"ภาวะลมในช่องเยื่อหุ้มปอด" นักบิน-นักดำน้ำ เสี่ยงอันตรายถึงชีวิต
เตือนประชาชนและกลุ่มอาชีพ เช่น นักบิน นักประดาน้ำ ควรตระหนักภาวะลมในช่องเยื่อหุ้มปอดที่อาจเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ
ภาวะลมในช่องเยื่อหุ้มปอด คืออะไร?
นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า ภาวะลมในช่องเยื่อหุ้มปอด หรือภาวะปอดรั่ว คือ ภาวะที่มีอากาศเข้าไปแทรกอยู่ภายในช่องปอดจนเบียดเนื้อปอด ทำให้ปอดขยายตัวได้ไม่เต็มที่และทำงานได้ไม่ดี ส่งผลต่อการหายใจของผู้ป่วย เป็นภาวะที่ต้องได้รับการรักษาทางการแพทย์อย่างเร่งด่วน เพราะหากปล่อยไว้จะเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต
ภาวะลมในช่องเยื่อหุ้มปอด เกิดจากสาเหตุใด?
เกิดจากหลายสาเหตุ ได้แก่ การบาดเจ็บที่กระทำต่อปอดเช่น อุบัติเหตุ การผ่าตัด การส่องกล้องหลอดลมเพื่อตัดชิ้นเนื้อ เป็นต้น หรือเกิดจากโรคหรือสภาวะที่ก่อให้เกิดลมในช่องเยื่อหุ้มปอด เช่น โรคถุงลมโป่งพอง ปอดติดเชื้อ มีซีสต์ในปอด การสูบบุหรี่ และอาจเกิดขึ้นโดยไม่มีสาเหตุ สัญญาณเตือน หรือภาวะใดๆ ซึ่งสามารถถ่ายทอดได้ทางกรรมพันธุ์ นอกจากนี้ยังพบว่าเพศชายมีแนวโน้มเกิดภาวะลมในช่องเยื่อหุ้มปอดมากกว่าเพศหญิง 3-6 เท่า และผู้ที่เคยมีภาวะดังกล่าวมาก่อนมีความเสี่ยงที่จะเป็นซ้ำได้อีก
อาการของภาวะลมในช่องเยื่อหุ้มปอด
นายแพทย์เอนก กนกศิลป์ ผู้อำนวยการสถาบันโรคทรวงอก กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า อาการที่แสดงถึงภาวะดังกล่าว ได้แก่
- เจ็บหน้าอกบริเวณข้างที่มีความผิดปกติ
- หอบเหนื่อย หายใจไม่สะดวก หรือแน่นหน้าอก
- หากมีปริมาณลมเพิ่มมากขึ้นจะทำให้ปอดแฟบลงส่งผลให้มีการหายใจลำบาก และอาจเกิดภาวะช็อกจนเสียชีวิต
ทั้งนี้อาการและความรุนแรงมีตั้งแต่เล็กน้อยจนถึงรุนแรงมาก และจะแตกต่างกันขึ้นอยู่กับอัตราเร็วในการสะสมของลมที่รั่วในช่องเยื่อหุ้มปอด รวมถึงความผิดปกติของปอดเดิมของผู้ป่วย
กลุ่มเสี่ยงภาวะลมในช่องเยื่อหุ้มปอด
กลุ่มอาชีพที่ควรเฝ้าระวัง ได้แก่
- นักบิน
- พลร่ม
- นักประดาน้ำ
- นักดำน้ำ หรือผู้ที่ต้องดำน้ำลึกหรือขึ้นที่สูง
เนื่องจากในน้ำลึกและบนที่สูงมีแรงดันอากาศเพิ่มขึ้นกว่าปกติ ซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะนี้ตามมา
การรักษาภาวะลมในช่องเยื่อหุ้มปอด
สำหรับการรักษาจะขึ้นอยู่กับสาเหตุ การแสดงอาการ และขนาดของลมที่รั่ว โดยเริ่มจากติดตามอาการในกรณีที่อาการและขนาดของลมที่รั่วน้อย การให้ออกซิเจนขนาดเข้มข้นเพื่อเร่งอัตราการดูดกลับของลม การใช้เข็มดูดลมออก การใส่สายเพื่อระบายลมในกรณีที่อาการหนัก และการผ่าตัดในกรณีที่รักษาเบื้องต้นแล้วลมยังรั่วปอดไม่ขยายตัว นอกจากนี้ข้อควรระวังสำหรับผู้ป่วยที่เคยรักษาตัวจากภาวะดังกล่าว คือ ควรหลีกเลี่ยงการเดินทางทางอากาศยานและเลี่ยงกิจกรรมดำน้ำอย่างเด็ดขาดเป็นเวลา 1 ปี ห้ามยกของหนักประมาณ 6 สัปดาห์ เพราะความดันเปลี่ยนจะส่งผลต่อปอด และงดสูบบุหรี่เพื่อป้องกันการกำเริบซ้ำ