"ตุ่มน้ำพอง" (เพมฟิกอยด์) โรคเงียบจากภูมิคุ้มกันบกพร่อง
ร่างกายของคนเราหากวันใดเกิดการทำงานบกพร่องผิดปกติไป จากคนที่แข็งแรงก็อาจจะป่วยร่างกายอ่อนแอขึ้นมาได้ และส่งผลกระทบต่อการทำงานและการดำเนินชีวิตในแต่ละวันอย่างเช่น โรคภูมิแพ้ตุ่มน้ำพอง
โรคตุ่มน้ำพอง คืออะไร?
พญ. ฤดี ผาสุกถาวร แพทย์ด้านผิวหนังและเลเซอร์ศัลยกรรมความงาม โรงพยาบาลพระรามเก้า กล่าวว่า กลุ่มโรคตุ่มน้ำพองนั้นไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อโรค และไม่ใช่โรคติดต่อ แต่เกิดจากภูมิคุ้มกันของตนเองซึ่งทำงานผิดปกติ ไปทำลายโครงสร้างที่ทำหน้าที่ยึดเซลล์ผิวหนัง ทำให้เซลล์ผิวหนังแยกชั้นออกจากกัน กลายเป็นตุ่มน้ำและแผลถลอก
โรคตุ่มน้ำพอง ใครเสี่ยงบ้าง?
กลุ่มโรคตุ่มน้ำพองมีหลายชนิด พบได้ไม่บ่อยนัก โดยพบได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ผู้ชายและผู้หญิง ในกลุ่มโรคนี้โรคที่พบได้บ่อยคือ
- โรคตุ่มน้ำพองจากภูมิคุ้มกัน (Bullous pemphigoid) มักพบในผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 60 ปี และมาด้วยอาการผื่นแดงบวม คันมากคล้ายลมพิษ และต่อมากลายเป็นตุ่มน้ำใสขนาดต่างๆ อาจแตกออกเป็นแผลถลอกตามตัว
- โรคตุ่มน้ำพองชนิดลึก (Pemphigus vulgaris) จะพบตุ่มน้ำแผลถลอกตามผิวหนังและอาจพบที่เยื่อบุอื่นๆตามร่างกายได้ เช่น ช่องปาก จมูก อวัยวะเพศ เป็นต้น ซึ่งทำให้ผู้ป่วยมีอาการเจ็บปวดได้มาก
สาเหตุของโรคตุ่มน้ำพอง
สาเหตุที่ภูมิคุ้มกันทำงานผิดปกติจนทำให้เป็นโรคตุ่มน้ำพองนั้น ปัจจุบันก็ยังไม่ทราบแน่ชัด โดยมีรายงานว่ายาบางชนิดทำให้เกิดโรคตุ่มน้ำพองได้ แต่ผู้ป่วยโดยส่วนใหญ่นั้นมักไม่มีสาเหตุ ในชีวิตจริงยังมีโรคผิวหนังอีกหลายชนิดที่ทำให้เกิดตุ่มน้ำ และแผลถลอกตามตัวหรือเยื่อบุต่างๆได้ โดยหลายโรคพบได้บ่อยกว่าโรคตุ่มน้ำพอง ได้แก่ การติดเชื้อไวรัส (เริม งูสวัด อีสุกอีใส) การแพ้ยารุนแรง ปฏิกิริยาจากแมลงสัตว์กัดต่อย เช่นผื่นผิวหนังอักเสบจากด้วงก้นกระดก และการเป็นผื่นผิวหนังอักเสบเฉียบพลันแบบรุนแรงก็ทำให้เกิดตุ่มน้ำได้ เป็นต้น
ดังนั้นหากมีตุ่มน้ำ หรือแผลถลอกตามตัว ควรมาพบแพทย์เพื่อตรวจเพิ่มเติม โดยโรคตุ่มน้ำพอง สามารถยืนยันการวินิจฉัยโดยการตรวจชิ้นเนื้อทางห้องปฏิบัติการและตรวจทางอิมมูโนเรืองแสง
การรักษาหลักของโรคตุ่มน้ำพอง
การรักษาหลักของโรคตุ่มน้ำพองจะเป็นการใช้ยากดภูมิ เพื่อหยุดไม่ให้ภูมิคุ้มกันของตนเองมาทำลายส่วนประกอบของชั้นผิวหนัง โดยการดำเนินของโรคตุ่มน้ำพอง ค่อนข้างเรื้อรังหลายเดือนถึงหลายปี ผู้ป่วยควรรับการรักษาต่อเนื่องจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ดูแลและทำความสะอาดแผลด้วยน้ำเกลือร่วมกับใช้ยาทาไม่ใส่เสื้อผ้าที่รัดแน่นเกินไป พักผ่อนให้เพียงพอ โดยตุ่มน้ำและแผลถลอกตามตัวนั้น หากดูแลรักษาไม่ถูกวิธีจะทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้ เช่น เกิดแผลเป็น ติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำซ้อน และเชื้อลุกลามเข้าสู่กระแสเลือดรุนแรงจนอาจเสียชีวิตได้
>> “โรคเพมฟิกอยด์ หรือ โรคตุ่มน้ำพอง” คืออะไร สาเหตุของโรค และวิธีรักษา