"ฟิลเลอร์" ต่างจาก "โบท็อกซ์" อย่างไร? พร้อมอันตรายหากฉีดไม่ถูกวิธี
สาวๆ ส่วนใหญ่ยังเข้าใจเรื่องฟิลเลอร์กันแบบผิวเผิน หรือบางคนแทบไม่รู้เลยว่าฟิลเลอร์กับโบท็อกซ์ต่างกันอย่างไร หรือบางคนก็คิดว่าฟิลเลอร์ฉีดที่ไหนก็ได้ และไปฉีดกับคนที่ไม่ใช่แพทย์ เช่น หมอกระเป๋าทั้งหลาย หรือบุคลากรอื่นที่เคยทำงานร่วมกับแพทย์ก็ได้ เพราะราคาถูกกว่า จึงมักจะทำให้เกิดปัญหา หรือมีผลข้างเคียงมากมายตามที่ปรากฏตามสื่อต่างๆ ก่อนตัดสินใจเลือกฉีดฟิลเลอร์ วันนี้มาทำความรู้จักกับฟิลเลอร์กันซักหน่อยดีกว่า
การฉีดฟิลเลอร์แตกต่างจากการฉีดโบท็อกซ์อย่างไร
จริงๆ แล้วฟิลเลอร์ (Fillers) แปลว่าสารเติมเต็ม ความหมายก็ตามนั้น คือการฉีดสารให้เต็มในส่วนที่พร่องไป พูดง่ายๆ การฉีดฟิลเลอร์คือการฉีดสารเข้าสู่ร่างกาย เพื่อจะลดปัญหาจากเนื้อหรือคอลลาเจนตามธรรมชาติของร่างกายที่ลดลง (Volumn loss) ซึ่งมักจะเกิดเมื่อเรามีอายุมากขึ้น หรือในบางกรณีสำหรับบางคนที่มีปัญหา อยากเพิ่ม อยากเติมบางจุดให้ดูอวบอิ่มขึ้นจากของเดิมที่ไม่มี เช่น การฉีดฟิลเลอร์เติมร่องแก้มที่ลึก การฉีดฟิลเลอร์ร่องตาที่ลึก การฉีดฟิลเลอร์เสริมดั้งจมูก การฉีดฟิลเลอร์ให้ริมฝีปากอวบอิ่ม การฉีดฟิลเลอร์เสริมคาง ซึ่งความลึกตื้นในการฉีดส่วนใหญ่จะฉีดในชั้นหนังแท้ (Dermis) เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งอยู่เหนือชั้นไขมัน และกล้ามเนื้อ จึงแตกต่างจากโบท็อกซ์ ตรงที่โบท็อกซ์จะฉีดในชั้นกล้ามเนื้อ เพื่อลดการทำงานของกล้ามเนื้อที่เราไม่ต้องการ เช่น ลดริ้วรอยจากการขยับของตีนกาเวลายิ้ม รอยย่นบนหน้าผาก รอยย่นเวลาขมวดคิ้ว หรือฉีดให้หน้าเรียวเล็กสำหรับผู้ที่มีกรามใหญ่
>> ข้อดี-ข้อควรระวัง เมื่อใช้ “โบท็อกซ์”
ฟิลเลอร์สามารถฉีดได้กับทุกคนหรือไม่
ฟิลเลอร์ไม่สามารถจะฉีดได้กับทุกคน สตรีมีครรภ์ ผู้ที่ให้นมบุตร ผู้ที่มีปัญหาเลือดออกแล้วหยุดยาก มีแผลฟกช้ำง่าย ควรเลี่ยงการฉีดฟิลเลอร์ ที่สำคัญผู้ที่แพ้สารไฮยา ฉีดไม่ได้เด็ดขาด ส่วนอีกกลุ่มคือกลุ่มที่มีความหย่อนคล้อยมากๆ มีผิวหน้าบาง พวกนี้ต้องระวัง และเลือกชนิดฟิลเลอร์ที่ละเอียด เพราะเสี่ยงต่อการที่ฟิลเลอร์เกาะตัวเป็นก้อน ดูไม่เป็นธรรมชาติได้ และสุดท้ายผู้ที่เป็นเริม หรืองูสวัดอยู่ การฉีดฟิลเลอร์อาจจะทำให้อาการกำเริบมากขึ้นได้ แต่ในกรณีที่เคยเป็นและหายแล้ว ฉีดได้ไม่มีปัญหา
ข้อควรระวัง และผลข้างเคียงจากการฉีดสารเติมเต็ม
- ฉีดไม่ถูกตำแหน่ง เช่น ฉีดตื้นหรือลึกเกินไป ทำให้ไม่ได้ผล
- ถ้าเกิดฉีดฟิลเลอร์เติมร่องใต้ตา แล้วเกิดไปอุดตันทางเดินน้ำเหลือง จะทำให้ตาดูบวมๆ คล้ายถุงใต้ตา
- เป็นก้อนๆ หรือตะปุ่มตะป่ำ อันนี้พบได้บ่อย โดยเฉพาะบริเวณร่องแก้มหรือใต้ตาที่ฉีดตื้นเกินไป
- บริเวณที่ฉีดมีเส้นเลือดฝอยแดงเกิดขึ้น เป็นผลจากอนุภาคสารเติมเต็มไปอุดตันเส้นเลือดฝอยในจุดนั้น มักพบได้บ่อยในกรณีที่ต้องการฉีดเสริมปลายจมูก
- เนื้อเยื่อข้างเคียงตาย จากการที่อนุภาคของสารเติมเต็มไปอุดตันเส้นเลือดขนาดกลาง พบได้บริเวณข้างและปีกจมูกจากการเติมร่องแก้มหรือการฉีดเสริมจมูก
- เกิดการอักเสบติดเชื้อ พบได้บ่อยมากขึ้นในกรณีที่ฉีดเติมปลายจมูกให้ยาวขึ้นหรือเพื่อเป็นหยดน้ำในจมูกที่มีแท่งซิลิโคนอยู่แล้ว กรณีนี้ต้องถอดแท่งซิลิโคนออกเท่านั้นจึงจะดีขึ้น
- จมูกโตขึ้นเรื่อยๆ มักพบในคนที่ฉีดสารเติมเต็มหลายๆ ครั้ง
- ตาบอด อันนี้อันตรายที่สุด มักเกิดจากการฉีดเสริมจมูกอย่างผิดวิธีทำให้อนุภาคของสารเติมเต็มหลุดเข้าไปอุดตันเส้นเลือดที่ดวงตา ซึ่งเราคงเคยได้ข่าวมาบ้างแล้วในเมืองไทย
ข้อห้าม และการปฏิบัติตัวหลังการ ฉีดฟิลเลอร์
- ห้ามนอนราบ 3 ชั่วโมง
- ข้อห้ามภายใน 2 วันควรเลี่ยงยาหรือสารที่อาจจะมีผลต่อการฟกช้ำได้ง่าย เช่น ยากลุ่ม Aspirin, ยาแก้ปวดข้อบางชนิด เช่น Brufen, Voltaren วิตามินอี หรือแอลกอฮอล์ อย่างน้อย 24 ชั่วโมง รวมถึงควรงดการออกกำลังกาย และการเข้าซาวน่า
- ข้อห้ามภายใน 2 อาทิตย์ ห้ามโดนความร้อน หรือ ทำเลเซอร์ รวมถึงทรีทเม้นต์ ที่มีความร้อน เช่น RF ยกกระชับ ทำ IPL ทำ Fractional Laser Co2 กรอผิว ทำ AHA ลอกหน้า รวมถึงการใช้ไดร์เป่าผม เข้าซาวน่า อบไอน้ำ เพราะความร้อนจะทำให้ฟิลเลอร์สลายเร็วขึ้น
- ดื่มน้ำมากๆ เพราะจะช่วยให้ฟิลเลอร์คงสภาพได้นานขึ้น เนื่องจากฟิลเลอร์เป็นสารที่อุ้มเก็บกักน้ำได้ค่อนข้างดี