คุณผู้ชายรู้ไว้! ฉี่ไม่ออกระวังเป็น "มะเร็งต่อมลูกหมาก"

คุณผู้ชายรู้ไว้! ฉี่ไม่ออกระวังเป็น "มะเร็งต่อมลูกหมาก"

คุณผู้ชายรู้ไว้! ฉี่ไม่ออกระวังเป็น "มะเร็งต่อมลูกหมาก"
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เคยเห็นหรือเคยได้ยินพ่อ หรือญาติผู้ใหญ่ของเรามีอาการเหล่านี้บ้างไหมคะ ปวดฉี่แต่ฉี่ไม่ออก ฉี่กระปริบกระปรอย บางคนคิดว่าเป็นโรคที่เกี่ยวกับกระเพาะปัสสาวะ หรือต่อมลูกหมากโต แต่อันที่จริงแล้วนี่อาจเป็นสัญญาณที่เตือนภัยอันตรายร้ายแรงกว่านั้น เพราะอาจจะเป็น “มะเร็งต่อมลูกหมาก” ได้ ถ้าใครไม่อยากเป็น Sanook! Health มีคำแนะนำดีๆ มาฝากค่ะ

ต่อมลูกหมาก อยู่ตรงไหน มีหน้าที่อะไร

ต่อมลูกหมาก อยู่บริเวณใต้กระเพาะปัสสาวะหน้าต่อลำไส้ใหญ่ และอยู่รอบท่อปัสสาวะ ประกอบด้วยกล้ามเนื้อ และต่อมผลิตน้ำหล่อเลี้ยงอสุจิ ดังนั้นหากต่อมลูกหมากโต หรือมีสิ่งผิดปกติ จะทำให้ระบบปัสสาวะผิดปกติไปด้วย หรือทำงานได้ยากลำบากยิ่งขึ้น

ปัจจัยเสี่ยงของโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก

  1. เพศชาย อายุ 50-70 ปี หรือมากกว่านั้น
  2. กรรมพันธุ์ จากพ่อ และญาติมิตร
  3. อาหาร จำพวกเนื้อแดง ไขมันจากสัตว์ และพฤติกรรมต่างๆ เช่น สูบบุหรี่
  4. เคยทำหมันมาก่อน
  5. มีระดับฮอร์โมนเทสโทสเทอโรนในเลือดสูง ซึ่งอาจเกิดจากการใช้ฮอร์โมนชนิดนี้เป็นเวลานาน

สัญญาณเตือนภัยของโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก

  • มีอาการเดียวกับโรคต่อมลูกหมากโต คือถ่ายปัสสาวะลำบาก ต้องออกแรงเบ่ง หรือใช้เวลานาน
  • หลังปัสสาวะรู้สึกยังปวดอยู่แต่ปัสสาวะไม่สุด
  • ปัสสาวะกระปริบกระปรอย ปัสสาวะบ่อย โดยเฉพาะช่วงเวลากลางคืน
  • อาจมีเลือดปนออกมากับปัสสาวะ
  • อวัยเพศแข็งตัว หรือหลังหลั่งอสุจิ แล้วมีอาการปวด

อาการของผู้ป่วยโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก

  • เบื่ออาหาร น้ำหนักลด
  • หากมะเร็งแพร่ไปที่กระดูกสันหลัง อาจปวดหลัง ซี่โครง หรือเชิงกรานด้านหลัง
  • หากมะเร็งแพร่ไปที่ต่อมน้ำเหลืองต้นขา ขาอาจจะบวม
  • หากมะเร็งแพร่ไปที่ประสาทสันหลัง อาจขาชา หรือขาอ่อนแรง
  • หากมะเร็งแพร่ไปที่สมอง อาจปวดศีรษะ เดินเซ ทรงตัวไม่ดี แขนขาอ่อนแรง

หากพบสัญญาณเตือน หรือเริ่มมีอาการต่างๆ ดังกล่าว ให้รีบพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยโรค และหาวิธีการรักษาที่เหมาะสมได้อย่างทันท่วงที ไม่ว่าจะผ่าตัด หรือฉายรังสีบำบัด (ทำคีโม) ยิ่งตรวจเจอเร็ว ยิ่งมีสิทธิ์หายได้มากกว่า

