ภาวะ "ติดเชื้อทางเดินอาหาร" อาจอันตรายกว่าที่คิด
โรงพยาบาลราชวิถีหวั่นประชาชนติดเชื้อในลำไส้เฉียบพลันจากการท้องเสียเรื้อรัง เตือนบริโภคอาหารให้ถูกสุขลักษณะ ปรุงสุก กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ และใส่ใจสุขภาพ เพื่อป้องกันการติดเชื้อ
ติดเชื้อทางเดินอาหาร เป็นอย่างไร ?
นายแพทย์ณรงค์ อภิกุลวณิช รองอธิบดีกรมการแพทย์และโฆษกกรมการแพทย์ กล่าวว่า โรคติดเชื้อทางเดินอาหาร หมายถึง การติดเชื้อของอวัยวะในระบบทางเดินอาหาร ซึ่งส่วนใหญ่เป็นจากแบคทีเรีย รองลงมาคือเชื้อไวรัสและปรสิต โดยมีอาการหลักคือ การปวดท้องที่อาจเกิดได้ที่ช่องท้อง ไม่มีอาการปวดเฉพาะจุด ร่วมกับอาการท้องเสีย มีไข้ได้ โดยลักษณะอาการมักเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลันทันที เรียกว่า การติดเชื้อเฉียบพลัน
กลุ่มเสี่ยงติดเชื้อทางเดินอาหาร
นายแพทย์สมเกียรติ ลลิตวงศา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชวิถี กล่าวเพิ่มเติมว่า โรคติดเชื้อทางเดินอาหารเป็นโรคที่พบได้บ่อยทุกวัน เกือบทุกคนเคยผ่านการติดเชื้อระบบทางเดินอาหารมาแล้ว เช่น อาหารเป็นพิษ ติดต่อได้ง่าย ระบาดได้ง่าย ในชุมชนต่าง ๆ ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงจากการรับเชื้อ เช่น เด็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัว อาจทำให้เกิดอาการรุนแรง เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตได้
ปัจจัยเสี่ยงต่อการติดเชื้อทางเดินอาหาร
- บริโภคอาหาร และน้ำดื่มที่ไม่สะอาด
- รับประทาน หรือดื่มน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อโรคที่อยู่ในตัวผู้ป่วย ซึ่งอาจพบได้ในน้ำ อาหาร และมือ
- รับประทาน หรือดื่มน้ำจากเครื่องมือเครื่องใช้ในการอุปโภค บริโภค เช่น ช้อน แก้วน้ำ จาน ชาม ที่ปนเปื้อนเชื้อโรค
การป้องกันการติดเชื้อทางเดินอาหาร
การป้องกันการติดเชื้อทางเดินอาหาร ควรเริ่มจากการรักษาสุขอนามัยพื้นฐานซึ่งเป็นสิ่งสำคัญ และการมีอาการของโรคติดเชื้อทางเดินอาหาร ต้องดูแลประคับประคอง ป้องกันไม่ให้เกิดอาการขาดน้ำ การขาดสมดุลของเกลือแร่ โดยการดื่มน้ำสะอาด การใช้ยาผงเกลือแร่ และการรักษาตามสาเหตุ เช่น การติดเชื้อบางชนิดที่อาจต้องได้รับยาฆ่าเชื้อ รวมถึงการดูแลตัวเอง ป้องกันการรับเชื้อซ้ำ และป้องกันการระบาดสู่ชุมชน