สาววัย 30+ ต้องตรวจสุขภาพอะไรบ้าง ?
สาว ๆ ยุคใหม่ที่มักจะออกมาทำงานนอกบ้าน รับผิดชอบชีวิตตัวเอง ไม่ได้ดูแลแค่งานบ้านเหมือนในสมัยก่อน ๆ หลายครั้งอาจจะวุ่นวายอยู่กับภารกิจรายวันจนละเลยเรื่องของสุขภาพกันไป ทำให้บ่อยครั้งกว่าจะรู้ว่ามีอาการป่วยก็ลุกลามรุนแรงจนรักษากันยาก
มาดูกันซักหน่อยว่าสาว ๆ โดยเฉพาะสาว ๆ ที่เริ่มเข้าสู่วัยเลข 3 ควรจะมีแนวทางการตรวจเช็กสุขภาพกันอย่างไรบ้าง มีโรคอะไรบ้างที่ควรระวังและตรวจดูกันอย่างสม่ำเสมอ เพราะสำหรับหลาย ๆ โรค หากตรวจพบได้เร็ว ก็อาจจะสามารถรักษาได้ง่ายกว่า และมีโอกาสหายขาดได้
- ตรวจเลือด-ตรวจปัสสาวะ
เป็นการตรวจสุขภาพมาตรฐาน ทั้งการตรวจ เม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว เกล็ดเลือด เพื่อดูความผิดปกติของค่าต่างๆ ทั้งเป็นข้อบ่งชี้ของอาการของโรคหลาย ๆ โรค ทั้ง ธาลัสซีเมีย ลิวคีเมีย ภาวะดีซ่าน โรคที่เกี่ยวกับตับ โรคที่เกี่ยวกับไต ไขมันในเลือด เบาหวาน ไทรอยด์ รวมถึงโรคติดเชื้อทั้งเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา และเชื้อไวรัส - การตรวจความผิดปกติของเต้านม หรือการตรวจมะเร็งเต้านม เพื่อหาความผิดปกติในระยะแรกเริ่ม
เพราะการดำเนินชีวิตในปัจจุบัน มีการเกี่ยวข้องกับสารเคมีกันมากขึ้น โดยเฉพาะในอาหารซึ่งมักจะมีฮอร์โมนในปริมาณที่สูง ไม่ว่าจะเป็นสารเร่งการเจริญเติบโตของหมู หรือ ไก่ รวมถึงการใช้ยาในสัตว์ต่างๆ เมื่อได้รับสารเคมี และฮอร์โมนเหล่านี้เข้าไปในร่างกายแล้ว ก็อาจส่งผล ไปกระตุ้นเซลล์ให้เติบโตผิดปกติและกลายเป็นเซลล์มะเร็งได้ สาว ๆ ที่มีอายุ ตั้งแต่ 35 ปีขึ้นไปจึงควร ตรวจมะเร็งเต้านมด้วยตัวเองเป็นประจำ และอาจใช้การตรวจด้วยเครื่องแมมโมแกรม (Mammogram) หรืออัลตราซาวด์ (Ultrasound) เพื่อหาก้อนเนื้อที่ผิดปกติอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง - การตรวจมะเร็งปากมดลูก หรือ HPV โดยส่วนใหญ่ไวรัสนี้จะติดต่อผ่านการมีเพศสัมพันธ์ ดังนั้น สาว ๆ ทุกคนที่เคยมีเพศสัมพันธ์ต่างก็มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคทุกคน ทุกวันนี้พบว่าโรคนี้ เกิดขึ้นในกลุ่มสาวๆ ที่มีอายุเฉลี่ยต่ำลงกว่าเดิม เนื่องจากมีเพศสัมพันธ์เร็วขึ้น การตรวจมะเร็งปากมดลูกระยะแรกเริ่ม สามารถทำได้โดย วิธีแปปสเมียร์ (Pap Smear) หรือ ตรวจด้วยวิธีอื่นๆ เพื่อหาการติดเชื้อไวรัส HPV สำหรับข้อแนะนำสำหรับสาว ๆ นอกเหนือจากการตรวจแล้ว แนะนำว่าควรป้องกันมะเร็งปากมดลูกด้วยการฉีดวัคซีนด้วย
- การตรวจวัดความหนาแน่นกระดูก
เนื่องจาก 20% ของสาว ๆ ที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป มักจะมีอาการกระดูกพรุน ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดกระดูกหักได้ง่าย ก็เพราะโดยทั่วไปแล้ว เมื่อสาว ๆ ถึงวัยหมดประจำเดือน ร่างกายจะไม่มีการผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen Hormone) ซึ่งเป็นตัวควบคุมการดูดซึมแคลเซียม (Calcium) เข้าสู่ร่างกาย ประกอบกับธรรมชาติที่มวลกระดูกของผู้หญิงจะน้อยกว่าผู้ชาย จึงทำให้เกิดภาวะกระดูกพรุนได้ง่ายยิ่งขึ้น ทำให้สาว ๆ ในวัยหมดประจำเดือนหรือวัยทองจึงมักจะมีปัญหาสุขภาพกระดูก และข้อมากกว่าผู้ชาย โดยเฉพาะโรคกระดูกพรุน และกระดูกบาง สาวๆ จึงควรตรวจวัดความหนาแน่นกระดูกอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง - การตรวจหัวใจและหลอดเลือด
โรคเกี่ยวกับหัวใจ และหลอดเลือดเป็น 1 ใน 3 ของสาเหตุการเสียชีวิตที่สูงที่สุด โดยเฉพาะเป็นโรคที่ไม่มีอาการเบื้องต้นเป็นข้อบ่งชี้ มีสาเหตุสำคัญของการเกิดโรค ได้แก่ คอเลสเตอรอลสูง เป็นโรคเบาหวานเรื้อรัง ความอ้วน ความเครียด การไม่ออกกำลังกาย รวมถึงการสูบบุหรี่อีกด้วย การตรวจหัวใจ และหลอดเลือดจึงเป็นเรื่องที่ไม่ควรละเลยอีกเรื่องหนึ่งเลยทีเดียว
เอาล่ะ กับ 5 เรื่องที่ควรระวัง และตรวจเช็คอย่างสม่ำเสมอ ได้รับทราบกันแล้ว อย่าละเลย ถึงเวลาหาหมอตรวจสุขภาพกันซักหน่อยแล้วล่ะ