5 สัญญาณอันตราย เสี่ยง “น้ำกัดเท้า”
ในช่วงฤดูฝนที่ทำให้เกิดน้ำท่วมขังในหลาย ๆ พื้นที่ อาจทำให้ประชาชนคนไทยต้องถอดรองเท้าลุยน้ำบางเป็นบางครั้ง ซึ่งการลุยน้ำท่วมที่อาจรวมเอาแหล่งน้ำที่ไม่สะอาดนัก เช่น น้ำในคลองที่เต็มไปด้วยขยะ และสารเคมี จึงอาจทำให้ผิวเท้า และขาของเราเกิดอาการระคายเคือง และเสี่ยงต่อโรคน้ำกัดเท้าได้
น้ำกัดเท้า คืออะไร ?
“น้ำกัดเท้า” เป็นอาการทางผิวหนังที่พบบ่อยในภาวะอุทกภัย สาเหตุเกิดจากการระคายเคืองของผิวหนังบริเวณเท้าที่แช่อยู่ในน้ำที่สกปรกเป็นเวลานาน หรือเท้าที่เปียกชื้นจากน้ำหรือเหงื่อตลอดเวลา
อาการของโรคน้ำกัดเท้า
สัญญาณอันตรายของโรคน้ำกัดเท้า ได้แก่
- ผิวหนังมีอาการผื่นแดง แสบ คัน
- อาจพบผิวเป็นขุยลอกได้ โดยเฉพาะที่บริเวณซอกนิ้วเท้า
- หากปล่อยให้มีอาการไปเรื่อย ๆ ผิวหนังอาจเกิดพุพองเป็นแผล
- หากไม่ได้รับการรักษา แผลอาจติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำซ้อน เท้าเปื่อยเป็นหนอง
- แผลอาจลุกลามอันตรายจนถึงขั้นเสียชีวิตได้
การป้องกันโรคน้ำกัดเท้า
- หลีกเลี่ยงการเดินย่ำอยู่ในน้ำขังบนถนน หรือน้ำสกปรกตามแหล่งต่าง ๆ
- หากจำเป็นควรใส่รองเท้าบูทกันน้ำ
- ล้างเท้าให้สะอาดด้วยน้ำสบู่หากเท้าสัมผัสน้ำสกปรก และพยายามเช็ดเท้าให้แห้ง
- สวมใส่เสื้อผ้าที่ไม่เปียกชื้น รวมทั้งอย่าปล่อยให้เท้าอับชื้นด้วยเหงื่อเป็นเวลานาน
- หากมีบาดแผลที่เท้าควรใช้แอลกอฮอล์เช็ด และทายาฆ่าเชื้อ