แนะเมนูอร่อย เลี่ยง "ข้ออักเสบ-เกาต์"
โรคข้ออักเสบ และเกาต์ย่อมส่งผลให้ร่างกายเกิดความเจ็บปวดและรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน ฉะนั้นการป้องกันโรคข้ออักเสบและเกาต์เป็นเรื่องที่ต้องใส่ใจ ยิ่งคนที่ป่วยด้วยโรคเกาต์และข้ออักเสบอยู่ก่อนแล้ว ยิ่งต้องดูแลอาหารการกินต่าง ๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่สามารถเลือกและควบคุมได้ด้วยตนเอง เพื่อให้ห่างไกลหรือบรรเทาอาการจากโรคให้เบาลงได้
โรคเกาต์ คืออะไร ?
นักกำหนดอาหาร และคลินิกโรคข้อและรูมาติสซั่ม โรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าวเกี่ยวกับโรคเกาต์ว่า เป็น โรคข้ออักเสบชนิดหนึ่ง ที่เกิดจากการสะสมของผลึกกรดยูริกภายในข้อ และข้อที่มักพบการอักเสบจากโรคเกาต์ได้บ่อย เช่น ข้อโคนหัวแม่เท้า ข้อเท้า ข้อเข่า ข้อมือ เป็นต้น
อาการของโรคเกาต์
โรคเกาต์จะมีอาการของข้ออักเสบเฉียบพลัน ข้อจะบวมแดงและร้อน บางรายอาจมีไข้ ในระยะแรก อาการของโรคจะเป็น ๆ หาย ๆ ถ้าไม่เข้ารับการรักษาต่อเนื่อง ข้อที่อักเสบก็จะกำเริบบ่อย ๆ เป็นนานขึ้น และเป็นหลายข้อพร้อมกันได้ ผู้ที่เป็นโรคเกาต์มานาน ไม่เข้ารับการรักษาให้ถูกต้อง จะมีการตกผลึกกรดยูริกเพิ่มมากขึ้น ตามข้อและเนื้อเยื่อต่าง ๆ จะเป็นปุ่มก้อนใต้ผิวหนังได้
บริเวณที่พบได้บ่อย เช่น หลังเท้าและนิ้วเท้า ตาตุ่ม ข้อศอก นิ้วมือ ใบหู เป็นต้น อาการของโรคไตจากการเป็นโรคเกาต์มานาน อาจเกิดการสะสมของผลึกกรดยูริก จนเป็นนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะ หรือเกิดผลึกกรดยูริกในเนื้อเยื่อของไต ก่อให้เกิดภาวะไตอักเสบเรื้อรัง และภาวะไตวายได้
โรคข้ออักเสบ คืออะไร ?
โรคข้ออักเสบ (Arhritis) ที่พบบ่อยมีอยู่ 2 ชนิด คือ โรคข้อเสื่อมหรือข้ออักเสบเรื้อรัง (Osteoarthritis) และโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ หรือปวดข้อรูมาตอยด์ (The Rumatoid arthritis) โรคข้อเสื่อมนั้นเกิดจากความทรุดโทรมของกระดูกอ่อนที่หุ้มข้อกระดูกค่อย ๆ หายไป ทำให้ข้อกระดูกเสียดสีกันเวลาเคลื่อนไหว จนเกิดอาการข้อยึด ส่งผลให้ปวดบริเวณข้อ โดยเฉพาะเวลาอากาศเย็น
ส่วนโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ ยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด แต่สาเหตุที่พบบ่อยคือ เกิดจากระบบภูมิคุ้มกันที่ผิดปกติของร่างกาย เกิดการทำลายข้อต่อกระดูกของตนเอง และโรคนี้ยังสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกวัย และเพศหญิงมีแนวโน้มที่จะเป็นโรคนี้ได้มากกว่าเพศชาย ทั้งยังเป็นโรคเรื้อรังที่มีอาการเป็น ๆ หาย ๆ ไปตลอด
