ผู้ป่วย 4 โรค เริ่ม “รับยาที่ร้านขายยาใกล้บ้าน” 1 ต.ค. นี้ ลดแออัดใน รพ.
การเดินทางมารับยาในแต่ละครั้งของผู้ป่วยที่ได้รับการรักษา และต้องรับประทานยาอย่างต่อเนื่อง อาจเป็นภาระทั้งกับตัวผู้ป่วย และบุคลากรทางการแพทย์เองในช่วงที่มีผู้ใช้บริการในโรงพยาบาลเป็นจำนวนมาก อาจต้องตื่นแต่เช้าตรู่เพื่อไปนั่งรอหลายชั่วโมง แล้วรับยาแค่ไม่กี่นาที
ดังนั้น กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จึงเริ่มโครงการลดความแออัดในโรงพยาบาลโดยใช้กลไกร้านยา ให้กับกลุ่มผู้ป่วย 4 โรงที่ต้องเข้ารับยาที่โรงพยาบาลอย่างต่อเนื่อง ได้แก่
- โรคเบาหวาน
- โรคความดันโลหิตสูง
- โรคหอบหืด
- โรคจิตเวช
รวมถึงโรคเรื้อรังอื่น ๆ ที่ไม่ซับซ้อน
โดยโครงการนี้เริ่มต้นวันที่ 1 ตุลาคม 2562 เป็นต้นไป นำร่องกับ 3 โรงพยาบาลใหญ่ สังกัดกรมแพทย์ และยังมีอีก 50 โรงพยาบาลทั่วประเทศ และร้ายขายยาที่ร่วมโครงการอีกกว่า 500 ร้าน
ยกตัวอย่างโรงพยาบาล และร้านขายยาที่ร่วมรายการบางแห่ง เช่น
- รพ.ราชวิถี มีเครือข่ายร้านยา ขย.1 ที่เข้าร่วมโครงการ ได้แก่ ร้าน Boots สาขายูเนี่ยนมอลล์ ลาดพร้าว, ร้านขายยาเซฟดรัก เซนเตอร์ สาขาบิ๊กซี แจ้งวัฒนะ
- รพ.เลิดสิน มีเครือข่ายร้านยา ขย.1 ที่เข้าร่วมโครงการ ได้แก่ ร้านฟาสซิโน สาขาสีลม(ซอยละลายทรัพย์), ร้านเอ็กตร้าพลัส สาขาปุณณวิถี 28,ร้านยาเคยู ฟาร์มา
- รพ.นพรัตนราชธานี มีเครือข่ายร้านยา ขย.1 ที่เข้าร่วมโครงการ ได้แก่ ร้านยาฟาสซิโน สาขา ปตท.สุขาภิบาล, ร้านยา Pure สาขาแฟชั่นไอแลนด์และร้านขายยาเซฟดรัก เซนเตอร์
นอกจากนี้ ยังสามารถตรวจสอบรายชื่อร้านขายยาที่ร่วมโครงการได้ทั้งหมด ที่นี่ หรือสอบถามข้อมูลร้านยาที่เข้าร่วมโครงการได้ตลอด 24 ชั่วโมง ที่สายด่วน สปสช.โทร 1330
ทำอย่างไรถึงจะรับยาที่ร้านขายยาใกล้บ้านได้ ?
- เป็นผู้ป่วยโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง หอบหืด จิตเวช หรือโรคเรื้อรังไม่รุนแรงซับซ้อนอื่น ๆ ที่ใช้สิทธิบัตรทอง
- เข้ารับการตรวจร่างกาย รักษากับแพทย์ที่โรงพยาบาลตามปกติ หากจำเป็นต้องได้รับยาต่อเนื่อง และแจ้งความประสงค์ขอรับยาที่ร้านขายยาใกล้บ้าน
- แพทย์ทำการตรวจเพื่อเช็กสภาพร่างกายว่าสามารถรับยาที่ร้านขายยาใกล้บ้านเองได้หรือไม่
- หากประเมินอาการผู้ป่วยแล้วสามารถรับยาเองที่ร้านขายยาได้ แพทย์จะให้ผู้ป่วยแจ้งความสมัครใจขอรับยาที่ร้านขายยาใกล้บ้านที่ร่วมโครงการกับทางโรงพยาบาล
- แพทย์สั่งจ่ายยาให้ผ่านใบสั่งยา ที่ผู้ป่วยสามารถนำไปยื่นที่ร้านขายยาได้ โดยสามารถรับคำแนะนำในการใช้ยา หรือแจ้งปัญหาจากการใช้ยาได้ที่เภสัชกร เภสัชกรสามารถบันทึกผลตอบรับการใช้ยาจากผู้ป่วยไปให้แพทย์ที่ทำการรักษาได้
ตรวจร่างกายเบื้องต้นก่อนรับยา และยังต้องพบแพทย์หากจำเป็น
โรงพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการจะดำเนินการจัดยารายบุคคลส่งให้ร้านยา พร้อมให้เภสัชกรช่วยประเมินความร่วมมือในการใช้ยาของผู้ป่วย เช่น วัดความดัน หรือ ประเมินระดับน้ำตาลในเลือดผู้ป่วยในกลุ่มเบาหวาน ประเมินหลอดลมของผู้ป่วยโรคหอบหืด หรือหากพบผู้ป่วยมีความเสี่ยงให้ส่งตัวมาโรงพยาบาล พร้อมกับรายงานข้อมูลการเข้ารับยาของผู้ป่วยตามระบบของโรงพยาบาล โดยเน้นย้ำว่า ประชาชนจะได้รับความสะดวกสบาย และไม่ต้องเสียค่าบริการใด ๆ เพิ่มเติม สอบถามข้อมูลร้านยาที่เข้าร่วมโครงการได้ตลอด 24 ชั่วโมง ที่สายด่วน สปสช.โทร 1330 นอกจากนี้ผู้ป่วยยังคงต้องเข้ารับการตรวจร่างกายจากแพทย์ หากแพทย์ทำการนัดหมายติดตามอาการอย่างละเอียด เพื่อหยุดยาหากไม่จำเป็นต้องรับยาอีก หรือมีเหตุให้ต้องรักษาด้วยวิธีอื่น เป็นต้น