อันตรายและโรคที่มากับการ “นอนน้อย”
นอนน้อย คือ ภาวะที่ร่างกายนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ ซึ่งแน่นอนว่าย่อมส่งผลเสียต่อร่างกาย สภาวะอารมณ์ และการดำเนินชีวิตประจำวัน อีกทั้งการนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอเป็นประจำ ยังทำให้เสี่ยงป่วย แถมมีปัญหาสุขภาพต่างๆ ตามมาอีกมากมายด้วย และหากรุนแรงอาจทำให้เกิดอาการหัวใจวาย กระทั่งเสียชีวิตได้
นอนน้อยกว่า 6 ชม. เสี่ยงเสียชีวิตก่อนวัยอันควรถึง 2 เท่า!
ผลการศึกษาโดยสมาคมหัวใจอเมริกัน พบว่า การนอนน้อยกว่า 6 ชั่วโมงต่อคืนนั้น ทำให้เสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากอาการหัวใจวาย รวมถึงโรคหลอดเลือดสมองได้มากถึง 2.1 เท่า โดยกลุ่มที่มีความเสี่ยงมากกว่าคนอื่น คือผู้ที่มีกลุ่มอาการของโรคที่เกี่ยวข้องและมีสาเหตุมาจากความอ้วน เช่น โรคเบาหวาน ชนิดที่ 2, ความดันโลหิตสูง และอ้วนลงพุง ซึ่งกลุ่มนี้จำเป็นต้องได้รับการนอนหลับที่มากขึ้น หากไม่อยากเสี่ยงต่อการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร
“นอนน้อย” ทำลายสัมพันธ์รักได้โดยไม่รู้ตัว
สเตฟานี วิลสัน หัวหน้าทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยโอไฮโอสเตท ในสหรัฐอเมริกา ที่ทำการศึกษาเกี่ยวกับความเชื่อมโยงระหว่างภาวะขาดการนอนหลับ กับความสัมพันธ์ของคู่แต่งงานจำนวน 43 คู่ ที่กำลังมีปัญหาเรื่องชีวิตคู่ เผยว่า คู่ที่นอนน้อยกว่า 7 ชั่วโมงติดกัน 2 คืน มักจะมีแนวโน้มทะเลาะโต้เถียง หรือมีปัญหาไม่ลงรอยกับคู่ของตัวเองได้มากกว่า โดยจะมีระดับความเครียดที่เพิ่มขึ้น รวมถึงสภาพร่างกายที่อ่อนแอมากขึ้น และในทุกชั่วโมงที่การนอนถูกลดทอนลงไปนั้น ยังไปส่งให้เกิดภาวะอักเสบในร่างกายอีกด้วย ซึ่งวัดได้จากระดับการอักเสบในเลือด
6 โรคที่มากับการ “นอนน้อย”
-
โรคเกี่ยวกับหัวใจ
เนื่องจากสารโปรตีนในตัวเราจะสะสมมากขึ้นในหัวใจ เวลาร่างกายตื่นโดยธรรมชาติ แต่ถ้าหากเราไม่นอนหรือนอนดึก สารโปรตีนเหล่านี้จะยิ่งเข้าไปเกาะที่หลอดเลือดหัวใจ ทำให้เกิดการอุดตันได้ โดยมีการวิจัยในกลุ่มคนที่ทดลองไม่ได้นอนเป็นเวลา 88 ชั่วโมง พบว่าจะมีความดันเลือดที่สูงมากผิดปกติ และในผู้หญิงที่อายุน้อยกว่า 60 ปี มีความเสี่ยงเป็นโรคหัวใจถึง 2 เท่า
-
โรคมะเร็งลำไส้
จุดเริ่มต้นของโรคนี้ คือ การนอนดึก ได้มีการศึกษาและวิจัยว่า ในคน 1,240 คน มีคนที่นอนน้อยกว่า 6 ชั่วโมง ถึง 47% จะมีอาการของมะเร็งลำไส้ มากกว่าคนที่นอนหลับอย่างน้อย 7 ชั่วโมงขึ้นไป
หากคนเป็นโรคเบาหวานพักผ่อนไม่เพียงพอ จะทำให้ระดับกลูโคสในเลือดเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว 23% รวมทั้งระดับอินซูลินในเลือด ก็สูงขึ้นอย่างรวดเร็วถึง 48% อีกทั้งในการวิจัยบางส่วนพบว่า คนที่เป็นเบาหวานอยู่แล้ว จะเกิดภาวะร่างกายดื้ออินซูลินจากการนอนไม่พออีกด้วย
-
โรคนอนไม่หลับเรื้อรัง
การนอนน้อยหรือนอนดึก ส่งผลทำให้เป็นโรคนอนไม่หลับเรื้อรังได้ ซึ่งจะทำให้เวลานอนต้องใช้เวลาเกินกว่า 30 นาที ถึงจะสามารถหลับได้ หรืออาจจะหลับๆ ตื่นๆ ทั้งคืน จนทำให้ตื่นกลางดึก แล้วก็ไม่สามารถหลับอีกเลย และจะต้องมีอาการแบบนี้เกิน 1 เดือน ถึงจะเรียกว่าการนอนไม่หลับแบบเรื้อรังนั่นเอง
-
โรคอ้วน
จากงานวิจัยพบว่า ผู้ที่นอนน้อยกว่า 7 ชั่วโมงต่อวัน มีแนวโน้มที่น้ำหนักตัวจะมากขึ้น และเสี่ยงเป็นโรคอ้วนได้สูงกว่าผู้ที่นอนหลับ 7 ชั่วโมง เนื่องจากผู้ที่นอนน้อยจะมีสารเคมีเลปติน ที่ช่วยให้รู้สึกอิ่มอยู่ในระดับต่ำ และมีฮอร์โมนเกรลิน ที่กระตุ้นให้หิวอยู่ในระดับมาก ทั้งนี้การนอนน้อยยังกระตุ้นให้รู้สึกหิวอาหาร ที่มีไขมันและคาร์โบไฮเดรตสูงขึ้นด้วย
ผู้ที่นอนน้อยหรือมีปัญหาสุขภาพเกี่ยวกับนอนหลับ เกิดอาการซึมเศร้าได้ ทั้งนี้ ภาวะนอนไม่หลับซึ่งเป็นปัญหาสุขภาพเกี่ยวกับการนอนที่พบได้มากที่สุด และเป็นอาการที่เกี่ยวเนื่องกับภาวะซึมเศร้าอย่างเด่นชัด เนื่องจากภาวะนอนไม่หลับเป็นหนึ่งในอาการที่พบได้เป็นอันดับแรกของโรคซึมเศร้า