ภาวะ "ไส้เลื่อนติดคา" อันตรายที่คุณผู้ชายควรรู้
โรคไส้เลื่อน (Hernia) เป็นโรคที่มีความหมายตรงตัวคือ ลำไส้มีโอกาสที่จะเลื่อนเข้าออกผ่านรูหรือผนังกล้ามหน้าท้องที่อ่อนแอ แต่หากเมื่อไหร่ที่ไส้เลื่อนออกมาแล้วไม่สามารถดันกลับเข้าไปได้เหมือนเดิม ถือเป็นภาวะไส้เลื่อนติดคา (Incarcerated Hernia) ซึ่งหากปล่อยไว้ไม่รักษาอาจมีโอกาสที่ไส้เลื่อนถูกบีบรัดจนขาดเลือด และนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนอื่นที่อันตรายได้
โรคไส้เลื่อน คืออะไร? อันตรายแค่ไหน?
รศ.นพ.สุเทพ อุดมแสวงทรัพย์ ศัลยแพทย์ด้านผ่าตัดผ่านกล้อง และผ่าตัดผ่านกล้องลดน้ำหนักรักษาโรคอ้วน ศูนย์ศัลยกรรม โรงพยาบาลกรุงเทพ และประธานชมรมศัลยศาสตร์โรคไส้เลื่อนแห่งประเทศไทย กล่าวถึง โรคไส้เลื่อน คือ โรคที่อวัยวะภายในช่องท้องบางส่วน (ซึ่งมักจะเป็นไขมันในช่องท้องหรือลำไส้) เกิดการเคลื่อนตัวออกจากตำแหน่งที่ควรจะเป็นผ่านรูหรือดันตัวผ่านผนังหน้าท้องที่หย่อนยานสูญเสียความแข็งแรง หรือบริเวณแผลผ่าตัด มักปรากฏเป็นก้อนตุงออกมาให้เห็น โดยปกติแล้วช่องท้องจะมีรูซึ่งลำไส้สามารถเลื่อนออกมาได้ประมาณ 3-4 รู แต่ทั้งนี้ไส้เลื่อนจะเกิดบริเวณใดขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล ในคนหนุ่มโดยมากมักจะเกิดไส้เลื่อนบริเวณขาหนีบ ส่วนผู้หญิงอาจพบไส้เลื่อนใต้ขาหนีบ โรคไส้เลื่อนส่วนใหญ่ไม่มีอาการ แต่หากเป็นนานๆ อาจมีอาการปวดหน่วงๆ เหมือนมีอะไรไหลออกมาหรือเจ็บบริเวณที่เป็น ก้อนนี้มักผลุบเข้าออกได้และยุบหายไปเมื่อนอน
โรคไส้เลื่อน มีกี่ประเภท?
โรคไส้เลื่อนแบ่งออกได้เป็นหลายชนิดตามตำแหน่งที่อวัยวะเคลื่อนไปอยู่ และตามสาเหตุการเกิด ไส้เลื่อนชนิดที่พบได้บ่อย คือ
- ไส้เลื่อนที่ขาหนีบ (Groin / Inguinal hernia) หรือถ้าเป็นมากๆ อาจเป็นไส้เลื่อนถุงอัณฑะ (Scrotal hernia) มักพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง เนื่องจากในผู้ชายช่องนี้จะเป็นช่องให้ลูกอัณฑะซึ่งเคยอยู่ในช่องท้องและค่อยๆ เลื่อนลงออกมาข้างนอก จากนั้นผนังหน้าท้องจะค่อยๆ ปิดเองตามธรรมชาติ แต่บางคนปิดไม่สมบูรณ์ หรือมีภาวะที่ทำให้ลำไส้เลื่อนโผล่ออกมาเป็นก้อนตุงที่บริเวณขาหนีบหรือถุงอัณฑะ ไส้เลื่อนชนิดนี้มีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายได้ เช่น ไส้เลื่อนชนิดติดคา
- ไส้เลื่อนที่สะดือ (Umbilical hernia) หรือที่เรียกกันว่าสะดือจุ่นหรือโป่งเวลาร้องไห้ มักเป็นตั้งแต่แรกเกิดและจะหายได้เองเมื่ออายุ 2 ปี
- ไส้เลื่อนกระบังลม (Hiatal hernia) เกิดจากกล้ามเนื้อหูรูดกระบังลมหย่อนยาน ทำให้บางส่วนของกระเพาะอาหารหรือหลอดอาหารเคลื่อนผ่านรูบริเวณกระบังลมที่หย่อนเข้าไปอยู่ในช่องอก ส่วนใหญ่มีอาการของโรคกรดไหลย้อน
- ไส้เลื่อนบริเวณใต้ขาหนีบ (Femoral hernia)
- ไส้เลื่อนภายในช่องเชิงกราน (Obturator hernia) ซึ่งทั้งสองชนิดหลังนี้มักพบในผู้หญิงเป็นส่วนใหญ่
- ไส้เลื่อนที่เกิดจากแผลผ่าตัด (Incisional hernia) พบได้ในผู้ที่เคยผ่าตัดช่องท้องมาก่อน เนื่องจากกล้ามเนื้อและผังพืดนั้นหย่อนยานส่งผลให้ลำไส้เคลื่อนตัวมาตุงเป็นก้อนโป่งบริเวณแผลผ่าตัด
ปัจจัยเสี่ยงในการเกิดไส้เลื่อน
ปัจจัยเสี่ยงในการเกิดไส้เลื่อนคือ
- อายุที่มากขึ้น
- ความผิดปกติแต่กำเนิด
- ยกของหนักบ่อยๆ
- ไอเรื้อรัง
- เป็นโรคถุงลมโป่งพองหรือหลอดลมอักเสบเรื้อรัง หรือเป็นโรคต่อมลูกหมากโต
- ภาวะท้องผูก เบ่งอุจจาระหรือปัสสาวะเป็นประจำ
- เกิดภาวะมีน้ำในช่องท้องปริมาณมาก
- การมีน้ำหนักตัวมากหรือโรคอ้วน
- สูบบุหรี่จัด
- หรืออาจเกิดได้ในหญิงตั้งครรภ์ ส่งผลให้ความดันในช่องท้องเพิ่มขึ้นกว่าปกติ
การรักษาไส้เลื่อน
ส่วนใหญ่โรคไส้เลื่อนต้องอาศัยการผ่าตัด ซึ่งมีวิธีการรักษาอยู่ 2 แบบ คือ
- การผ่าตัดไส้เลื่อนแบบเปิดหน้าท้อง(แบบดั้งเดิม) เพื่อทำการปิดแผ่นตาข่ายไว้นอกช่องท้อง มีข้อดี คือสามารถทำภายใต้ยาชาเฉพาะที่ เหมาะกับผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวที่ไม่สามารถดมยาสลบหรือบล็อคหลังได้
- การผ่าตัดไส้เลื่อนแบบผ่านกล้องแผลเล็ก (Minimally Invasive Surgery: MIS) โดยแพทย์จะทำการเจาะรูขนาดเล็กจำนวน 3 รูบริเวณผนังหน้าท้องเพื่อนำลำไส้กลับไปอยู่ตำแหน่งเดิม และเสริมความแข็งแรงให้กับกล้ามเนื้อที่เป็นจุดอ่อนที่ทำให้ไส้เลื่อนเคลื่อนที่ออก ด้วยแผ่นตาข่ายสังเคราะห์ที่มีความกว้างยาวประมาณ 10 x 15 ซม. (ขนาดใหญ่) ซึ่งการผ่าตัดผ่านกล้องสามารถป้องกันภาวะไส้เลื่อนอื่นๆ บริเวณขาหนีบได้ด้วย อีกทั้งการปิดแผ่นตาข่ายจากภายในช่องท้องยังช่วยลดอัตราการกลับมาเป็นไส้เลื่อนซ้ำได้ โดยทั่วไปใช้เวลาในการผ่าตัดประมาณ 45-60 นาที รอยแผลหลังผ่าตัดมีขนาดเล็ก 5-10 มม. อาการปวดแผลหลังผ่าตัดน้อย ผู้ป่วยสามารถกลับบ้านได้เร็วหลังพักฟื้น
อันตรายจากภาวะแทรกซ้อนของโรคไส้เลื่อน
ในกรณีที่ไส้เลื่อนมีการหักพับหรือหมุนไปมาค้างติด ไม่สามารถดันกลับเข้าที่เดิมได้ หมายถึง ภาวะไส้เลื่อนติดคา (Incarcerated Hernia) ซึ่งจะก่อให้เกิดภาวะลำไส้อุดตัน (Intestinal Obstruction) หากปล่อยทิ้งไว้นานเกิน 6 ชั่วโมง จะทำให้ลำไส้ส่วนที่ติดคาบวมขาดเลือดไปเลี้ยงนาน อาจเกิดภาวะลำไส้เน่า (Strangulated Hernia) มีโอกาสเกิดการทะลุหรือแตก เชื้อโรคกระจายไปทั่วท้องและเข้าสู่กระแสเลือด เกิดการติดเชื้อในกระแสเลือดได้ ซึ่งหากมาถึงขั้นนี้ถือเป็นเรื่องใหญ่และมีอันตรายถึงชีวิต
การรักษาผู้ป่วยที่เกิดภาวะไส้เลื่อนติดคา
ขั้นแรกคือ แพทย์จะพยายามนำไส้เลื่อนที่ติดคาให้เคลื่อนกลับเข้าไปในตำแหน่งเดิม แล้วจึงผ่าตัดรักษาไส้เลื่อนเพื่อลดโอกาสที่จะเกิดการติดคาซ้ำอีกครั้ง หากไม่สามารถดันไส้เลื่อนกลับเข้าตำแหน่งเดิมได้สำเร็จแพทย์จะทำการผ่าตัดรักษาอย่างเร่งด่วน เพื่อลดการเกิดภาวะไส้เลื่อนชนิดลำไส้เน่า ซึ่งจะต้องตัดลำไส้ส่วนที่เน่าทิ้งไป ซึ่งการผ่าตัดผ่านกล้องรักษาไส้เลื่อนขาหนีบ (Laparoscopic Total Extraperitoneal Hernia Repair : TEP) จำเป็นต้องใช้ทีมศัลยแพทย์ที่มีความชำนาญด้านผ่าตัดผ่านกล้อง เนื่องจากต้องผ่าตัดเลาะพังผืดซึ่งใกล้กับอวัยวะสำคัญ ได้แก่ เส้นเลือด และเส้นประสาทขนาดเล็กจำนวนมาก
ด้วยเทคโนโลยีปัจจุบัน การนำกล้องที่มีความชัดในระดับเทคโนโลยี 4K Ultra High Definitionเข้ามาใช้ ช่วยให้ศัลยแพทย์มองเห็นอวัยวะต่างๆ ภายในช่องท้อง เส้นเลือด และเส้นประสาทขณะเลาะพังผืดได้อย่างชัดเจน ลดภาวะแทรกซ้อนหลังผ่าตัด แผลผ่าตัดมีขนาดเล็ก คนไข้เจ็บน้อย เสียเลือดน้อย สามารถกลับมาทำกิจวัตรประจำวันได้เร็ว สิ่งสำคัญคือไม่ลืมที่จะควมคุมปัจจัยเสี่ยงด้วย จึงจะช่วยป้องกันไส้เลื่อนไม่ให้กลับมาเป็นซ้ำได้ดีที่สุด ดังนั้น เมื่อไหร่ก็ตามถ้ามีก้อนตุงผิดสังเกต หรือมีอาการเจ็บหรือปวด ควรพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยก่อนเกิดภาวะแทรกซ้อนจากไส้เลื่อนติดคา