13 วิธีเลือก “รองเท้า” เพื่อสุขภาพเท้าที่ดี ป้องกันการบาดเจ็บ
แม้ว่าเราจะใส่ใจดูแลใบหน้ากับรูปร่างในส่วนต่างๆ ของร่างกายมากแค่ไหน ที่สุดแล้วอวัยวะที่เราควรให้ความสำคัญไม่น้อยไปกว่ากันก็คือ “เท้า” นั่นเอง เพราะหากเท้ามีอาการบาดเจ็บแต่เพียงเล็กน้อย อาจทำให้คุณรู้สึกแย่ และเจ็บปวดไปตลอดทั้งวันจนไม่เป็นอันทำอะไรได้เช่นกัน ซึ่งการดูแลรักษาเท้าก็เริ่มต้นได้ง่ายๆ จาก “รองเท้า” นั่นเอง
แต่หลายคนอาจมีปัญหาการซื้อรองเท้ามาสวมใส่ที่ไม่เคยสบายเท้าสักที คุณอาจมองข้ามบางส่วนที่สำคัญ ที่คุณควรเช็กไปโดยไม่รู้ตัว
13 วิธีเลือก “รองเท้า” เพื่อสุขภาพเท้าที่ดี ป้องกันการบาดเจ็บ
- วัดขนาดของเท้าของเราก่อนเลือกซื้อรองเท้า เมื่อไปถึงร้านค้าจึงสามารถบอกขนาดของเท้าเราให้พนักงานแนะนำได้
- การวัดเท้า ควรวางเท้าไว้บนกระดาษ แล้วทำสัญลักษณ์วัดความยาวของเท้าจากปลายนิ้วโป้ง หรือนิ้วชี้ที่สูงที่สุดของเท้า ยาวมาจนถึงปลายส้นเท้า
- ควรวัดขนาดของเท้าในตอนเย็น เพราะเป็นช่วงเวลาที่เท้าขยายขนาดเต็มที่ที่สุดของวัน
- วาดรูปเท้าของตัวเองลงกระดาษ แล้ววิเคราะห์ของรูปเท้าของตัวเองเป็นแบบใด เท้าหน้าบาน เท้าหน้าแคบ ฯลฯ เป็นต้น แล้วเลือกรองเท้าให้มีรูปร่างการออกแบบใหม่เหมาะสมกับรูปเท้าของตัวเอง เช่น หน้าเท้าบานและอูม เนื้อเยอะ ก็ไม่ควรสวมรองเท้าหัวแหลมหน้าแคบ เพราะจะทำให้อึดอัด รองเท้ากัด หรือทำให้บาดเจ็บอื่นๆ ได้
- วัดขนาดของเท้าเรื่อยๆ เพราะขนาดของเท้าเราสามารถใหญ่ขึ้นได้เมื่ออายุเพิ่มมากขึ้น
- เมื่อสวมรองเท้าเพื่อลองเลือกขนาดรองเท้าแล้ว ควรกดสัมผัสดูว่าปลายนิ้วเท้าไม่ชนกับรองเท้ามากเกินไป หรือให้เหลือจากขอบรองเท้าด้านบนราวครึ่งนิ้ว ส่วนด้านส้นเท้าไม่ติดกับรองเท้าจนแน่นเกินไป แต่ก็ไม่หลวมมากถึงขั้นสะบัดหลุด เป็นความพอดีที่นิ้วชี้สามารถใส่เข้าไประหว่างส้นรองเท้ากับรองเท้าได้โดยไม่ลำบากมาก แต่ก็ไม่หลวมจนใส่นิ้วได้ง่ายจนเกินไป
- พื้นรองเท้าควรมีความนุ่มเล็กน้อยเพื่อความสบายของเท้า แต่หากเป็นรองเท้าพื้นแข็งก็สามารถสวมใส่ได้ แต่ไม่ควรสวมใส่เดิน ยืน หรือทำกิจกรรมต่างๆ นาน เพราะอาจทำให้เมื่อยเท้าได้
- พื้นรองเท้าไม่ควรบางเกินไป เพื่อความสบายของเท้า และป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้เมื่อเหยียบลงบนวัสดุแหลมคม เช่น หิน ตะปู เศษกระจก
- หากจำเป็นต้องสวมรองเท้าส้นสูง ควรเลือกรองเท้าที่ไม่สูงเกิน 2 นิ้ว พื้นรองเท้ามีความนุ่มเพียงพอ และไม่ควรสวมรองเท้าส้นสูงเพื่อยืน และเดินติดต่อกันนานเกิน 1-2 ชั่วโมง
- หากเป็นรองเท้าผ้าใบที่ต้องสวมถุงเท้าใส่ก่อนทุกครั้ง ก็ควรเลือกสวมถุงเท้าที่ใส่เป็นประจำไปลองรองเท้าคู่นั้นด้วย
- ลองสวมรองเท้าแล้วเดินไปเดินมาดู หากรู้สึกว่ามีบางส่วนของเท้าโดนบีบ หรือโดนเสียดสีมากเกินไป ก็ควรเลือกเบอร์ที่ใหญ่ขึ้น หรือเปลี่ยนแบบรองเท้าใหม่
- จำเอาไว้ว่า รองเท้าแต่ละบริษัท แต่ละรุ่น รูปร่างและขนาดไม่เท่ากัน จะใช้มาตรฐานเดิมในการซื้อรองเท้าคู่ใหม่ใส่เบอร์เดิมทุกครั้งไม่ได้
- อย่าซื้อรองเท้าไม่ว่าจะด้วยวัสดุใด แล้วหวังว่ามันจะยืดมากขึ้นเมื่อใส่ไปนานๆ ควรเลือกรองเท้าขนาดที่พอดีกับเท้าตั้งแต่สวมครั้งแรก
การรักษาสุขภาพของเท้าให้ดีอยู่เสมอ
ควรระมัดระวังในการดูแลรักษาแผลที่อาจเกิดขึ้นจากรองเท้ากัด เล็บขบ หรืออื่นๆ เพราะเท้าเป็นบริเวณที่ติดเชื้อได้ง่าย เจอฝุ่น ดิน คราบขี้ไคล และความอับชื้น ดังนั้นควรสลับรองเท้าที่สวมใส่ในทุกๆ วันบ้าง ไม่ควรสวมรองเท้าคู่เดิมแบบเดิมตลอดเวลา ทำความสะอาดรองเท้าอยู่เสมอ ทำความสะอาดเท้าทุกวัน ทุกครั้งเมื่ออาบน้ำ ตัดเล็บให้สั้นอยู่เสมอ (ไม่สั้นจนเกินไปจนเกิดแผล) และสามารถใช้โลชั่นทาผิวเท้าได้เพื่อเพิ่มความชุ่มชื่นให้กับผิวเท้า