เมนูอาหารสำหรับผู้ป่วย "จิตเภท"

เมนูอาหารสำหรับผู้ป่วย "จิตเภท"

เมนูอาหารสำหรับผู้ป่วย "จิตเภท"
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

รพ.จิตเวชนครราชสีมาฯ จัดเมนูอาหารช่วยฟื้นฟูผู้ป่วยโรคจิตเภท ซึ่งพบมากอันดับ 1 ในเขตนครชัยบุรินทร์ โดยเน้นอาหาร 5 กลุ่มที่มีคุณค่าสูง เช่นข้าวกล้อง ผักใบเขียว และจำกัดเนื้อสัตว์ไม่ให้เกิน 60-80 กรัมต่อวัน และจัดเครื่องดื่มสมุนไพร 3 ชนิด ช่วยให้ผู้ป่วยรู้สึกผ่อนคลาย เช่นน้ำตะไคร้ใบเตย น้ำใบบัวบก พร้อมแนะญาติให้ระมัดระวังอาหารการกินที่บ้าน เลี่ยงอาหารประเภทมีน้ำตาลต่ำ อาหารที่มีผงชูรสทุกชนิด และเครื่องดื่มประเภทชา กาแฟ เนื่องจากจะยับยั้งการดูดซึมยา ไม่เป็นผลดีต่อการรักษา 


สถานการณ์ผู้ป่วยจิตเภทในไทย

แพทย์หญิงกรองกาญจน์ แก้วชัง รองผู้อำนายการด้านการแพทย์และประธานทีมนำทางคลินิก โรงพยาบาล (รพ.) จิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ จ.นครราชสีมา ให้สัมภาษณ์ว่า ในการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคจิตเภท (Schizophrenia) ซึ่งเป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของสารสื่อประสาทในสมอง ผู้ป่วยจะมีความผิดปกติทั้งการรับรู้ ความคิดและพฤติกรรม มีประสาทหลอน หูแว่ว หลงผิด มีพฤติกรรมถดถอย ส่วนใหญ่มักจะมีอาการเรื้อรัง ที่รพ.จิตเวชนครราชสีมาฯให้การรักษาผู้ป่วยกลุ่มนี้ซึ่งเป็นรายที่อาการรุนแรง ยุ่งยาก ซับซ้อนปีละเกือบ 2,000 คน มากเป็นอันดับ 1 ของผู้ป่วยทางจิตที่อยู่ในเขตนครชัยบุรินทร์หรือเขตสุขภาพที่ 9 ที่รับไว้รักษาทั้งหมด

การดูแลรักษาจะบูรณาการระหว่างทีมสหวิชาชีพต่างๆ จะเน้นให้ผู้ป่วยได้รับการฟื้นฟูอย่างครบถ้วนทั้งกาย ใจ สังคม สามารถกลับไปใช้ชีวิตที่บ้านได้อย่างเต็มศักยภาพ รวมทั้งยังให้ความสำคัญด้านอาหารซึ่งมีส่วนช่วยให้การฟื้นฟูสภาพของผู้ป่วยดีขึ้น ช่วยเสริมคุณภาพการรักษาของแพทย์ไปในทิศทางเดียวกัน โดยในพื้นที่เขตนครชัยบุรินทร์ได้แก่จ.นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์และสุรินทร์คาดว่ามีผู้ป่วยโรคนี้ประมาณ44,000 คน ขณะนี้เข้าถึงบริการรักษาแล้วกว่า 36,000 คน


เมนูอาหารสำหรับผู้ป่วยจิตเภท

นางจิรัฐิติกาล ดวงสา นักโภชนาการและหัวหน้ากลุ่มงานโภชนาการ รพ.จิตเวชนครราชสีมาฯ กล่าวว่า ต่อวันมีผู้ป่วยจิตเภทพักรักษาตัวในโรงพยาบาลเฉลี่ย 158 คน หรือประมาณร้อยละ 58 ของผู้ป่วยในทั้งหมด ฝ่ายโภชนาการได้จัดอาหารให้ผู้ป่วยได้รับสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกายและครบถ้วน 5 กลุ่ม เพื่อเสริมประสิทธิภาพการรักษาของแพทย์ ประกอบด้วย

  1. กลุ่มคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน จะใช้ข้าวกล้อง เมล็ดธัญพืช เช่น ข้าวโพดเป็นต้น

  2. กลุ่มผัก จะใช้ผักใบเขียวทุกชนิด

  3. กลุ่มโปรตีนจะใช้เต้าหู้แข็ง ถั่ว ปลาเล็กปลาน้อย

  4. กลุ่มไขมันจะเน้นอาหารที่มีไขมันโอเมก้า 3 สูง เช่น ปลาทะเล และมีโอเมก้า 6 สูง เช่นน้ำมันดอกทานตะวัน

  5. กลุ่มผลไม้ จะใช้ประเภทกล้วยซึ่งจะช่วยให้หลับดีขึ้น โดยจะควบคุมปริมาณอาหารที่ให้สารโดปามีน (Dopamine) ได้แก่ เนื้อสัตว์ นม ปลา ถั่วต่างๆ ให้อยู่ในปริมาณที่พอเหมาะคือ 60-80 กรัมต่อวัน

นอกจากนี้ยังมีน้ำสมุนไพร 3 ชนิด เป็นเครื่องดื่มจะช่วยให้ผู้ป่วยจิตเภทรู้สึกผ่อนคลายขึ้น ได้แก่

  1. น้ำตะไคร้ใบเตย แก้อาการอ่อนเพลีย เพิ่มความสดชื่น อารมณ์ดีขึ้น บำรุงระบบประสาท เสริมสร้างความจำ

  2. น้ำใบบัวบกลดความกระวนกระวาย ช่วยให้จิตใจสงบและผ่อนคลาย นอนหลับได้ง่ายขึ้น

  3. น้ำมะตูม ช่วยบำรุงสมอง คลายกังวล สมาธิดีขึ้น 


เมนูอาหารที่ผู้ป่วยจิตเภทควรหลีกเลี่ยง

สำหรับอาหารและเครื่องดื่มที่ผู้ป่วยโรคจิตเภทที่อาการดีแล้วและอยู่ระหว่างการฟื้นฟูต่อที่บ้านไม่ควรรับประทานมี 5 ประเภท ซึ่งทางฝ่ายโภชนาการได้ขอความร่วมมือญาติให้ช่วยกันระมัดระวัง ได้แก่

  1. อาหารกลูเตน (Gluten) ซึ่งเป็นโปรตีนชนิดหนึ่งพบในข้าวสาลี นมวัว อาจทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการแพ้ เกิดความผิดปกติเกี่ยวกับระบบประสาท ทำให้ประสาทหลอน รวมทั้งเกิดภาวะสมองเสื่อมได้

  2. ผลิตภัณฑ์ที่ใช้สารให้ความหวานแทนน้ำตาล มักจะพบในเครื่องดื่มน้ำอัดลมประเภทปราศจากน้ำตาลหรือไดเอต โยเกิร์ตที่ปราศจากน้ำตาล หมากฝรั่งน้ำตาลน้อย (low sugar) หากรับประทานเป็นประจำอย่างต่อเนื่อง จะสะสมในร่างกายเนื่องจากเป็นกรดอะมิโนที่ไม่จำเป็นต่อร่างกาย เป็นสาเหตุของอาการวิตกกังวล ความเครียดและไมเกรน

  3. อาหารที่ใช้ผงชูรส สารเคมีในผงชูรสจะเข้าไปจัดการสมองให้รู้สึกว่าอาหารมีความอร่อย ส่งผลให้สมองหลั่งสารโดปามีน(Dopamine)ออกมาเกินความจำเป็นและทำงานเพิ่มขึ้น ทำให้ยาที่ใช้รักษาไม่ได้ผลดี และหากทานอาหารที่ใส่ผงชูรสเป็นประจำจะเกิดการรบกวนการทำงานของสมองและระบบประสาท เป็นสาเหตุการเจ็บป่วยโรคพาร์กินสัน สมองเสื่อมอัลไซเมอร์ได้ โดยผงชูรสนี้จะพบมากในอาหารปรุงพร้อมจำหน่าย เช่นอาหารถุง ยังพบในอาหารสำเร็จรูปไม่ว่าจะเป็นขนมขบเคี้ยว น้ำปรุงสลัด บาร์บีคิวซอส บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปและอาหารกระป๋องต่างๆ วิธีที่ดีที่สุดคือควรปรุงอาหารเองและไม่ใช้ผงชูรสใดๆ

  4. น้ำตาลที่ผ่านการฟอกขาว เนื่องจากจะไปยับยั้งการผลิตอาหารของเซลล์สมอง (BDNF) ซึ่งเป็นโปรตีนสำคัญของโกรทฮอร์โมนในเซลล์สมอง ขัดขวางไม่ให้เซลล์สมองเชื่อมโยงกันได้ เกิดการอักเสบเรื้อรัง ส่งผลให้ซึมเศร้าได้ ควรใช้น้ำตาลทรายแดง น้ำตาลทรายสีรำหรือน้ำตาลทรายที่ไม่ได้ผ่านการฟอกสี

  5. เครื่องดื่มประเภทชากาแฟ น้ำอัดลมสีดำ ช็อกโกแลต เนื่องจากจะไปยับยั้งการดูดซึมของยาที่รักษา

>> 4 วิธีดูแลผู้ป่วย "โรคจิตเภท"

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook