"โรคหลอดเลือดสมอง" ควรกินอาหารอะไรบ้าง ?
สถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ แนะผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเป็นโรคที่เกิดขึ้นซ้ำได้หากไม่ดูแลตนเอง ซึ่งการรับประทานอาหารที่เหมาะสมจะส่งผลให้เกิดภาวะสุขภาพที่ดี ช่วยควบคุมปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เช่นความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง เบาหวาน ที่เป็นสาเหตุของการเกิดโรค
นายแพทย์ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า โรคหลอดเลือดสมอง หรือ อัมพฤกษ์-อัมพาต เป็นโรคทางระบบประสาทที่มีโอกาสเกิดขึ้นซ้ำได้ หากขาดการป้องกัน และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมโดยเฉพาะเรื่องของอาหารเพื่อควบคุมปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรค เช่น ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง เบาหวาน
ทั้งนี้ การจัดเตรียมอาหารสำหรับผู้ป่วยที่ถูกต้องและเหมาะสมจะช่วยควบคุมปัจจัยดังกล่าวที่เป็นสาเหตุของการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง โดยผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงอาหารในกลุ่มที่ให้พลังงานสูง เช่น อาหารที่มีแป้งและน้ำตาล อาหารหวานจัด อาหารทอด อาหารไขมันสูง เป็นต้น นอกจากนี้ควรรักษาน้ำหนักตัวให้เหมาะสม เนื่องจากโรคอ้วนหรือภาวะน้ำหนักเกินจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง
อาหารที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง
แพทย์หญิงไพรัตน์ แสงดิษฐ ผู้อำนวยการสถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองมีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง และเบาหวาน ดังนั้นควรควบคุมปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคซ้ำ โดย
- ผู้ป่วยความดันโลหิตสูง ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีเกลือโซเดียมสูง เช่น
- เกลือ
- น้ำปลา
- ซีอิ๊ว
- ซุปก้อน
- ผงซูรส
- อาหารหมักดอง
- อาหารแปรรูป - ผู้ป่วยที่มีภาวะไขมันในเลือดสูง ควรหลีกเลี่ยงหรือลดอาหารที่มีกรดไขมันอิ่มตัวสูง เช่น
- น้ำมันหมู
- น้ำมันไก่
- น้ำมันมะพร้าว
- กะทิ
- หมูสามชั้น
- เครื่องในสัตว์ทุกชนิด
- อาหารทะเล เช่น ปลาหมึก กุ้ง หอยนางรม
- รับประทานไข่แดงไม่เกินสัปดาห์ละ 1-2 ฟอง
วิธีรับประทานอาหารที่เหมาะสม
- เลือกรับประทานอาหารที่มีไขมันต่ำ เช่น
- เนื้อปลา
- เนื้ออกไก่
- เต้าหู้
- นมที่มีไขมันต่ำ - หลีกเลี่ยง
- ไขมันทรานส์ จำพวก เนยเทียม เนยขาว - เลือกวิธีการปรุงอาหารที่ไม่ใช้น้ำมันหรือใช้น้ำมันน้อย เช่น ต้ม ย่าง อบแทนการทอด ผัด
- ควรเลือกใช้น้ำมันพืชแทนน้ำมันสัตว์ เช่น น้ำมันดอกทานตะวัน น้ำมันรำข้าว น้ำมันมะกอก น้ำมันถั่วเหลือง
- รับประทานอาหารที่มีกากใยสูง เช่น ผัก ผลไม้ไม่หวาน ข้าวซ้อมมือ ขนมปังโฮลวีท เนื่องจากใยอาหารจะช่วยลดการดูดซึมไขมันได้
- ผู้ป่วยที่มีภาวะน้ำตาลในเลือดสูงหรือเบาหวาน ควรจำกัดปริมาณอาหารจำพวกแป้งและน้ำตาล
- เลือกรับประทานข้าวไม่ขัดสี เช่น ข้าวกล้อง ข้าวซ้อมมือ
- บริโภคน้ำตาลไม่เกิน 6 ช้อนชา/วัน
- หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และน้ำตาลเป็นส่วนประกอบ
- หลีกเลี่ยงของหวานต่างๆ และ ผลไม้ที่มีรสหวานจัด เช่น ทุเรียน ลำไย ขนุน น้อยหน่า รวมทั้งน้ำผลไม้ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยที่มีภาวะการกลืนลำบาก มีปัญหาการเคี้ยว การกลืน ควรเป็นอาหารที่มีกากน้อย หรือดัดแปลงอาหารโดยการปั่น เช่น โจ๊กข้นๆ ไข่ตุ๋น เยลลี่ สังขยา ฟักทองบดซุปข้นปั่น เป็นต้น