Social Jet Lag สาเหตุอาการง่วงเพลียในวันทำงาน
![Social Jet Lag สาเหตุอาการง่วงเพลียในวันทำงาน](http://s.isanook.com/he/0/ud/3/17497/sleepy-office.jpg?ip/crop/w1200h700/q80/jpg)
คำว่า “Jet Lag” เป็นคำที่เราคุ้นเคยกันมานานว่าเป็นคำที่อธิบายถึงอาการอ่อนเพลีย ง่วงนอนผิดเวลาจากการเดินทางด้วยเครื่องบินข้ามไปต่างประเทศที่เวลาต่างกันค่อนข้างมาก ต้องใช้เวลาปรับตัวสักระยะกว่าร่างกายจะกลับมาง่วงนอนในเวลากลางคืนตามปกติ แต่สำหรับคำว่า Social Jet Lag บางคนอาจไม่ทราบว่าคืออะไร เกี่ยวข้องกับอาการง่วงนอนผิดเวลาหรือไม่
Social Jet Lag สาเหตุอาการง่วงเพลียในวันทำงาน
อาการ Social Jet Lag เป็นอาการง่วงนอน อ่อนเพลีย แม้จะไม่ได้เดินทางข้ามประเทศ โดยเกิดจากการนอนหลับพักผ่อนไม่เป็นเวลา ตารางเวลาทำงานไม่สอดคล้องกับนาฬิกาชีวิต
ในวัยเรียน และวัยทำงาน หากมีวิถีชีวิตที่ต้องตื่นแต่เช้าไปทำงานในวันจันทร์ถึงศุกร์ แล้วเปลี่ยนมานอนดึกตื่นสายในวันหยุดเสาร์อาทิตย์ อาจส่งผลให้เกิดปัญหา Social Jet Lag หรืออาการง่วงนอนในวันทำงานจันทร์ถึงศุกร์ แม้ว่าจะนอนหลับอย่างเพียงพอ 6-8 ชั่วโมงตามปกติก็ตาม แต่เพราะการปรับเปลี่ยนเวลาตื่น และนอนบ่อยเกินไป จึงอาจทำให้ร่างกายปรับตัวไม่ทัน
วิธีป้องกันอาการ Social Jet Lag
แก้ไขได้ง่าย ๆ ด้วยการพยายามปรับเวลาในการใช้ชีวิต นอนหลับ และตื่นนอนในเวลาเดิม ๆ ไม่ว่าจะเป็นวันทำงาน หรือวันหยุด เพื่อให้นาฬิกาชีวิตทำงานตามปกติ ถึงเวลาที่ต้องตื่น ร่างกายก็จะตื่นทุกครั้ง ทำให้ไม่เกิดอาการง่วงนอน หรืออ่อนเพลียในทุก ๆ วัน
เคล็ดลับในการปรับนาฬิกาชีวิต
- เข้านอนให้ตรงเวลาในทุก ๆ คืน
- หากเป็นคนตื่นยาก ให้ตั้งนาฬิกาปลุกเวลาเดิมทุกวัน ไม่เว้นเสาร์อาทิตย์
- แม้จะเป็นวันเสาร์อาทิตย์ หากไม่ต้องรีบเร่งตื่นเพื่อไปทำงาน ก็ควรลุกจากที่นอน อาบน้ำ ทำกิจกรรมต่าง ๆ ให้สดชื่น
- เปิดม่านในห้องนอน รวมถึงภายในบ้าน เพื่อให้แสงสว่างช่วยให้เราตื่นในเวลาที่ควรตื่น
- หากเมื่อคืนนอนดึก ตื่นเช้าแล้วง่วง อาจงีบหลับสั้น ๆ ในช่วงบ่ายได้ แต่อย่างีบเกิน 1 ชั่วโมง เพราะอาจส่งผลให้นอนไม่หลับในตอนกลางคืนได้
- หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนก่อนเข้านอนอย่างต่ำ 6 ชั่วโมง
- หากตอนกลางคืนนอนไม่หลับหลังจากเข้านอน 30 นาที ควรลุกขึ้นมาทำกิจกรรมเบา ๆ เช่น ฟังเพลงเบา ๆ อ่านหนังสือ งดเล่นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และไม่ดูทีวี แล้วเข้านอนอีกครั้ง