ระวัง "สมอง" เสียหายจาก "แอลกอฮอลล์"
-
ภาวะสมองเสียหายจากสุราในระยะยาวจะส่งผลต่อบุคลิกภาพ อารมณ์แปรปรวน และนำไปสู่สภาวะความจำเสื่อมได้
-
แอลกอฮอล์ส่งผลต่อสมองของเพศหญิงมากกว่าเพศชายเนื่องจากความแตกต่างของฮอร์โมนเพศ น้ำหนัก ปริมาณไขมันในร่างกาย
-
ภาวะสมองเสียหายจากสุรา เป็นภาวะที่รักษาให้ดีขึ้นและยับยั้งความเสียหายเพิ่มเติมได้ หากได้รับการตรวจวินิจฉัย และการรักษาที่เหมาะสม
การดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมากทำให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพสมองทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ทั้งเรื่องความจำ ความคิด ความเข้าใจ การใช้เหตุผล พฤติกรรมการแสดงออก การเคลื่อนไหว บุคลิก อารมณ์ มีรายงานพบว่า อาการความจำเสื่อมเป็นผลจากการใช้แอลกอฮอล์ในระยะยาวมากถึง 9-24% * โดยขึ้นอยู่กับระยะเวลา ปริมาณ ชนิดของเครื่องดื่มซึ่งมีปริมาณแอลกอฮอล์แตกต่างกันไป เช่น รูปแบบของการดื่ม ช่วงงดเว้นการดื่ม
ทั้งนี้ปริมาณแอลกอฮอล์ที่สามารถดื่มได้โดยไม่เป็นอันตรายต่อสมอง คือ ไม่เกิน 3 วันใน 1 สัปดาห์ โดยปริมาณการดื่มไม่เกิน 14 ดื่มมาตรฐาน (7 pints of beer หรือ เบียร์ 4 ขวด, 1 pint of beer เทียบเท่ากับปริมาณแอลกอฮอล์ 8 กรัม) ต่อสัปดาห์ในผู้หญิง และ 21 ดื่มมาตรฐานในผู้ชาย
ผลกระทบของแอลกอฮอล์ที่มีต่อสมอง
แอลกอฮอล์ที่ดื่มหลังจากดูดซึมแล้ว สามารถซึมผ่านหลอดเลือดเข้าไปทำลายเซลล์สมองได้โดยตรง ทำให้การกำจัดของเสียในเซลล์สมองแย่ลง การสร้างสารสื่อประสาทน้อยลง เนื้อสมองเสียหายและตายเร็วกว่าปกติ เกิดเนื้อสมองฝ่อ รวมถึงไปทำลายเซลล์พี่เลี้ยงของสมองที่ช่วยในการทำงาน นอกจากนี้แอลกอฮออล์ยังไปรบกวนการดูดซึมและกระบวนการนำวิตามินบี 1 ไปใช้ ทำให้เกิดภาวะขาดวิตามินบี 1 ซี่งหากพบร่วมกับภาวะขาดสารอาหารในผู้ป่วยที่ดื่มแอลกอฮอล์จะทำให้กระบวนการทำลายของสมองเร็วยิ่งขึ้น
ภาวะสมองเสียหายจากสุรา (alcohol related brain damage)
- อาการในระยะเฉียบพลัน: สูญเสียการควบคุมตัวเอง สูญเสียความจำระยะสั้นในด้านความคิด การใช้เหตุผลลดลง เสียการควบคุมการเคลื่อนไหวทรงตัวได้ไม่ดี ถ้าได้รับแอลกอฮอล์ในปริมาณมากทำให้กดการหายใจ ระดับความรู้สึกตัวลดลงได้
- อาการในระยะยาว: บุคลิกภาพและอารมณ์แปรปรวน ควบคุมอารมณ์ไม่ได้ นำไปสู่พฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม มีภาวะความจำเสื่อม มีปัญหาการเรียนรู้และจดจำ รวมไปถึงมีการเติมความจำด้วยข้อมูลที่ไม่เกี่ยวข้องลงไป
แอลกอฮอล์ส่งผลต่อสมองของเพศหญิงมากกว่าเพศชายเนื่องจากความแตกต่างในหลายปัจจัย เช่น ปัจจัยจากฮอร์โมนเพศ น้ำหนัก ปริมาณไขมันในร่างกาย
นอกจากแอลกอฮอล์จะส่งผลต่อสมองและระบบประสาทส่วนกลางแล้ว ยังส่งผลต่อระบบประสาทส่วนอื่นๆ ได้แก่
- เส้นประสาทควบคุมการสั่งการเคลื่อนไหว (Motor nerve) ทำให้ผู้ป่วยมีอาการอ่อนแรงของแขนขา
- เส้นประสาทที่ควบคุมการรับความรู้สึก (Sensory nerve) ส่งผลให้ผู้ป่วยเกิดอาการชา คล้ายเข็มทิ่มปลายมือเท้า มีอาการเดินเซควบคุมการทรงตัวลำบาก
- เส้นประสาทอัตโนมัติ (Autonomic nerve) ทำให้การควบคุมความดันระหว่างการเปลี่ยนท่า การเต้นของหัวใจ ผิดปกติ การหลั่งของเหงื่อ น้ำลาย น้ำย่อยในทางเดินอาหารผิดปกติ ส่งผลทำให้มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสียได้
การตรวจภาวะสมองเสียหายจากแอลกอฮออล์
แพทย์จะซักประวัติการดื่มแอลกอฮอล์ ชนิด ปริมาณ รูปแบบการดื่ม รวมถึงโรคประจำตัวอื่นๆ ร่วมกับตรวจร่างกายเพื่อดูการทำงานของเส้นประสาทและกล้ามเนื้อ รีเฟล็กซ์ การทรงตัว รวมถึงระบบประสาทอัตโนมัติ เช่น การควบคุมระดับความดันโลหิต อุณหภูมิของร่างกาย การเต้นของหัวใจ ทำการทดสอบเกี่ยวกับความจำของผู้ป่วย การตรวจทางห้องปฏิบัติการเพิ่มเติม เช่น ตรวจระดับโปรตีนแอลบูมินในเลือด ค่าการทำงานของตับ ระดับวิตามินบี ระดับน้ำตาลและไขมันในเลือด รวมถึงภาพวินิจฉัยทางสมอง แล้วรวบรวมข้อมูลประเมินระดับความเสียหายที่เกิดขึ้น
บางครั้งผู้ป่วยที่ภาวะสมองเสียหายจากสุรา มักได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นอาการของโรคอัลไซเมอร์ แต่ภาวะสมองเสียหายจากสุรา เป็นภาวะที่รักษาให้ดีขึ้นและยับยั้งความเสียหายเพิ่มเติมได้ การตรวจเพิ่มเติมที่เหมาะสมจะช่วยให้ได้รับการวินิจฉัยที่ถูกต้องและรวดเร็ว
การรักษาภาวะสมองเสียหายจากแอลกอฮออล์
สิ่งสำคัญที่สุด คือ การหยุดดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งจะลดปริมาณสารพิษที่เข้าไปทำลายเซลล์สมองโดยตรง ทำให้เซลล์สมองฟื้นตัวได้ การรักษาภาวะขาดวิตามินบี 1 ด้วยการให้วิตามินบี 1 เข้าทางหลอดเลือดดำ ซึ่งจะให้ผลตอบสนองดี ถ้าสมองได้รับความเสียหายไม่มาก โดยสมองส่วนที่ยังไม่ถูกทำลายจะสามารถฟื้นฟูกลับมาได้ดี รวมถึงรักษาภาวะแทรกซ้อนที่เกิดร่วมกัน เช่น ภาวะขาดสารอาหาร น้ำตาลและไขมันในเลือดสูง เป็นต้น
การให้วิตามินบี 1 แบบฉีดขนาดสูง ติดต่อกัน 5-7 วัน จะให้ผลดีมากในผู้ที่มีภาวะสมองถูกทำลายจากการขาดวิตามินบี 1
หากดื่มแอลกอฮอล์เข้าไปในปริมาณที่มากและรู้สึกมีอาการผิดปกติของร่างกายตามที่กล่าวมา แนะนำให้มาปรึกษาแพทย์ เพื่อทำการตรวจรักษาที่ถูกต้องเพื่อสุขภาพที่ดี