อาหารลดอาการ / เลี่ยงโรคข้ออักเสบ-เกาต์
การดูแลสุขภาพเพื่อบรรเทาอาการโรคข้ออักเสบและโรคเกาต์ด้วยการรับประทานอาหารก็ถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการดูแลสุขภาพ โดยมีข้อแนะนำดังนี้
- ควรเลือกรับประทานอาหารที่มีกรดไขมันโอเมก้า 3 สูง เพราะช่วยบำรุงข้อต่อกระดูกและลดอาการอักเสบตามข้อได้ มีข้อมูลจากงานวิจัยปริมาณไขมันทั้งหมด กรดโอเมก้า 6 และ กรดโอเมก้า 3 ในปลาทะเลและปลาน้ำจืดของไทย พบว่าปลาดุกมีกรดไขมันโอเมก้า 3 อยู่ที่ 0.46 กรัม มากกว่าปลากะพงขาว ซึ่งพบ 0.40 กรัม และต้องเลือกวิธีปรุงให้ถูกต้อง เพราะโอเมก้า 3 จะสูญสลายไปได้ง่ายหากผ่านความร้อนสูงจึงควรหลีกเลี่ยงการทอด
- รับประทานอาหารที่มีพลังงานต่ำเพื่อควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติหรือใกล้เคียงปกติให้มากที่สุด โดยควรรับประทานผักต่าง ๆ อย่างน้อย 400 กรัมต่อวันและควรบริโภคโปรตีนในปริมาณที่เหมาะสมไม่มากเกินไป โดยเน้นโปรตีนไขมันต่ำ โปรตีนจากพืช
- หลีกเลี่ยงการรับประทานเนื้อแดง เช่น เนื้อหมู เนื้อวัว เป็นต้น
- กินผลไม้สด เลี่ยงน้ำผลไม้เพราะมีน้ำตาลสูง
- ดื่มน้ำเปล่าให้เพียงพอ 8 - 10 แก้วต่อวัน
- หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
เมนูอาหาร ลดความเสี่ยง/บรรเทาอาการโรคข้ออักเสบ-เกาต์
เมนูอาหารทำง่ายเพื่อเลี่ยงโรคข้ออักเสบและเกาต์
- น้ำพริกปลาดุกย่าง เริ่มต้นจากผสมน้ำปลา น้ำมะนาว น้ำตาลทราย พริกขี้หนูซอย หอมแดงซอย ต้นหอมซอย ผักชีฝรั่ง ข้าวคั่ว และใบสะระแหน่ คลุกเคล้าให้เข้ากัน คั่วพริกแห้ง หอมแดง กระเทียมพอเกรียม ตำพริกหยาบๆ ใส่หอมแดง กระเทียมตำให้ละเอียด ใส่เนื้อปลาดุกย่างลงไปตำรวมกันให้ละเอียด ปรุงรส น้ำปลา น้ำมะขาม น้ำตาล ชิมรสตามชอบ รับประทานแกล้มกับผักสดหรือผักลวก
- ลาบเต้าหู้ โดยใช้ส้อมยีเต้าหู้ให้เป็นชิ้นเล็กๆ แล้วคั่วในกระทะจนแห้ง ผสมน้ำปลา น้ำมะนาว น้ำตาลทราย พริกขี้หนูซอย หอมแดงซอย ต้นหอมซอย ผักชีฝรั่ง ข้าวคั่ว และใบสะระแหน่ คลุกเคล้าให้เข้ากัน รับประทานแกล้มกับผักสด เป็นเมนูสุขภาพที่ได้คุณประโยชน์เพื่อหลีกเลี่ยงโรคข้ออักเสบ & เกาต์ และวิตามินและแร่ธาตุจากผักและปลาไปพร้อมๆ กัน
เพราะอาการปวดข้อ ส่งผลกระทบกับการใช้ชีวิต ไม่ว่าจะเป็นข้ออักเสบหรือเกาต์ ดังนั้นการใส่ใจดูแลเรื่องการรับประทานอาหารคือหัวใจสำคัญ นอกจากนี้ควรหมั่นสังเกตตนเอง หากมีอาการผิดปกติควรพบแพทย์ผู้ชำนาญการโดยเร็วเพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยโดยละเอียด