กินอย่างไร ช่วยลด “เครียด” ดีต่อใจ ดีต่อกาย
เราเป็นคนหนึ่งที่หาทางลดความเครียด ความเสียใจต่างๆ ด้วยวิธีการ “กิน” เมื่อเราได้กินอาหารอร่อยๆ เราก็มีความสุขจนในบางครั้งห็ช่วยลดความเศร้า เสียใจ หรือความเครียดต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้มากพอสมควร แต่หากกินไม่ถูกวิธี กินแหลก กินตามใจปากมากเกินไป เพราะถือคติ ยิ่งเศร้า ยิ่งเครียด ยิ่งกินล่ะก็ อาจจะต้องกับมานั่งเครียดมากกว่าเดิม เพราะตัวเลขบนเครื่องชั่งน้ำหนักคงพุ่งไปไกล ดังนั้นเราจะกินแก้เครียดอย่างไรถึงจะดีทั้งต่อใจ และร่างกายของเราในเวลาเดียวกัน?
วิธีกินลด “เครียด” ดีต่อใจ ดีต่อกาย
อาหารที่ควรกิน
- อาหารที่มีน้ำตาลน้อย
- แป้งไม่ขัดสี เช่น ข้าวกล้อง ข้าวแดง ขนมปังโฮลวีต
- ดื่มน้ำเปล่าให้เพียงพอในแต่ละวัน ราวๆ 6-8 แก้วต่อวัน
- เนื้อสัตว์ไขมันต่ำ เช่น เนื้อปลา เนื้อไก่ลอกหนัง
- ผัก ผลไม้สดที่มีแป้ง และน้ำตาลน้อย เช่น กะหล่ำปลี แตงกวา ผักกาดขาว ฝรั่ง แอปเปิ้ล ฯลฯ
- อาหารที่มีสังกะสี เช่น โฮลเกรน หอยนางรม คะน้า บร็อคโคลี ถั่วต่างๆ เป็นต้น
- อาหารที่มีแมกนีเซียม เช่น ปลา อะโวคาโด พืชใบเขียวเข้ม
- อาหารที่มีวิตามิน บี เช่น หน่อไม้ฝรั่ง พืชใบเขียว เนื้อสัตว์ อะโวคาโด
- อาหารที่มีโอเมก้า-3 เช่น ปลาแซลมอน
- อาหารที่มีโพรไบโอติกส์ เช่น นมเปรี้ยว โยเกิร์ต และอาหารหมักบางชนิดอย่าง กิมจิ เต้าหู้
อาหารที่ควรลด
- อาหารน้ำตาลสูง เช่น ของหวานต่างๆ เครื่องดื่มรสหวานที่ใส่น้ำตาล น้ำเชื่อม นมข้นหวานในปริมาณมาก
- อาหารที่มาจากแป้งขัดสี เช่น ขนมปังขาว ข้าวขาว
- กาแฟ น้ำอัดลม และเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน
- แอลกอฮอล์ ยิ่งส่งผลต่อร่างกาย และจิตใจให้แย่กว่าเดิม
- ผัก ผลไม้ที่มีแป้ง และน้ำตาลสูง ผักตระกูลหัว แครอต เผือก มัน แห้ว ฯลฯ ผลไม้น้ำตาลสูง เช่น มะม่วงสุก ทุเรียน ฯลฯ
- ผลไม้อบแห้ง น้ำตาลสูงกว่าผลไม้สด
- อาหารแช่แข็ง มีโซเดียมสูง
- อาหารแปรรูป เช่น แฮม ไส้กรอก
นอกจากนี้ สิ่งสำคัญคือการงดสูบบุหรี่ เพราะบุหรี่ทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น หัวใจเต้นเร็วขึ้น ส่งผลให้อาการเครียดอาจหนักขึ้น แอลกอฮอล์และบุหรี่ไม่ได้ช่วยลดความเครียดอย่างที่เข้าใจกัน
งดแป้ง และน้ำตาล ช่วยลดความเครียดได้จริงหรือ?
ความเครียด ความวิตกกังวลต่อปัญหาต่างๆ ในชีวิต เริ่มต้นที่จิตใจที่เราควรรู้จักการปล่อยวาง แต่การรับประทานอาหารที่ดีก็ช่วยให้อาการเหล่านี้ลดน้อยลงได้ เพราะหากรับประทานอาหารที่ช่วยให้ระดับน้ำตาลในเลือดเป็นปกติ อัตราการเต้นของหัวใจปกติ ความดันโลหิตปกติ ไขมันในหลอดเลือดไม่ได้สะสมจนทำให้เกิดปัญหาการไหลเวียนของโลหิต เมื่อนั้นอาการเครียด และวิตกกังวลต่างๆ ก็จะลดน้อยลงไปด้วย
อย่างไรก็ตาม หากอยากปรับเปลี่ยนพฤิตกรรมในการรับประทาอาหารเพื่อลดความเครียด แนะนำให้ปรึกษาแพทย์เพื่อรับการตรวจร่างกาย และรับคำแนะนำในการค่อยๆ ปรับเปลี่ยนอาหารที่รับประทานอย่างช้า และเหมาะสมกับสุขภาพร่างกายของเราโดยตรง การหักดิบ ตัดทุกอย่างภายในครั้งเดียวอาจส่งผลกระทบต่อร่างกายได้ เช่น เกิดอาการโยโย่ หรืออยากอาหารมากกว่าเดิมจนทำให้น้ำหนักเพิ่มขึ้น น้ำตาล และไขมันเพิ่มขึ้นมากกว่าเดิม เป็นต้น ร่างกายต้องการเวลาในการค่อยๆ ปรับตัว ดังนั้นการค่อยๆ ตัดอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพออกไปทีละเล็กละน้อย จะดีกว่า
นอกจากนี้ การลดความเครียด และความวิตกกังวลต่างๆ สามารถทำได้ด้วยการออกกำลังกายเป็นประจำ นั่งสมาธิ ทำกิจกรรมที่ชอบ เช่น ดูหนัง ฟังเพลง เล่นกีฬา วาดภาพ รวมถึงการพักผ่อนอย่างเพียงพอ นอนให้ได้วันละ 6-8 ชั่วโมง เท่านี้คุณก็จะได้เป็นเจ้าของสุขภาพที่ดีทั้งกาย และใจได้อย่างแน่นอน