อาการอื่นๆ ของมะเร็งต่อมลูกหมากในระยะที่เป็นมาก อาจพบได้ดังนี้

  • มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน รู้สึกอ่อนล้า
  • มีอาการบวมของร่างกายตั้งแต่ส่วนล่างลงไป
  • น้ำหนักลดโดยที่ไม่ทราบสาเหตุ
  • มีอาการอ่อนแรง
  • ขาอ่อนล้า หรืออาจขยับไม่ได้ อีกทั้งยังมีอาการท้องผูกร่วมด้วย
  • มีอาการเจ็บบริเวณเชิงกราน หรือหลังส่วนล่าง

ระยะของมะเร็งต่อมลูกหมาก

มะเร็งต่อมลูกหมาก สามารถแบ่งออกได้เป็น 4 ระยะ ได้แก่

  • ระยะที่ 1 : ซึ่งเป็นระยะแรกเริ่มของโรค ในะระยะนี้เซลล์มะเร็งยังมีขนาดเล็กเมื่อส่องดูด้วยกล้องจุลทรรศน์และไม่ได้มีความรุนแรงต่ออวัยวะต่างๆ
  • ระยะที่ 2 : ในะระยะนี้เซลล์มะเร็งก็ยังคงมีขนาดเล็ก แต่เริ่มที่จะมีความรุนแรงเพิ่มขึ้น โดยในบางรายเซลล์มะเร็งอาจมีขนาดใหญ่และเจริญเติบโตออกไปทั้ง 2 ข้างของต่อมลูกหมาก
  • ระยะที่ 3 : ในระยะนี้มะเร็งได้ลุกลามออกจากบริเวณต่อมลูกหมากไปที่ระบบสืบพันธ์ หรือกระจายไปยังเนื้อเยื่ออื่นๆ
  • ระยะที่ 4 : ในระยะนี้เซลล์มะเร็งได้เจริญเติบโตจนลุกลามไปยังบริเวณอวัยวะที่อยู่ใกล้เคียง อย่าง กระเพาะปัสสาวะ หรือลุกลามแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลือง ปิด กระดูก หรืออวัยวะอื่นๆ

การวินิจฉัยมะเร็งต่อมลูกหมาก

ในการที่แพทย์จะวินิจฉัยมะเร็งต่อมลูกหมากนั้นสามารถทำได้หลายวิธี โดยในขั้นแรกอาจจะต้องมีการพูดคุยถึงข้อดีและข้อเสียของการตรวจวินิจฉัยในแต่ละวิธี เพื่อทำให้ผู้ป่วยสามารถเลือกวิธีที่เหมาะสมและสบายใจที่สุดได้

  • การตรวจเบื้องต้น : แพทย์จะแนะนำให้ตรวจเมื่อมีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป หรืออาจจะไปรับการตรวจเร็วกว่านั้นในรายที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งต่อมลูกหมากสูง โดยอาจทำการตรวจผ่านทางทวารหนักและเจาะเลือดเพื่อหาสารที่บ่งชี้มะเร็งในต่อมลูกหมาก
  • การเจาะเลือดเพื่อหาสารบ่งชี้มะเร็งในต่อมลูกหมาก : แพทย์จะทำการเก็บตัวอย่างเลือดเพื่อนำไปวิเคราะห์หาสาร PSA ในกระแสเลือด ซึ่งระดับของค่าสารที่สูงกว่าปกติก็อาจบ่งบอกถึงการติดเชื้อ การอักเสบ การขยายใหญ่ของต่อมลูกหมาก ตลอดจนการเกิดเป็นมะเร็งได้อีกด้วย
  • การตรวจทางทวารหนัก : เนื่องจากต่อมลูกหมากนั้นจะอยู่ติดกับบริเวณทวารหนัก แพทย์จึงสามารถสวมถึงมือแล้วสอดนิ้วเข้าไปในทวารหนักของคนไข้เพื่อตรวจดูพื้นผิว รูปร่าง และขนาดของต่อมลูกหมากได้ ว่าเกิดความผิดปกติใดๆ ขึ้นหรือไม่

ยังไงก็ตาม การตรวจหามะเร็งต่อมลูกหมากด้วยวิธีการเบื้องต้นทั้ง 2 วิธีนั้นยังอาจได้รับผลการวินิจฉัยที่ไม่แน่ชัด อีกทั้งอาจยังไม่สามารถยืนยันได้ว่าจะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งชนิดนี้ได้ โดยหลังจากการวินิจฉัยเบื้องต้นเสร็จสิ้น หากพบความผิดปกติใดเพิ่มเติม แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยไปรับการตรวจเพิ่มเติมดังต่อไปนี้

  • การตรวจอัลตราซาวด์ : โดยแพทย์จะทำการอัลตราซาวด์ผ่านช่องทางทวารหนักด้วยการใช้เครื่องมือสำหรับตรวจขนาดเล็ก แหย่เข้าไปทางทวารหนัก จากนั้นจะใช้คลื่นเสียงช่วยในการถ่ายภายของต่อมลูกหมาก ซึ่งเครื่องมือนี้ยังสามารถนำไปใช้ในการช่วยวินิจฉัยด้วยวิธีตัดชิ้นเนื้อต่อมลูกหมากได้อีกด้วย
  • การตัดชื้นเนื้อต่อมลูกหมาก : แพทย์จะทำการเก็บชิ้นเนื้อตัวอย่างจากต่อมลูกหมากด้วยการใช้อุปกรณ์ที่เป็นเข็มบางๆ สอดเข้าไปทางทวารหนัก โดยจะมีอุปกรณ์อัลตราซาวด์ช่วยนำทางให้สามารถสอดเข็มเข้าผ่านผนังช่องทวารหนักและเจาะไปยังต่อมลูกหมาก เพื่อนำชิ้นเนื้อที่ได้ส่งไปวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการว่ามีเซลล์มะเร็งอยู่หรือไม่

การเฝ้าระวังโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก

สำหรับการตรวจมะเร็งต่อมลูกหมากในระยะเริ่มต้นนั้น เมื่อมีการตรวจพบ อาจไม่ต้องทำการรักษาโดยทันที แพทย์อาจจะทำการเฝ้าระวังด้วยการให้ผู้ป่วยเข้ารับการตรวจเลือด , ตรวจทางทวารหนัก และอาจตรวจชิ้นเนื้อเพื่อดูการพัฒนาของเซลล์มะเร็งเพิ่มเติม หากพบว่ามะเร็งมีการเจริญเติบโตขึ้นก็อาจะใช้การรักษาด้วยวิธีอื่นๆ ต่อไป

วิธีการเฝ้าระวังโรคนั้นอาจเป็นทางเลือกสำหรับผู้ป่วยมะเร็งที่ไม่แสดงอาการ โดยคาดว่าจะเป็นมะเร็งชนิดที่มีการเติบโตช้าและอยู่ในบริเวณเล็กๆ ของต่อมลูกหมากเท่านั้น และยังอาจใช้การประคองอาการของผู้ป่วยที่เป็นโรคร้ายแรงชนิดอื่นๆ อยู่ด้วยได้ รวมไปถึงวิธีนี้ก็ยังเหมาะกับผู้ป่วยที่มีอายุมาก การรักษาทำได้ยาก ยังไงก็ตาม การใช้วิธีนี้ก็มาพร้อมกับความเสี่ยงที่มะเร็งนั้นจะเติบโตและแพร่กระจายในระหว่างการเฝ้าระวัง ทำให้โอกาสในการรักษาให้หายนั้นน้อยลงตามไปด้วย

วิธีป้องกันจากมะเร็งต่อมลูกหมาก

  1. ลดอาหารที่มีไขมันจากเนื้อสัตว์สูง ทานผักและผลไม้เพิ่มให้มากขึ้น
  2. ลดความอ้วนให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน อย่าให้เป็นโรคอ้วน
  3. อาหารที่แนะนำให้ทาน : ธัญพืช ถั่วเหลือง เต้าหู้ มะเขือเทศปรุงสุก แตงโม มะละกอ และฝรั่งชมพู เพราะมีสารไลโคปีนสูง ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งได้
  4. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ สัปดาห์ละ 3-5 วัน ครั้งละอย่างน้อย 30 นาที
  5. เข้าตรวจคัดกรองมะเร็งทุก 6 เดือน หรือ 1 ปี

ใครที่มีความเสี่ยงก็หวังว่าจะรอดพ้นจากโรคมะเร็งต่อมลูกหมากได้อย่างทันท่วงทีนะคะ แต่หากใครที่ตรวจพบเชื้อมะเร็งแล้วก็ไม่ต้องเศร้าเสียใจไปค่ะ เทคโนโลยีก้าวล้ำไปไกลแล้ว หากตรวจพบเจอในระยะแรกๆ รับรองว่ามีโอกาสหายจากโรคร้ายนี้สูงแน่นอน เป็นกำลังใจให้ทุกคนนะคะ

ขอบคุณข้อมูลบางส่วนจาก หมอชาวบ้าน 
ภาพประกอบ istockphoto

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook