หักดิบ "งดเหล้า" อย่างไรไม่ให้เสี่ยง ?

หักดิบ "งดเหล้า" อย่างไรไม่ให้เสี่ยง ?

หักดิบ "งดเหล้า" อย่างไรไม่ให้เสี่ยง ?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ย่างเข้าสู่ช่วงเข้าพรรษามาได้สักระยะหนึ่งแล้ว เริ่มเห็นหลายคนจริงจังและเข้าร่วมกิจกรรม พักตับ งดเหล้าเข้าพรรษา โดยหลายคนใช้โอกาสนี้งดเหล้าเป็นประจำทุกปี และสิ่งที่น่ายินดีคือสามารถต่อยอดจากการงดเหล้า 3 เดือน เป็นเลิกดื่มเหล้าตลอดชีวิต

เป็นที่รู้กันว่า ตับ คืออวัยวะที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการดื่มเหล้า แต่อาจารย์นายแพทย์ธีรยุทธ บอกว่า การดื่มเหล้าไม่ได้ส่งผลเสียกับตับเพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมไปถึงอวัยวะอื่น ๆ ด้วย เช่น ระบบทางเดินอาหาร ทำให้เป็นแผลในกระเพาะอาหาร ลำไส้อักเสบ มะเร็งหลอดอาหาร เป็นต้น

เมื่อช่วงปลายเดือนก่อน มีหลายสำนักข่าวนำเสนอข่าวการเสียชีวิตหรือผลกระทบที่เกิดจากการหักดิบ งดเหล้า วันนี้ทีมเว็บไซต์ สสส. จะมาคลายข้อสงสัยและแนะนำถึงวิธีการ งดเหล้าอย่างปลอดภัย

อาจารย์นายแพทย์ธีรยุทธ อธิบายว่าผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์สามารถแบ่งได้ เป็น 3 กลุ่ม คือ

1) ผู้ที่มีความเสี่ยงต่ำ คือ ผู้ที่นาน ๆ ครั้ง จะดื่มเหล้าหรือดื่มบ้างเล็กน้อย

2) ผู้ที่มีความเสี่ยงสูง คือ ผู้ที่ดื่มเหล้าแล้วเกิดปัญหา เช่น เมาแล้วขับ

3) ผู้ที่มีภาวะติดแอลกอฮอล์ คือผู้ที่ควบคุมตัวเองไม่ได้ คนกลุ่มนี้ต้องได้รับคำแนะนำจากแพทย์


อาการขาดเหล้า

แอลกอฮอล์เป็นสารประเภทกดประสาท ทำให้ไปกดสมอง เมื่อหยุดดื่มทำให้สมองตื่น ระบบประสาทจะทำงานเยอะ ส่งผลให้มีอาการต่างๆ โดยอาการขาดเหล้าแบ่งเป็น 2 ประเภท ดังนี้

1.อาการขาดเหล้าแบบธรรมดา จะมีอาการมือสั่น ใจสั่น วิตกกังวล คลื่นไส้อาเจียน หงุดหงิด กระสับกระส่าย เหงื่อแตก ความดันโลหิตสูง หัวใจเต้นเร็ว นอนไม่หลับ มีอาการมากที่สุดในช่วง 2-3 วันแรก หลังจากนั้นอาการจะค่อยๆ ลดลงและหายไปเอง หากไม่กลับไปดื่มเหล้าอีก

2.อาการขาดเหล้าแบบรุนแรง จะมีอาการทางจิต เช่น หูแว่ว เห็นภาพหลอน หลงผิด ชัก บางรายมีอาการสมองสับสน เพ้อคลั่ง หงุดหงิดมาก กระสับกระส่ายอย่างมาก ไม่รับรู้วันเวลา สถานที่ และบุคคล สมองเสื่อมชั่วขณะ อาการดังกล่าวเป็นภาวะที่อันตรายมาก ต้องได้รับการรักษาจากแพทย์อย่างเร่งด่วน


วิธีการเลิกเหล้า

ภก.สงกรานต์ ภาคโชคดี ผู้อำนวยการเครือข่ายองค์กรงดเหล้า กล่าวว่า ช่วงเข้าพรรษาเป็นเวลาที่มีพลัง ทำให้เกิดผลทางเศรษฐกิจ คนไทยประหยัดเงินได้ เวลาแห่งความสุขก็เพิ่มมากขึ้น อุบัติเหตุก็ลดลง แต่ระวังเรื่องการหักดิบ ถ้าคนที่ติดสุราหนัก ๆ แล้วเลิกทันทีก็อาจมีอันตรายได้ เพราะเหล้าไม่เหมือนบุหรี่ บุหรี่หักดิบได้ ถ้าเหล้าติดหนักๆ จะหักดิบไม่ได้ ต้องปรึกษาแพทย์ ดังนั้น จึงต้องเรียนรู้วิธีเลิกเหล้าที่ถูกต้อง เพราะแต่ละคนมีภาวะการดื่มแอลกอฮอล์ที่แตกต่างกัน

แบบที่ 1 วิธีการเลิกเหล้า 9 ขั้นตอน หรือวิธีการหยุดดื่มด้วยตนเอง (หักดิบ) วิธีนี้เหมาะสำหรับผู้ที่ยังไม่ติดเหล้า โดยมีวิธีการดังนี้

  1. กำหนดเป้าหมายให้ชัดเจน ว่าเลิกเหล้าเข้าพรรษา ทำเพื่ออะไร ทำเพื่อใคร

  2. ตั้งจิตอธิษฐานโดยใช้เจตนาอันแรงกล้า “จะเลิกเหล้า” กำหนดวันแล้วหยุดดื่มได้ทันที และเฝ้าระวังอาการขาดเหล้าของตนเอง (จริงๆ แล้ว ควรค่อย ๆ ลดปริมาณการดื่มให้น้อยลงไปเรื่อย ๆ ก่อนจะถึงกำหนดวันหยุดดื่มจริง เพื่อลดปัญหาอาการขาดเหล้า)

  3. เตรียมคิดล่วงหน้า ทำอย่างไรให้ไม่นึกถึงเหล้าอีก และฝึกปฏิเสธ ว่าไม่ดื่มเหล้า

  4. หากิจกรรมสร้างสรรค์ เช่น เล่นดนตรี เล่นกีฬา พักผ่อนหย่อนใจกับครอบครัว

  5. บอกคนที่คุณรัก และเพื่อนๆ ของคุณ ให้ทราบว่าคุณจะเลิกเหล้าและขอกำลังใจจากคนรอบข้าง

  6. ลงมือทำเดี๋ยวนี้ คนที่ประสบความสำเร็จจะต้องไม่ใช่คนรีรอ หรือรอเดี๋ยว การลงมือทำ เป็นจุดเริ่มต้นของการไปสู่เป้าหมายทันที

  7. สร้างความสุขง่าย ๆ ด้วยตัวเอง เช่น ผ่อนคลายโดยการหายใจเข้า-ออกลึก ๆ ยิ้มกว้าง ๆ หัวเราะดัง ๆ ฟังเพลงในสไตล์ที่ชอบ หรือร้องคาราโอเกะกับครอบครัวในบ้าน ตื่นแต่เช้ารดน้ำต้นไม้ ฟังเสียงนกร้อง  แล้วยิ้มให้กับตัวเองว่า วันนี้จะเป็นอีกวันที่เรางดดื่มเหล้าได้ ไปตักบาตรหรือทำบุญสังฆทานร่วมกับครอบครัว เป็นต้น

  8. ดูแลตนเองเป็นอย่างดีในช่วงหยุดดื่มเหล้า กล่าวคือ รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ เลือกออกกำลังกายให้เหมาะกับวัย

  9. ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ หากมีความกังวลหรือพยายามเลิกแต่ไม่สำเร็จ สามารถปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากสถานบำบัดจากทั่วประเทศ


แบบที่ 2 วิธีการเลิกเหล้าด้วยการใช้ยาบำบัด

การเลิกเหล้าด้วยการพบแพทย์ ถือเป็นวิธีที่ได้ผลดีมากกว่ากลุ่มดื่มแบบติด โดยสามารถไปขอคำปรึกษาเพื่อรับการรักษาที่โรงพยาบาลที่มีจิตแพทย์ประจำอยู่ หรือติดต่อแผนกจิตเวช หรือคลินิกบำบัดสุราและยาเสพติดใกล้บ้าน

นับว่า ช่วงสามเดือนของการเข้าพรรษานี้เป็นฤกษ์งามยามดีในการที่จะหันกลับมาพักใจพักกายตัวเองโดยการหยุดดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ให้ร่างกายและจิตใจได้พัก ถือเป็นจุดเริ่มต้นอันดีสำหรับคนที่จะหยุดเหล้าต่อไป เพราะการงดเหล้าเข้าพรรษา เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นมากมาย เช่น ได้เงินเก็บ ได้รักษาสุขภาพ ได้ความปลอดภัย และได้แสดงความรักกับคนรอบข้าง

ย้ำกันอีกครั้งว่า ในการงดเหล้า ผู้ที่ดื่มแบบนาน ๆ ครั้ง ตอนที่หยุดดื่มอาจไม่มีอาการอะไร คงไม่มีปัญหาในการหยุดดื่มเหล้าด้วยตนเอง ผู้ที่จำเป็นต้องพึ่งแพทย์ คือ ผู้ที่ดื่มติดต่อกันเป็นเวลานาน ดื่มหนัก ๆ มาเป็นปี ๆ ดื่มแทบทุกวัน ตอนที่หยุดดื่มด้วยตัวเองแล้วมีอาการไม่สบายตัวควรจะพึ่งแพทย์ จะได้ปลอดภัยและหักดิบแบบไม่เสี่ยง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook