“โรคลายม์” อันตรายที่ติดต่อผ่าน “เห็บ” จากสัตว์สู่คน
โรคลายม์ เป็นโรคที่ไม่คุ้นหูคนไทยนัก แต่หากทราบว่ามีพาหะของโรคอย่าง เห็บ อาจทำให้หลายคนตื่นกลัว เพราะเห็บสามารถพบได้ง่ายในประเทศของเรา และอาจอยู่ตามซอกไรขนของสัตว์เลี้ยงของเรา และสัตว์ที่อยู่ตามถนนนอกบ้านได้
โรคลายม์ คืออะไร?
โรคลายม์เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่มีชื่อว่า Borrelia spp. ที่มีการติดต่อผ่านการแพร่เชื้อจากเห็บที่กินเลือดจากสัตว์จำพวกสุนัข ม้า กวาง วัว ควาย หนู ที่เป็นตัวกักตุนโรค และนำเชื้อโรคเข้าสู่คนเมื่อมากัดกินเลือดคน โดยเห็บอาจกัดและดูดเลือดเป็นเวลา 24-48 ชั่วโมง เห็บจะมีตัวบวม และปล่อยเชื้อแบคทีเรียเข้าสู่กระแสเลือดผ่านทางผิวหนัง
คนติดโรคลายม์ได้อย่างไร?
คนติดโรคลายม์ได้จากการถูกเห็บที่มีเชื้อกัด โดยเห็บต้องเกาะอยู่อย่างน้อย 24 ชั่วโมงจึงจะสามารถแพร่เชื้อเข้าสู่ร่างกายได้ เห็บในระยะตัวอ่อน (nymph) เป็นตัวแพร่โรคที่สำคัญที่สุด
โรคลายม์ พบได้ที่ไหน?
แม้ว่าในประเทศไทยอาจไม่ค่อยคุ้นหูนัก แต่อันที่จริงแล้วโรคลายม์สามารถพบได้ทั่วโลก แต่จะพบได้มากกว่าในแถบทวีปอเมริกา นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ให้ข้อมูลว่า สำหรับประเทศไทยยังไม่พบการรายงานผู้ป่วยจากโรคนี้ มีแค่การทบทวนว่ามีการศึกษาหนึ่งที่มีเพียงสัตว์ตัวเดียวที่ตรวจเจอ ดังนั้นความเสี่ยงที่ว่าเห็บในไทยจะมีเชื้อตัวนี้ค่อนข้างต่ำมาก จึงไม่ต้องเป็นกังวลกับโรคนี้มากนัก
ปัจจัยเสี่ยงของโรคลายม์
- คลุกคลีอยู่กับสัตว์จำพวกสุนัข ม้า กวาง วัว ควาย หนู ที่อาจดูแลความสะอาดได้ไม่ดีพอ
- ลุยป่า หรือเดินทางในเขตพื้นที่ร้อนชื้น เปียกแฉะ เดินในสนามหญ้า หรือบริเวณที่มีหญ้าขึ้นสูง โดยไม่มีการป้องกันร่างกายที่ดี อาจทำให้โดนเห็บกัด
อาการของโรคลายม์
-
1-2 สัปดาห์หลังจากถูกเห็บกัด อาจปรากฏรอยบวมแดงบริเวณที่ถูกเห็บกัดแล้วกลายเป็นผื่นวงกลมคล้ายเป้ายิงปืนขนาดใหญ่ (แต่อาจไม่พบในทุกรายที่ติดเชื้อ)
-
มีไข้
-
ปวดตามตัว
-
คอแข็ง
-
ปวดศีรษะ
-
หากติดเชื้อเป็นเวลาหลายสัปดาห์ ไปจนถึงหลายเดือน อาจพบอาการปวดข้อที่มากกว่า 1 ข้อขึ้นไป เช่น ข้อเข่า ปวดและหายสลับกันไปเป็นระยะๆ
-
อาจพบอาการข้อบวมนานเป็นปี
-
ในระยะนี้อาจพบเห็นผื่นรูปกลมคล้ายเป้ายิงปืนจำนวนมากขึ้น
-
ในบางรายพบว่ามีการแพร่ของแบคทีเรียไปสู่หัวใจ หรือสมองด้วย
วิธีรักษาโรคลายม์
นพ.สุวรรณชัย ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า โรคนี้มียารักษาให้หายได้ คือ ยาปฏิชีวนะ เช่น ดอกซี ไซคลีน อะม็อกซีซีลลิน หรือกลุ่มเซฟาโลสปอริน เป็นต้น ส่วนวัคซีนป้องกันโรคลายม์ ทางสหรัฐอเมริกากำลังอยู่ในระหว่างการทำงานวิจัย
การป้องกันโรคลายม์
- หลีกเลี่ยงการเข้าพื้นที่ที่มีหญ้าสูง สนามหญ้า ป่า โดยไม่สวมเครื่องป้องกัน เช่น เสื้อแขนยาว กางเกงขายาว รองเท้าบู้ท (เครื่องแต่งกายสีสว่างจะช่วยให้มองเห็นเห็บได้ง่าย)
- หลีกเลี่ยงการเข้าใกล้สัตว์ที่อาจมีเห็บ เช่น สุนัข ม้า กวาง วัว ควาย หนู
- หากมีความจำเป็นต้องเข้าไปในพื้นที่ที่มีหญ้า หรือต้องเข้าใกล้สัตว์ต่างๆ ควรใช้สารกำจัด และป้องกันเห็บ
- ควรสวมถุงมือ รองเท้าบู้ทให้เรียบร้อย เมื่อต้องลงมือกำจัดเห็บจากสัตว์เอง
- ทำความสะอาดร่างกายหลังไปในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงทันที
- หากมีอาการผิดปกติ ควรรีบพบแพทย์