“มะเร็งกระเพาะอาหาร” อันตรายที่อาจมาจาก “เชื้อแบคทีเรีย-อาหารปิ้งย่าง-ของหมักดอง”
มะเร็งส่วนใหญ่อาจมีสาเหตุสำคัญมาจากพันธุกรรม แต่มะเร็งกระเพาะอาหารมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อ และอาหาร
มะเร็งกระเพาะอาหาร อาจเป็นชื่อโรคมะเร็งที่ไม่ค่อยคุ้นหูคนไทยเท่าไร ในประเทศไทย อุบัติการณ์ของ โรคมะเร็งกระเพาะอาหารพบได้เท่ากับ 4.1 ราย และ 2.5 ราย ต่อประชากรแสนราย ในเพศชายและเพศหญิง ดังนั้นหลายคนจึงอาจไม่ทราบรายละเอียดของโรค อาการ และสาเหตุของโรคมะเร็งกระเพาะอาหารกันมากนัก แต่อันที่จริงแล้ว จากสถิติโรคมะเร็งทั่วโลกในปัจจุบัน โรคมะเร็งกระเพาะอาหารพบได้บ่อยเป็นลำดับที่ 6 และพบว่าเป็นสาเหตุการ ตายมากเป็นลำดับที่ 3 ในเพศชาย และลำดับที่ 5 ในเพศหญิง
สาเหตุของมะเร็งกระเพาะอาหาร
มะเร็งกระเพาะอาหารมาจากหลายสาเหตุ ที่สำคัญหลักๆ มาจาก 2 สาเหตุใหญ่ ได้แก่
- พันธุกรรม
อาจมีคนในครอบครัว ญาติพี่น้อง ที่เคยมีประวัติการเป็นโรคมะเร็งกระเพาะอาหารมาก่อน
- การติดเชื้อเอช.ไพโลไร (H. Pylori)
การติดเชื้อแบคทีเรียที่ชื่อว่า Helicobacter pylori (H. Pylori, เอชไพโลไร) เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดมะเร็งเยื่อบุกระเพาะอาหาร หรือมะเร็งต่อมน้ำเหลืองของกระเพาะแบบชนิดที่ไม่รุนแรง สาเหตุนี้เป็นสาเหตุที่พบได้บ่อย โดยสามารถเชื้อแบคทีเรียนี้สามารถติดต่อกันได้จากการรับประทานอาหารร่วมกับผู้ป่วยที่ติดเชื้อแบคทีเรียนี้โดยไม่ได้ใช้ช้อนกลาง หรืออาจมาจากการดื่มน้ำที่ไม่สะอาด
- การอักเสบของกระเพาะอาหารเรื้อรัง
การกินอาหารบางอย่างที่กระตุ้นทำให้เกิดการอักเสบ เช่น อาหารปิ้งย่าง รวมถึงอาหารที่ดองเกลือ อาหารที่ผ่านการรมควัน เป็นต้นก็อาจจะเป็นตัวการที่กระตุ้นให้เกิดมะเร็งได้ นอกจากนี้การรับประทานอาหารรสจัด และรับประทานอาหารไม่ตรงเวลา ก็เป็นสาเหตุที่ทำให้กระเพาะอาหารอักเสบได้เช่นกัน
- มะเร็งเนื้อเยื่อเกี่ยวพันหรือมะเร็งจิสต์ (GIST)
เกิดจากความผิดปกติของเซลล์ของกระเพาะอาหารเอง ไม่มีสาเหตุในการกระตุ้นอย่างชัดเจน
กลุ่มเสี่ยงโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร
- อายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป ก็มีความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งกระเพาะอาหารมากขึ้น
- เพศชาย มีความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งกระเพาะอาหารมากกว่าผู้หญิง
- เชื้อชาติ พบมะเร็งกระเพาะอาหารในชาวเอเชียมากกว่า ชนชาติอื่นๆ โดยเฉพาะประเทศญี่ปุ่นและประเทศใน แถบภูมิภาคเอเชียตะวันออก
- มีประวัติคนในครอบครัวเคยเป็นโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร
- สูบบุหรี่
อาการของโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร
ในช่วงแรก ผู้ป่วยโรคมะเร็งกระเพาะอาหารอาจไม่รู้สึกตัวว่าตัวเองกำลังป่วยด้วยโรคนี้อยู่ เพราะอาจไม่แสดงอาการอะไรออกมาอย่างชัดเจน แต่อาจมีสัญญาณอันตรายที่เตือนภัยโรคนี้อยู่บ้าง เช่น
- จุกเสียดแน่นท้อง ท้องอืด ท้องเฟ้อ อาหารไม่ย่อย
- ปวดท้อง ไม่สบายท้อง หิวก็ปวด อิ่มก็ปวด
- อยากอาหารน้อยลง
- น้ำหนักลด
- อุจจาระเป็นสีดำ หรือมีเลือดปน
- อาเจียน และอาจอาเจียนเป็นเลือด
เป็นต้น
>> 9 สัญญาณอันตราย “มะเร็งกระเพาะอาหาร”
อันตรายของโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร
นอกจากจะทำให้เกิดความผิดปกติของการทำงานของกระเพาะอาหารแล้ว ยังอาจส่งผลกระทบไปยังอวัยวะส่วนอื่นๆ หากมะเร็งแพร่กระจายไปยังอวัยวะข้างเคียงอีกด้วย เช่น ตับ ตับอ่อน ม้าม กระบังลม ลำไส้ใหญ่ ไต ต่อมหมวกไต
การรักษาโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร
โรคมะเร็งกระเพาะอาหารมีหลายรูปแบบการให้ยาเคมี การให้รังสีรักษา และ การผ่าตัดซึ่งจะแตกต่างกันในแต่ละบุคคล ขึ้นกับระยะของโรค ตำแหน่งของมะเร็งว่าอยู่ส่วนไหนของกระเพาะอาหาร ความแข็งแรงของผู้ป่วย และปัจจัยอื่นๆ
หากตรวจพบในระยะต้นที่ยังไม่มีการแพร่กระจายการรักษาจะหวังผลเพื่อให้หายขาดจากโรคยังคงต้องใช้การผ่าตัดเป็นหลัก โดยอาจตัดเนื้อกระเพาะอาหารในส่วนที่พบมะเร็ง ไปจนถึงตัดต่อมน้ำเหลืองโดยรอบที่คาดว่ามะเร็งจะกระจายตัวออกไปทั้งหมด ทั้งนี้ถ้าหากพบว่าเป็นมะเร็งระยะแรกๆก็จะสามารถทำการผ่าตัดแบบแผลเล็กหรือผ่าตัดผ่านกล้องได้อีกด้วย
หลังผ่าตัด ในรายที่กระเพาะอาหารเล็กลง หรือถูกตัดกระเพาะอาหารออกไป อาจต้องปรับวิธีในการรับประทานอาหาร เนื่องจากการที่ไม่มีกระเพาะอาหารจะทำให้การดูดซึมแร่ธาติและวิตามินบางชนิดแย่ลงจึงต้องได้รับคำแนะนำต่างๆ จากแพทย์
วิธีป้องกันโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร
- รับประทานอาหารร่วมกับผู้อื่น แม้กระทั่งกับคนสนิท คนในครอบครัว ก็ควรใช้ช้อนกลางทุกครั้ง เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อแบคทีเรีย
- ลดการรับประทานอาหารปิ้งย่าง หมักดอง อาหารรสจัด อาหารรมควัน รวมถึงรับประทานอาหารให้ตรงเวลาด้วย
- เลือกรับประทานอาหาร และน้ำดื่มที่สะอาดจริงๆ เท่านั้น
- หากมีคนในครอบครัวมีประวัติโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร สามารถเข้ารับการตรวจโรคได้อย่างละเอียด
- หากมีอาการผิดปกติ เช่น ปวดท้อง อาเจียน ควรปรึกษาแพทย์