"ไข้เลือดออก" กับ 5 วิธีป้องกันตัวเองและบุตรหลาน
โรคไข้เลือดออกระบาด มียุงลายเป็นพาหะนำโรค สิ่งสำคัญต้องทำลายแหล่งเพาะพันธ์ยุงลาย แหล่งน้ำขังในบ้าน ป้องกันไม่ให้ยุงกัดด้วยการนอนในมุ้ง และไปพบแพทย์เมื่อป่วยพร้อมปฏิบัติตามคำแนะนำ
การติดต่อของไข้เลือดออก
นายแพทย์สมศักดิ์ อรรถศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า ไข้เลือดออกเกิดจากการติดเชื้อไวรัสเดงกี่ที่มาจากน้ำลายของยุงที่ไปกัดคนที่เป็นไข้เลือดออกมาก่อน เมื่อคนถูกยุงกัดจะได้รับเชื้อไวรัสเดงกี่อาจจะมีอาการน้อยหรือแทบไม่มีอาการ แต่พบว่าประมาณร้อยละ 2 – 4 ของผู้ที่ถูกยุงกัดเกิดอาการมากที่เรียกว่า “ไข้เลือดออกเดงกี่” หรือเรียกทั่วไปว่า “ไข้เลือดออก” ผู้ป่วยจะมีอาการไข้สูง ปวดตามตัว ซึม รับประทานอาหารไม่ได้ อาเจียน ปวดท้อง อาจมีเลือดออกตามอวัยวะต่างๆ และอาการหนักจนมีภาวะช็อก ซึ่งหากไม่ได้รับการตรวจวินิจฉัยและรักษาทันท่วงทีจะนำไปสู่การเสียชีวิต
วิธีป้องกันไข้เลือดออก
แพทย์หญิงประอร สุประดิษฐ ณ อยุธยา กุมารเวชศาสตร์ – โรคติดเชื้อ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรมการแพทย์ กล่าวว่าการป้องกันโรคไข้เลือดอออกที่สำคัญ คือ
- ป้องกันตัวเองและบุตรหลานไม่ให้ยุงกัดด้วยการนอนในมุ้ง
- ทายากันยุง
- ช่วยกันกำจัดทำลายแหล่งเพาะพันธ์ยุงลาย เช่น แหล่งน้ำขังในบ้าน ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องทำอย่างสม่ำเสมอ
- ควรไปพบแพทย์เมื่อป่วย เป็นไข้ ปวดศีรษะ ปวดตามตัว มีผื่น หรือมีภาวะเลือดออก เช่น จุดเลือดออกตามตัว เพื่อติดตามอาการและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ ไข้เลือดออกที่เป็นมากจะมีโอกาสเกิดภาวะช็อกเมื่อไข้เริ่มลด พ่อแม่ผู้ปกครองจึงไม่ควรประมาท ควรติดตามอาการอื่นๆ เช่น อ่อนเพลีย ซึม รับประทานอาหารไม่ได้ อาเจียน ปวดท้อง ถ้ามีอาการดังกล่าวแม้ว่าไข้เริ่มจะลดลงแล้วควรไปพบแพทย์
- วัคซีนไข้เลือดออกมีประสิทธิภาพดีและมีความปลอดภัย ในผู้ที่เคยป่วยเป็นไข้เลือดออกแล้ว จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการป้องกันโรคไข้เลือดออก องค์การอนามัยโลกแนะนำให้ฉีดวัคซีน ในช่วงอายุ 9-45 ปี ที่มีหลักฐานยืนยันว่าเคยติดเชื้อไวรัสไข้เลือดออกแล้ว