รู้ทัน “ไข้เลือดออก” โรคยอดฮิตที่มาพร้อมกับหน้าฝน
“ไข้เลือดออก” เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเดงกี โดยมี “ยุงลาย” เป็นพาหะ โรคนี้จะระบาดอย่างหนักในช่วงฤดูฝนเนื่องจากเป็นช่วงฤดูที่ยุงลายวางไข่ เมื่อยุงไปกัดผู้ป่วยที่มีเชื้อไวรัส และไปกัดอีกคนหนึ่ง ยุงจะปล่อยเชื้อทางน้ำลาย ซึ่งเชื้อไวรัสนี้มี 4 สายพันธุ์ สามารถติดเชื้อในคนได้ 4 ครั้ง และหากเป็น 1 ครั้ง ร่างกายก็จะมีภูมิของสายพันธุ์นั้นๆ และถึงแม้จะเป็นโรคนี้แล้วก็มีโอกาสเป็นได้อีกจากสายพันธุ์อื่น
มีข้อมูลที่น่าสนใจ จากสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เกี่ยวกับสถานการณ์ระบาดของโรคไข้เลือดออก โดยตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 5 มิถุนายน 2562 พบว่ามีผู้ป่วยด้วยโรคไข้เลือดออกแล้วประมาณ 26,430 ราย ในสัปดาห์แรกของเดือนมิถุนายน มีผู้ป่วย 2,800 ราย คิดเป็นจำนวนที่เพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่า เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว คาดการณ์ว่าในปีนี้ความรุนแรงของการระบาดจะมากกว่าทุกปี โดยขณะนี้มีรายงานว่ามีผู้เสียชีวิตแล้ว 41 ราย นับเป็นโรคอันตรายที่สามารถคร่าชีวิตได้ทุกเมื่อ ซึ่งทีมแพทย์จากกลุ่มโรงพยาบาลพริ้นซ์ กลุ่มโรงพยาบาลพิษณุเวช และโรงพยาบาลอื่นๆ ในเครือบริษัท พริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์ จำกัด จะมาแนะนำวิธีสังเกตตัวเองเบื้องต้นว่ามีความเสี่ยงจากโรคไข้เลือดออกหรือไม่หากโดนยุงกัด ดังนี้
วิธีสังเกตตัวเองเบื้องต้นเมื่อถูกยุงกัด
สำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงของโรคไข้เลือดออก เริ่มต้นจะมีไข้สูง 38-40 องศาเซลเซียส ปวดศีรษะ ปวดกระบอกตา ปวดเมื่อยเนื้อตัว ปวดข้อ มีผื่นขึ้นตามร่างกาย นอกจากนี้ยังมีอาการคลื่นไส้ เบื่ออาหาร อาเจียน และอาจมีภาวะเลือดออกหรือไม่มีก็ได้ ซึ่งอาจเป็นเลือดออกตามไรฟัน เลือดกำเดา หรือบางรายอาจมีเลือดออกในกระเพาะอาหาร สังเกตได้จากเมื่ออาเจียนออกมาเป็นเลือดหรือเป็นสีดำๆ
กลุ่มเสี่ยงโรคไข้เลือดออก
กลุ่มที่มีโรคประจำตัว เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคอ้วน ไขมัน หัวใจขาดเลือด ไทรอยด์ หอบหืด โดยเฉพาะในเด็กเล็กที่มีน้ำหนักตัวมาก จะเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดโรครุนแรงได้มาก นอกจากนี้คุณแม่ตั้งครรภ์ก็จัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงเช่นกัน หากจำนวนเชื้อไวรัสในเลือดของคุณแม่สูง ก็สามารถส่งผลกระทบต่อทารกในครรภ์ได้
ความรุนแรงของโรคไข้เลือดออก
เมื่ออาการเริ่มรุนแรงขึ้น จะมีอาการปวดท้อง ปวดใต้ลิ้นปี่ ใต้ชายโครงอย่างรุนแรง มีเลือดออกมาก จนกระทั่งเข้าสู่ภาวะช็อค นั่นคือ มีอาการปลายมือปลายเท้าเย็น กระสับกระส่าย หรือไข้ลดอย่างรวดเร็ว ความดันตก วัดชีพจรไม่ได้ และเสียชีวิตในที่สุด
แนวทางการรักษาโรคไข้เลือดออก
หากมีไข้ขึ้นสูงภายในระยะเวลา 1-2 วัน แล้วไข้ยังไม่ลด ไม่ควรซื้อยามารับประทานเอง โดยเฉพาะยาแอสไพริน เนื่องจากจะทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนมีเลือดออกมาก ควรรีบพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยในทันที โดยแพทย์จะทำการเจาะเลือด ในบางรายที่ยังไม่แสดงเชื้อแพทย์อาจจะนัดตรวจซ้ำ หรือให้นอนสังเกตอาการที่โรงพยาบาล และหาก 2-3 วันแล้วไข้ไม่ลด แพทย์จะเจาะเลือดซ้ำเพื่อตรวจหาเชื้อ และทำการรักษาต่อไป
จะป้องกันโรคไข้เลือดออกได้ยังไงบ้าง
- ต้องป้องกันไม่ให้ยุงลายกัด โดยใส่ให้เสื้อผ้าที่มิดชิด หรือใช้สารสำหรับไล่ยุง ตลอดจนป้องกันไม่ใช้ยุงลายเข้ามาวางไข่ในบ้าน ซึ่งยุงลายมักจะกัดในเวลากลางวันมากกว่ากลางคืน
- ทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายในบริเวณบ้าน ด้วยการปิดฝาภาชนะที่มีน้ำขังเพื่อไม่ให้ยุงลงไปวางไข่ได้ เปลี่ยนน้ำในภาชนะที่ปิดไม่ได้ อย่าง แจกัน ทุกสัปดาห์ หรืออาจปล่อยปลาหางนกยูงเพื่อให้ไปกินลูกน้ำในอ่างบัว ตลอดจนปรับสภาพแวดล้อมในบริเวณบ้านให้สะอาด ปราศจากเศษวัสดุที่มีอาจมีน้ำขังได้
- ในเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 9 ปี และผู้ที่มีอายุน้อยกว่า 45 ปี ที่เคยมีประวัติป่วยเป็นโรคไข้เลือดออกมาแล้วอาจต้องพิจารณาฉีดวัคซีนป้องกันไข้เลือดออกจากสายพันธุ์อื่น ๆ
วัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออก
ปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันไข้เลือดออก ใช้ได้ในเด็กและผู้ใหญ่ อายุ 9-45 ปี เป็นวัคซีนที่มีความปลอดภัย หากแต่โดยเฉลี่ยแล้วจะสามารถป้องกันโรคได้ประมาณ 65% โดยผู้ที่ได้รับวัคซีนแล้วอาจสามารถติดเชื้อไวรัสเดงกีได้อีก จากการศึกษาพบว่า ประสิทธิภาพของวัคซีนจะให้ผลดีในผู้ที่เคยเป็นโรคไข้เลือดออกแล้ว กล่าวคือ เคยติดเชื้อไปแล้ว 1 ครั้ง และมารับวัคซีนเพื่อป้องกันการติดเชื้อครั้งที่ 2 และครั้งที่ 3 ซึ่งการฉีดวัคซีนดังกล่าวควรอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์ ซึ่งหากไม่จำเป็นแพทย์จะไม่ฉีดวัคซีนไข้เลือดออกพร้อมกับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ เนื่องจากอาจเกิดผลข้างเคียงกับผู้ที่รับวัคซีนได้