ตัวคนเดียว ไม่ได้ออกไปพบปะเพื่อนฝูง
- หย่าร้างกับคู่รัก
- สูญเสียบุคคลที่รัก เช่น พ่อ แม่ พี่ น้อง ลูก หลาน เพื่อนสนิท
- อยู่ตัวคนเดียว ไม่ได้อยู่กับครอบครัว หรือญาติมิตร
- โรคภัยรุมเร้า เช่น เบาหวาน หัวใจ ไต ตับ มะเร็ง สมองเสื่อม
- หนี้สินที่สะสมมาตั้งแต่ตอนวัยทำงาน
- ดื่มแอลกอฮอลล์มากเกินไป
- ขาดวิตามินบี 12
อาการของโรคซึมเศร้าในผู้สูงอายุ
อาการของโรคซึมเศร้าในผู้สูงอายุจะมีตั้งแต่อาการเล็กน้อย ปานกลาง ไปจนถึงขั้นรุนแรง โดยอาจมีสัญญาณอันตรายที่สังเกตได้ ดังนี้
- อารมณ์แปรปรวนง่าย เช่น จากที่เคยใจเย็น กลับใจร้อนมากขึ้น โกรธง่ายขึ้น ขี้บ่นมากขึ้น มีเหตุผลน้อยลง หรืออาจจะวิตกกังวลง่ายขึ้น
- หมดความสนใจในสิ่งที่เคยชอบมากๆ
- เบื่อง่าย เบื่อคนรอบตัว เบื่ออาหาร เบื่อตัวเอง ไม่เข้าร่วมกิจกรรมใดๆ
- เริ่มไม่อยากดูแลตัวเอง ไม่อยากกินข้าว ไม่ออกกำลังกาย ไม่กินยา ไม่อยากไปหาหมอ
- น้ำหนักลดจากการเบื่ออาหาร
- มีปัญหาในการนอน เช่น นอนไม่หลับ ตื่นกลางดึก หลับๆ ตื่นๆ นอนหลับไม่สนิท
- ความจำไม่ค่อยดี ความจำสั้น สมาธิสั้น
- พูดในประโยคทำนองว่า ตัวเองไม่มีค่า อยู่ไปก็ไร้ค่า อยากตาย ไม่อยากอยู่ต่อแล้ว
- พูดน้อย ถามคำตอบคำ เก็บตัว ไม่อยากคุยกับใคร
- อ่อนเพลียอย่างไม่มีสาเหตุ
วิธีรักษาโรคซึมเศร้าในผู้สูงอายุ
หากผู้สูงอายุมีอาการดังกล่าว ควรเข้าไปพูดคุย ทำความเข้าใจผู้สูงอายุให้มากขึ้น และพาไปตรวจกับจิตแพทย์
วิธีปฏิบัติตัวต่อผู้สูงอายุที่เป็นโรคซึมเศร้า
- ชวนคุย ชวนทำกิจกรรมด้วยกันเรื่อยๆ เช่น ชวนทำอาหาร กินข้าว ดูหนัง ฟังเพลง
- เก็บของมีคม อาวุธ หรือสารมีพิษในบ้านให้เรียบร้อย อย่าวางเกลื่อนกลาด หรือในที่ที่มองเห็นได้ง่าย
- ให้กินยาอย่างต่อเนื่องตามแพทย์สั่ง ไม่ควรให้ผู้ป่วยปรับเพิ่ม ลด หรือหยุดกินยาเอง
- พามาพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอ