"ติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ" คืออะไร รู้ได้อย่างไรว่าติดเชื้อ?

"ติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ" คืออะไร รู้ได้อย่างไรว่าติดเชื้อ?

"ติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ" คืออะไร รู้ได้อย่างไรว่าติดเชื้อ?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

โรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ (Urinary Tract Infection) เป็นโรคที่อยู่ใกล้ตัวกว่าที่คิด ใครที่ยังไม่เคยเป็น อย่าคิดว่าตัวเองคงไม่มีโอกาสพบเจอกับโรคนี้ โดยเฉพาะคุณสาวๆ นั้นมีโอกาสเป็นโรคนี้กันเยอะมาก โรคนี้คืออะไร เกิดขึ้นได้อย่างไร แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าเราติดเชื้อนี้หรือยัง มาเช็กเพื่อเตรียมรับมือกัน


รู้จักระบบทางเดินปัสสาวะ

ระบบทางเดินปัสสาวะ ประกอบด้วยอวัยวะหลายส่วน ทำหน้าที่กำจัดของเสีย และ รักษาสมดุลของเหลวในร่างกาย ระบบทางเดินปัสสาวะประกอบไปด้วย ไต ท่อไต กระเพาะปัสสาวะ และ ท่อปัสสาวะ

  • ไต มีหน้าที่หลักคือกรองของเสียที่อยู่ในเลือด ดูดซึมสารที่มีประโยชน์ รักษาสมดุลของเหลว ฯลฯ

  • ท่อไต ทำหน้าที่นำปัสสาวะจากไตลงสู่กระเพาะปัสสาวะ

  • กระเพาะปัสสาวะ เป็นอวัยวะสำหรับพักปัสสาวะไว้ชั่วคราว ก่อนขับออกจากร่างกาย

  • ท่อปัสสาวะ เป็นท่อต่อจากกระเพาะปัสสาวะ ทำหน้าที่เป็นทางผ่านของปัสสาวะจากกระเพาะปัสสาวะออกสู่นอกร่างกาย


ทางเดินปัสสาวะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน

  1. ระบบทางเดินปัสสาวะส่วนล่าง (Lower urinary tract) หมายถึง กระเพาะปัสสาวะ และ ท่อปัสสาวะ

  2. ระบบทางเดินปัสสาวะส่วนบน (Upper urinary tract) หมายถึงไต และ ท่อไต


โรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ คืออะไร?​

การติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ (Urinary Tract Infection หรือ UTI) หมายถึง การเกิดการอักเสบของระบบทางเดินปัสสาวะรวมถึงการติดเชื้อตั้งแต่กระเพาะปัสสาวะ ท่อปัสสาวะ ไปจนถึงไต ทำให้เกิดโรคต่าง ๆ ได้ดังนี้

  • โรคท่อปัสสาวะอักเสบ (Urethritis)

  • โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ (Cystitis)

  • โรคกรวยไตอักเสบ (Pyelonephritis)


สาเหตุของโรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ

สาเหตุส่วนใหญ่ของการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ มาจากการติดเชื้อแบคทีเรีย จากลำไส้ หรือ ผิวหนังของอวัยวะเพศเข้าไปอยู่ในทางเดินปัสสาวะ และ แพร่เข้าไปอยู่ในกระเพาะปัสสาวะ หรือไต


อาการของโรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ

ถ้าติดเชื้อที่ทางเดินปัสสาวะส่วนล่าง จะมีอาการ

  • ปัสสาวะแสบขัด และ เจ็บเสียวเมื่อใกล้สุด

  • ปัสสาวะกะปริบกะปรอย ปัสสาวะออกมาน้อย

  • ปัสสาวะอาจมีกลิ่น

  • ปัสสาวะขุ่น อาจมีเลือดปน


ถ้าติดเชื้อที่ทางเดินปัสสาวะส่วนบน หรือ กรวยไต
 จะมีอาการ

  • ปัสสาวะแสบขัด กระปริบกระปรอย

  • มีไข้สูง หนาวสั่น

  • เบื่ออาหาร

  • ปวดบั้นเอวข้างใดข้างหนึ่ง หรือสองข้าง

  • ถ้าอาการรุนแรง อาจมีความดันโลหิตต่ำ และ หมดสติได้


จะรู้ได้อย่างไรว่าติดเชื้อทางทางเดินปัสสาวะ

สังเกตการปัสสาวะของตัวเอง ถ้าการปัสสาวะมีความผิดปกติ หรือ สงสัยว่าตัวเองอาจจะมีอาการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ ควรไปหาหมอ เพื่อให้หมอตรวจร่างกายอย่างละเอียด โดยการตรวจเพื่อดูว่าติดเชื้อทางเดินปัสสาวะหรือไม่นั้น ทำได้ง่ายๆ คือ ใช้การตรวจปัสสาวะนั่นเอง

  • การตรวจปัสสาวะ เพื่อหาการติดเชื้อจากสิ่งแปลกปลอมที่อาจปนอยู่ในน้ำปัสสาวะ เช่น เชื้อแบคทีเรีย เลือด หรือเม็ดเลือดขาว หากพบเม็ดเลือดขาวมากกว่า 3-5 ตัว อาจเป็นไปได้ว่ามีการอักเสบติดเชื้อแบคทีเรีย

  • การเพาะเชื้อปัสสาวะ หากตรวจปัสสาวะแล้วพบว่าอาจจะมีความเป็นไปได้ที่จะมีการติดเชื้อ อาจจะมีการตรวจด้วยการเพาะเชื้อปัสสาวะเพิ่มเติม

  • ส่องกล้องระบบทางเดินปัสสาวะ ถ้ามีอาการรุนแรง หรือ เรื้อรัง เป็นไม่หาย หมออาจจะตรวจเพิ่มเติมด้วยการส่องกล้องระบบทางเดินปัสสาวะ ดูว่ามีความผิดปกติอื่นนอกจากการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะหรือไม่

  • การตรวจทางรังสีวิทยา ใช้ในการตรวจหาภาวะแทรกซ้อนจาการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ เช่น การตรวจนิ่วในทางปัสสาวะ การตรวจการอุดกั้นในทางเดินปัสสาวะ


วิธีการรักษาโรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ

  • กินยาปฏิชีวนะ เพื่อช่วยฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของการติดเชื้อ โดยส่วนใหญ่ หากมีการติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะส่วนล่าง คือ กระเพาะปัสสาวะ ท่อปัสสาวะ หมอจะให้กินยาปฎิชีวนะประมาณ 3-7 วัน ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของการติดเชื้อ โดยไม่จำเป็นต้องแอดมิด นอนโรงพยาบาล

  • ให้ยาปฎิชีวนะทางหลอดเลือดดำ หากมีการติดเชื้อที่ทางเดินปัสสาวะส่วนบน หรือติดเชื้อที่ไต หมอจะให้นอนโรงพยาบาล เพราะจำเป็นต้องให้ยาปฎิชีวนะทางหลอดเลือดดำ ใช้เวลาประมาณ 10-14 วัน หากอาการดีขึ้นก็สามารถกลับบ้านได้ แต่ถ้าอาการยังไม่ดีขึ้น ควรกลับมาตรวจเพิ่มเติม


ป้องกันไม่ให้เกิดโรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะได้อย่างไร?

  1. ดื่มน้ำมากขึ้น ควรดื่มน้ำให้ได้ประมาณ 2-3 ลิตรต่อวัน

  2. ไม่กลั้นปัสสาวะ

  3. ปัสสาวะก่อนนอน และ หลังมีเพศสัมพันธ​์

  4. เช็ดทำความสะอาดให้แห้งเสมอ

  5. ทำความสะอาดอวัยวะเพศอย่างถูกวิธี โดยเฉพาะผู้หญิง ควรเช็ดทำความสะอาดโดยเช็ดจากช่องคลอดจากด้านหน้าไปด้านหลัง

  6. หลีกเลี่ยงการใช้สบู่ หรือ สารเคมีเติมในอ่างอาบน้ำ


รู้หรือไม่!

  • โรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ มักเกิดกับผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย เพราะท่อปัสสาวะสั้น ทำให้แบคทีเรียผ่านเข้าไปง่ายกว่า

  • 50% ของผู้หญิงต้องเคยติดเชื้อทางเดินปัสสาวะในชีวิต อย่างน้อย 1 ครั้ง

  • ช่วงอายุของผู้หญิงที่มีโอกาสติดเชื้อทางเดินปัสสาวะได้บ่อยที่สุด คือ ช่วงอายุ 18-40 ปี
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook