“ไซนัสอักเสบ” กับ 8 อาการที่แตกต่างจากไข้หวัดธรรมดา
หลายคนคงเคยได้ยินคำว่า “ไซนัส” กันบ่อยครั้ง และเข้าใจว่านี่คือชื่อของโรค แต่แท้จริงแล้วไซนัส (Sinus) หมายถึง โพรงอากาศโล่งๆ ในกะโหลกศีรษะที่อยู่รอบๆ โพรงจมูก โดยทั่วไปมีอยู่ข้างละ 4 โพรง ได้แก่ บริเวณระหว่างตาทั้งสองข้าง แก้ม หน้าผาก และใต้ฐานกะโหลกศีรษะ หากโพรงไซนัสเหล่านี้ติดเชื้อ และเกิดอาการอักเสบขึ้น เราจะเรียกโรคนั้นว่าเป็นไซนัสอักเสบ ซึ่งคนทั่วไปมักเรียกสั้นๆ ว่า “เป็นไซนัส”
รู้จัก ไซนัสอักเสบ (Sinusitis)
สำหรับโรคไซนัสอักเสบมีอยู่ด้วยกัน 3 ชนิด คือ
- โรคไซนัสอักเสบแบบเฉียบพลัน (Acute sinusitis)
เป็นชนิดหลักๆ ที่พบได้ทั่วไป มักมีอาการน้อยกว่า 30 วัน ซึ่งอาการผู้ป่วยจะค่อนข้างแย่ในช่วง 10 วันสุดท้าย แต่ส่วนใหญ่แล้วอาจจะไม่ได้เกิดจากสาเหตุที่อันตรายหรือรุนแรง
- โรคไซนัสอักเสบแบบเรื้อรัง (Chronic sinusitis)
โรคไซนัสแบบเรื้อรังนั้นอาการจะเป็นน้อยกว่าโรคไซนัสอักเสบแบบเฉียบพลัน โดยจะมีระยะเวลาอยู่มากกว่า 12 สัปดาห์ และอาจจะต้องใช้ระยะเวลาพอสมควรในการรักษา
- โรคไซนัสอักเสบกึ่งเฉียบพลัน (Subacute sinusitis)
โรคไซนัสอักเสบกึ่งเฉียบพลันจะมีระยะเวลาในการติดเชื้อไม่เกิน 8 สัปดาห์ และมีวิธีที่สามารถรักษาให้หายได้ง่าย
สาเหตุของไซนัสอักเสบ
ไซนัสอักเสบ เกิดจากเยื่อบุไซนัสติดเชื้อไวรัสหรือเชื้อแบคทีเรียที่ผ่านเข้ามาทางกระบวนการหายใจ จนเนื้อเยื่อเกิดอาการบวม สารคัดหลั่งเมือกเหลวที่ถูกผลิตขึ้นจึงเกิดการอุดตันกลายเป็นหนองอักเสบหรือน้ำมูกเขียวข้น ทำให้เกิดการคัดจมูก น้ำมูกไหล มีอาการปวดบริเวณไซนัสที่อักเสบ และมีอาการป่วยอื่นๆ ตามมา
ส่วนสาเหตุที่ทำให้อาการอักเสบยังคงอยู่อย่างต่อเนื่อง ไม่ทุเลาลง หรือลุกลามยาวนานจนกลายเป็นไซนัสอักเสบระยะเรื้อรัง มีหลายปัจจัย เช่น การป่วยเป็นโรคภูมิแพ้ โดยเฉพาะภูมิแพ้อากาศและหอบหืด การเกิดเนื้องอกในจมูก การติดเชื้อของฟัน การเกิดผนังกั้นช่องจมูกคด การมีภูมิคุ้มกันต่ำ การสูบบุหรี่ รวมไปถึงการว่ายน้ำบ่อย หรือชอบดำน้ำลึกๆ เป็นต้น
อาการของโรคไซนัสอักเสบ ที่แตกต่างจากไข้หวัดธรรมดา
โรคไซนัสอักเสบสามารถเกิดขึ้นได้กับไซนัสทุกตำแหน่ง ได้แก่ ไซนัสข้างตา ไซนัสหน้าผาก ไซนัสโหนกแก้ม และไซนัสที่อยู่ใต้ฐานกะโหลกศีรษะ โดยตำแหน่งที่พบได้บ่อยที่สุดคือ ไซนัสโหนกแก้ม ซึ่งอาการของไซนัสอักเสบที่พบได้บ่อย คือ
- ปวดใบหน้าบริเวณที่อักเสบ เช่น หัวตา หน้าผาก โหนกแก้ม รอบกระบอกตา
- รู้สึกคล้ายปวดฟันตรงซี่บน อาจปวดเพียงข้างเดียวหรือปวดทั้งสองข้างก็ได้
- คัดจมูกตลอดเวลา รวมถึงเวลาพูดเสียงขึ้นจมูก
- มีน้ำมูกเป็นหนองออกข้นเหลืองหรือเขียว หรือมีเสมหะข้นเหลือง หรือเขียวไหลจากด้านหลังจมูกลงในคอ
- มีไข้ ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย
- ไอเรื้อรัง เจ็บคอ ระคายคอ เสียงแหบ
- ปวดหู หูอื้อ
- ลมหายใจมีกลิ่นเหม็น และ ความสามารถในการรับรู้กลิ่นหรือรสชาติลดลง
การรักษาไซนัสอักเสบเบื้องต้นด้วยตัวเอง
อาการของไซนัสอักเสบแบบเฉียบพลันจะทุเลา และสามารถหายดีได้เองภายใน 2-4 สัปดาห์ ซึ่งผู้ป่วยสามารถดูแลรักษาอาการด้วยตนเองที่บ้านได้ ด้วยวิธีดังนี้
ใช้ยา – ทานยาแก้ปวด และลดไข้ เช่น พาราเซตามอล และไอบูโปรเฟน เพื่อลดไข้และบรรเทาอาการปวดบวมอักเสบ รวมถึง ยาลดน้ำมูก และ ยาคัดจมูก เพื่อช่วยบรรเทาอาการ คัดจมูกมาก
ใช้แผ่นประคบร้อน - ประคบตามจุดที่มีอาการปวดบนใบหน้า
ล้างจมูกด้วยน้ำเกลือ - น้ำเกลือจะชะล้างหนอง และสิ่งสกปรกที่ตกค้างภายในโพรงจมูกให้ไหลออกมา
วิธีป้องกันไซนัสอักเสบ
- ป้องกันตนเองจากไข้หวัด ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของการป่วยไซนัสอักเสบ ด้วยการดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง สร้างภูมิต้านทานโรคที่ดี รักษาสุขอนามัย ล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอ และหลีกเลี่ยงการเข้าใกล้หรือสัมผัสผู้ที่กำลังป่วยด้วยโรคไข้หวัด
- หลีกเลี่ยงฝุ่นควันและมลภาวะ เมื่อต้องออกนอกบ้านหรือเดินทางในพื้นที่เสี่ยงต่อมลภาวะ ควรใช้ผ้าปิดปากและจมูก เมื่ออยู่ในบ้านก็ควรทำความสะอาดกำจัดฝุ่นและขนสัตว์อยู่เสมอ และหากป่วยเป็นภูมิแพ้ ก็ควรหลีกเลี่ยงการเข้าใกล้หรือสัมผัสสารที่ตนแพ้ด้วย
- ไม่สูบบุหรี่หรืออยู่ใกล้คนที่กำลังสูบบุหรี่ เพราะควันและสารพิษจากบุหรี่จะทำให้เกิดการระคายเคืองในเนื้อเยื่อจมูกและไซนัส ทำให้เกิดการอักเสบตามมา
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์เพื่อเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันให้แข็งแรง เช่น พวกพืชผักผลไม้และอาหารที่มีสารต้านอนุมูลอิสระ เช่น ส้ม องุ่น ถั่ว ผักคะน้า หัวมัน ธัญพืช เนื้อปลา เป็นต้น