โรคที่มากับภัย "น้ำท่วม"

โรคที่มากับภัย "น้ำท่วม"

โรคที่มากับภัย "น้ำท่วม"
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เมื่อเกิดภัยน้ำท่วมขึ้น สิ่งที่เราควรจะทำมากที่สุดก็คือการตั้งสติ ติดตามข่าวสาร และอพยพขึ้นที่สูงให้เร็วที่สุด ในกรณีที่สถานการณ์น้ำท่วมขึ้นสูง หรือไม่มีทีท่าว่าจะดีขึ้น ควรทำตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่อย่างเคร่งครัด และแน่นอนว่าสิ่งที่มากับน้ำท่วม ไม่ได้สร้างแค่ความเสียหายหรือความเดือดร้อนแก่ชาวบ้านเท่านั้น แต่ในสถานการณ์น้ำท่วมยังมีทั้งพวกสัตว์เลื้อยคลาน รวมถึงโรคภัยที่อาจจะตามมาได้อีกด้วย ดังนั้นวันนี้เราจึงได้รวบรวมโรคที่จะมากับภัยน้ำท่วม และวิธีป้องกันมาฝากกัน

1. โรคติดต่อทางเดินหายใจ : ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ ปอดอักเสบ

อาการสำคัญ

  • มีอาการไข้ (ตัวร้อน) เจ็บคอ มีน้ำมูก ไอ
  • สำหรับไข้หวัดใหญ่ มักมีอาการปวดเมื่อยมาก และเบื่ออาหารร่วมด้วย
  • สำหรับปอดอักเสบ มักมีอาการไอมีเสมหะเหลืองหรือเขียว เจ็บหน้าอก และหายใจหอบร่วมด้วย

วิธีป้องกัน

  • ดูแลร่างกายให้อบอุ่นอยู่เสมอ หลีกเลี่ยงการเล่นน้ำหรือแช่น้ำเป็นเวลานาน ไม่สวมเสื้อผ้าที่เปียกชื้น เช็ดตัวให้แห้งอยู่เสมอ และสวมเสื้อผ้าให้หนาพอหากอากาศเย็น
  • หลีกเลี่ยงการใกล้ชิดกับผู้ป่วยไข้หวัด ปิดปากและจมูกด้วยผ้าหรือกระดาษทิชชู หากจำเป็นต้องเข้าใกล้หรือเดินผ่านผู้ป่วยที่เป็นไข้หวัด ไม่ใช้สิ่งของส่วนตัวร่วมกับผู้ป่วย
  • ในช่วงที่มีไข้หวัดเกิดขึ้น ทั้งผู้ป่วยและคนที่อยู่ในละแวกใกล้เคียง ควรล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่ หรือใช้เจลแอลกอฮอล์ชโลมมือ
  • สำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงเช่น อายุมากกว่า 65 ปี ผู้ที่เป็นเบาหวาน โรคหัวใจ หืด ถุงลมปอดโป่งพอง โรคตับเรื้อรัง โรคไตเรื้อรัง เอดส์ หญิงตั้งครรภ์ ผู้ที่สูบบุหรี่ หรือมีภาวะอ้วน ควรฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ป้องกัน

2. โรคติดต่อทางเดินอาหาร : ท้องเดิน อาหารเป็นพิษ บิด อหิวาต์ ไข้ไทฟอยด์

อาการสำคัญ

  • ถ่ายอุจจาระเหลว หรือถ่ายเป็นน้ำ หรือถ่ายมีมูกเลือด ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน และอาจมีไข้ร่วมด้วย
  • สำหรับไข้ไทฟอยด์ มักมีไข้สูงตลอดเวลานานเป็นสัปดาห์ ปวดศีรษะ เบื่ออาหาร นอนซม

วิธีป้องกัน

  • กินอาหารที่ปรุงสุกและสะอาด ไม่บูดเสีย ไม่กินอาหารที่มีแมลงวันตอม หรือทิ้งค้างคืน หรือมีกลิ่นบูด
  • ดื่มน้ำสะอาด เช่น น้ำขวด น้ำต้มสุก
  • ล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำกับสบู่ ก่อนปรุงและเตรียมอาหาร ก่อนรับประทานอาหาร และหลังการขับถ่าย (ทั้งผู้ป่วยและคนทั่วไป)
  • ห้ามถ่ายอุจจาระลงน้ำโดยตรง ควรถ่ายลงส้วมที่ดัดแปลงเฉพาะ หรือให้ถ่ายลงในถุงพลาสติก แล้วใส่ปูนขาวจำนวนพอสมควร ปิดปากถุงให้แน่น แล้วนำไปใส่ในถุงดำ (ถุงขยะ)

3. โรคติดต่อจากยุง : ไข้เลือดออก ไข้มาลาเรีย

อาการสำคัญ

  • มีไข้สูง ปวดศีรษะ เบื่ออาหาร นอนซม มักไม่มีน้ำมูกหรือไอ
  • สำหรับไข้เลือดออก (เกิดจากยุงลายกัด พบในชุมชนทั่วไป) มักมีไข้สูงตลอดเวลา หน้าแดงตาแดง ปวดท้อง อาเจียน มีผื่นขึ้น หรือมีจุดแดงจ้ำเขียวตามผิวหนัง
  • สำหรับไข้มาลาเรีย (เกิดจากยุงก้นปล่องกัด พบในเขตป่าเขา) มักมีอาการจับไข้หนาวสั่นเป็นเวลา ทุกวันหรือวันเว้นวัน

วิธีป้องกัน

  • ระวังอย่าให้ยุงกัดทั้งในเวลากลางวันและกลางคืน โดยนอนในมุ้ง ใส่เสื้อแขนยาวและกางเกงขายาว ห่มผ้าหนาๆ ใช้กับดักยุง ทายากันยุง หรือใช้ตะไคร้หอมหรือใบกะเพราตำ คั้นน้ำนำมาทาตัว
  • กำจัดลูกน้ำและแหล่งเพาะพันธุ์ยุงในบริเวณบ้าน โดยปิดฝาภาชนะเก็บน้ำ คว่ำหรือทำลายภาชนะไม่ให้มีน้ำขัง ใช้ผงซักฟอกโรยในภาชนะหรือวัสดุที่มีน้ำขัง เช่น กระถาง จานรองตู้กับข้าว ในสัดส่วน 1 ช้อนโต๊ะ (15 มล.) ต่อน้ำ 2 ลิตร หรือปล่อยปลาหางนกยูง หรือปลากัดลงในบ่อน้ำและภาชนะที่ใส่น้ำที่ไม่ได้ใช้ดื่มกิน
  • กำจัดยุงโดยใช้ผงซักฟอก สบู่เหลว แชมพู หรือน้ำยาล้างจาน 1 ช้อนโต๊ะ (15 มล.) ผสมน้ำ 1 ลิตร ค่อยๆ คนอย่าให้เป็นฟอง แล้วใส่กระบอกฉีดน้ำ นำไปฉีดยุงที่เกาะตามบริเวณบ้าน

4. โรคติดต่ออื่นๆ : ไข้ฉี่หนู โรคตาแดงระบาด

อาการสำคัญของไข้ฉี่หนู (เล็ปโตสไปโรซิส) คือ มีไข้สูง ปวดศีรษะ เบื่ออาหาร ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อน่อง ตาแดง ตาเหลือง สำหรับการรักษาเบื้องต้นให้การดูแลผู้ที่มีไข้ เช่นเดียวกับไข้เลือดออกและไข้มาลาเรีย

วิธีป้องกัน

  • หลีกเลี่ยงการแช่น้ำ ลุยน้ำย่ำโคลนโดยไม่จำเป็น
  • หากจำเป็นต้องย่ำน้ำ ควรสวมรองเท้าบู๊ตยางกันน้ำ โดยเฉพาะผู้ที่มีบาดแผลต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ
  • หากจำเป็นต้องแช่น้ำ อย่าแช่นาน เมื่อขึ้นจากน้ำ ควรรีบชำระร่างกายให้สะอาดและซับให้แห้งทันที
  • เก็บอาหารในภาชนะที่ปิดมิดชิด และเก็บกวาดขยะใส่ถุงพลาสติกหรือถังขยะที่ปิดมิดชิด ไม่ให้เป็นแหล่งอาหารของหนู
  • ดูแลที่พักให้สะอาด ไม่ให้เป็นที่พักของหนู

อาการสำคัญของโรคตาแดงระบาด (เยื่อตาขาวอักเสบเกิดจากเชื้อไวรัส) คือ ระคายเคืองตา ปวดตา น้ำตาไหล กลัวแสง มีขี้ตา หนังตาบวม ตาแดง อาจเริ่มที่ตาข้างหนึ่งก่อน แล้วจึงลามไปตาอีกข้างหนึ่ง บางคนอาจมีไข้ร่วมด้วย มักพบว่ามีการระบาด

วิธีป้องกัน

  • หมั่นล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำกับสบู่
  • ไม่ควรขยี้ตา อย่าให้แมลงตอมตา
  • ไม่ใช้สิ่งของส่วนตัวร่วมกับคนอื่น โดยเฉพาะผู้ที่เป็นโรคตาแดง

5. โรคผิวหนัง : ผื่นคัน โรคเชื้อรา น้ำกัดเท้า

อาการสำคัญ

  • ผื่นคัน เกิดจากการย่ำน้ำ หรือถูกยุงกัด แล้วเกิดระคายเคืองหรือแพ้สัมผัส จะมีอาการเป็นผื่นหรือตุ่มคันที่บริเวณที่สัมผัสน้ำ หรือถูกยุงกัด มักขึ้นพร้อมกันหลายจุด
  • โรคเชื้อรา เกิดจากการติดเชื้อรา จะมีอาการเป็นผื่นเปื่อยยุ่ย สีขาวที่ง่ามนิ้วเท้า ฝ่าเท้า อาจมีอาการคันร่วมด้วย
  • โรคน้ำกัดเท้า เกิดจากการแช่เท้าในน้ำนานๆ คือครั้งละเกิน 1 ชม. และมีการติดเชื้อตามมา โดยจะมีอาการผิวหนังเปื่อยยุ่ย ลอกเป็นขุยหรือเป็นแผ่น คันตามซอกนิ้วเท้า ต่อมามีผื่นพุพอง ผิวหนังอักเสบบวมแดง เป็นหนอง (ซึ่งมักเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน)

วิธีป้องกัน

  • หลีกเลี่ยงการลุยน้ำย่ำโคลนโดยไม่จำเป็น กำจัดยุง ระวังอย่าให้ยุงกัด
  • ถ้าจำเป็นควรสวมรองเท้าบู๊ตยางกันน้ำ
  • หากต้องย่ำน้ำโดยไม่สวมรองเท้าบู๊ต ก่อนลงน้ำควรใช้ขี้ผึ้งวาสลิน ขี้ผึ้งรักษากลากเกลื้อน หรือจาระบีทาเท้าและง่ามนิ้วเท้าให้ทั่วทั้งสองข้าง เมื่อขึ้นจากน้ำ ควรล้างเท้าให้สะอาดด้วยน้ำกับสบู่และซับให้แห้งทันที

6. โรคทางเดินปัสสาวะอักเสบ

เกิดจากการติดเชื้อ เนื่องจากการอั้นปัสสาวะเพราะความไม่สะดวก การพะวงกับงาน การสู้ภัยหรือเดินทางไกล หรือความกลัวจากสัตว์ร้ายที่หนีเข้าในห้องน้ำ พบในผู้หญิงได้บ่อยกว่าผู้ชาย อาการสำคัญ คือ ถ่ายปัสสาวะแสบขัด กะปริดกะปรอย ปวดท้องน้อย อาจมีไข้ร่วมด้วย

วิธีป้องกัน

  • ไม่อั้นปัสสาวะ ถ้ากลางคืนไม่สะดวกเข้าห้องน้ำ ควรถ่ายลงกระโถน
  • รักษาบริเวณก้นให้สะอาด เช็ดชำระก้นให้สะอาดหลังถ่ายอุจจาระ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook