“ลมชัก” คืออะไร อาการ และวิธีรักษา

“ลมชัก” คืออะไร อาการ และวิธีรักษา

“ลมชัก” คืออะไร อาการ และวิธีรักษา
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

โรคลมชักเป็นโรคทางสมองที่สามารถเกิดขึ้นได้กับผู้คนทุกวัย ตั้งแต่เด็กเล็กจนถึงผู้สูงอายุ ซึ่งสามารถควบคุมและรักษาให้หายขาดได้ แต่เนื่องจากความไม่เข้าใจของสังคม ทำให้ผู้ป่วยโรคลมชักส่วนหนึ่งต้องพบกับปัญหาในการดำรงชีวิตและเกิดความท้อแท้สิ้นหวัง เนื่องจากอคติและการไม่ยอมรับจากสังคม ทำให้ผู้ป่วยไม่ได้รับการศึกษาตามระบบหรือไม่สามารถหางานทำได้ ทั้งที่จริงแล้ว ผู้ป่วยโรคลมชักส่วนใหญ่สามารถทำกิจกรรมต่างๆ ได้เป็นปกติ ไม่แตกต่างจากคนทั่วไป

กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ประมาณการว่า ในประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคลมชักราว 6-7 แสนคน โดยมีทั้งผู้ป่วยที่สามารถควบคุมอาการชัก และมีโอกาสที่จะรักษาให้หายขาดได้ หากได้รับการรักษาอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ขณะเดียวกัน ผู้ป่วยบางรายก็มีโอกาสเสียชีวิตจากอุบัติเหตุระหว่างมีอาการชัก เนื่องจากการขาดอากาศในกรณีที่ชักต่อเนื่องไม่หยุด และหากคุมอาการชักได้ไม่ดีผู้ป่วยอาจมีความสุ่มเสี่ยงที่จะเสียชีวิตแบบเฉียบพลัน


โรคลมชัก เกิดจากอะไร?

โรคลมชัก เป็นโรคที่เกิดจากเซลล์ประสาท และกระแสไฟฟ้าในสมองทำงานผิดปกติชั่วขณะ ทำให้ร่างกายแสดงอาการบางอย่างโดยที่ผู้ป่วยอาจไม่รู้ตัว


อาการที่พบได้ในผู้ป่วยโรคลมชัก

  • เกร็ง 

  • กระตุก 

  • น้ำลายยืด 

  • ปากเขียว 

  • เหม่อ ซึม เรียกแล้วไม่ตอบสนองช่วงสั้นๆ ก่อนจะกลับเป็นปกติ 

ผู้ดูแลจึงต้องสังเกตอาการของผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด โดยทั่วไปอาการชักจะหยุดเองภายใน 3 นาที แต่หากมีอาการนานเกินกว่า 5 นาที หรือหากผู้ป่วยมีอาการเกร็งหรือกระตุกทั้งตัว มีอาการเขียว ต้องรีบนำส่งโรงพยาบาลทันที 


การรักษาโรคลมชัก

ผู้ป่วยจะต้องรับประทานยากันชักตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด และหลีกเลี่ยงปัจจัยที่อาจกระตุ้นให้เกิดอาการชัก เช่น อดนอน พักผ่อนไม่เพียงพอ อาการไข้หรือเจ็บป่วย การขาดยากันชัก จุดประสงค์ของการดูแลผู้ป่วยโรคลมชักคือ ทำให้อาการชักของผู้ป่วยลดลงเป็นศูนย์หรือเหลือน้อยที่สุด หากมีอาการ ก็รุนแรงน้อยที่สุด เพื่อเลี่ยงไม่ให้เกิดอุบัติเหตุและความสูญเสียใดๆ  

โรคลมชักเป็นโรคที่สามารถควบคุมได้และมีโอกาสรักษาให้หายขาดได้ ที่สำคัญคือ ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคลมชักและการให้กำลังใจแก่ผู้ป่วย รวมถึงผู้ดูแล ซึ่งเป็นส่วนที่สำคัญที่จะช่วยให้การรักษาประสบผลสำเร็จได้ถึงร้อยละ 70 เหนือสิ่งอื่นใดคือเราต้องการส่งเสียงออกไปในสังคมวงกว้างว่า ผู้ป่วยโรคลมชักนั้นจริงๆ แล้วเขาคือบุคคลที่เป็นปกติ พวกเขาสามารถอยู่ร่วมกับทุกคนในสังคมได้เพียงแค่คนในสังคมให้โอกาสและพร้อมที่จะเรียนรู้วิธีการรับมือ เช่น ถ้าเห็นผู้ป่วยมีอาการชัก ก็รู้ได้ว่าควรช่วยปฐมพยาบาลและดูแลอย่างไร 

 

>> อันตรายจากโรค "ลมชัก" จากการไม่รีบรักษา-ปฐมพยาบาลผิดวิธี

>> จำไว้! วิธีปฐมพยาบาลผู้ป่วยลมชักที่ถูกต้องที่สุด

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook