“โปรตีนจากพืช” กินมาก ๆ ส่งผลเสียต่อร่างกายหรือไม่ ?
เทรนด์ดูแลสุขภาพทั้งแบบเอเชีย และตะวันตก ไปในทางเดียวกัน นั่นคือการลดการรับประทานเนื้อสัตว์ โดยเฉพาะเนื้อแดง และหันมารับประทานผักผลไม้ให้มากขึ้น ซึ่งอาจนำไปสู่ความคิดที่อยากจะเริ่มกิน “มังสวิรัติ” อย่างจริงจังขึ้นมาได้ แต่การกินมังสวิรัติให้ได้รับคุณค่าทางสารอาหารให้ครบ 5 กมู่ อาจจะต้องเลี่ยงการรับโปรตีนจากเนื้อสัตว์ไปที่พืชแทน แล้วโปรตีนจากพืชส่งผลอย่างไรต่อร่างกายบ้าง และแตกต่างจากโปรตีนจากเนื้อสัตว์อย่างไร
โปรตีนจากเนื้อสัตว์
เนื้อสัตว์ ประกอบไปด้วยสารอาหารมากมายที่นอกเหนือไปจากโปรตีนที่เป็นสัดส่วนของสารอาหารที่มากที่สุด โดยเรียกว่าเป็น “โปรตีนสมบูรณ์” เพราะเป็นโปรตีนที่มาพร้อมกับกรดอะมิโน 9 ชนิด ได้แก่ ฮีสทิดีน (histidine) ไอโซลิวซีน (isoleucine) ลิวซีน (leucine) ไลซีน (lysine) เมไธโอนีน (methionine) ฟีนิละลานีน (phenylalanine) ธรีโอนีน(threonine) ทริปโทแฟน (tryptophan) และวาลีน (valine)
โปรตีนจากพืช
สำหรับโปรตีนที่มากับพืช ส่วนใหญ่จะไม่ได้มาพร้อมกับกรดอะมิโนที่จำเป็นต่อร่างกายอย่างครบถ้วนเท่าเนื้อสัตว์ มีเพียงถั่วเหลืองที่ถือว่ามีโปรตีนสมบูรณ์ที่มาพร้อมกรดอะมิโนที่ร่างกายต้องการครบที่สุดในบรรดาพืชที่มีโปรตีนทั้งหมด นอกจากนี้การรับประทานพืชที่มีโปรตีนให้ได้ปริมาณที่เท่ากับการได้รับโปรตีนจากเนื้อสัตว์ จำเป็นจะต้องรับประทานโปรตีนจากพืชให้มากเพียงพอ ถึงจะทดแทนในส่วนของโปรตีนที่ต้องการได้รับในแต่ละวันได้
การรับประทานโปรตีนจากพืช ไม่ได้ส่งผลเสียใด ๆ ต่อร่างกาย เว้นแต่ว่าจะรับประทานโปรตีนไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย ดังนั้นจึงควรรับประทานโปรตีนจากพืชให้มากเพียงพอ และเลือกรับประทานให้หลากหลาย เพื่อให้ได้คุณค่าทางสารอาหารอย่างหลากหลายไปด้วย
พืชที่มีโปรตีน
พืชที่มีโปรตีน ที่มังสวิรัติกินได้ ได้แก่ ถั่วเมล็ดแห้ง ถั่วต่าง ๆ ข้าว ข้าวสาลี ข้าวโพด เต้าหู้ นมถั่วเหลือง ธัญพืช เนยถั่ว นม ไข่ โยเกิร์ต เห็ด ต้นอ่อนผัก เป็นต้น
ปริมาณโปรตีนที่เหมาะสม
การรับประทานโปรตีนไม่เพียงพอส่งผลให้กล้ามเนื้อไม่แข็งแรง รวมไปถึงระบบการทำงานภายในร่างกายไม่สมบูรณ์ รวมไปถึงการรับประทานโปรตีนมากเกินไป อาจเพิ่มการทำงานของตับ ไตในการกำจัดโปรตีนส่วนเกิน, เกิดภาวะไม่สมดุลของกรด-ด่างในร่างกาย ร่างกายจะพยายามรักษาสมดุลโดยการดึงแคลเซียมมาใช้มากกว่าปกติ ส่งผลให้เกิดภาวะขาดแคลเซียม ภาวะกระดูกพรุนได้ นอกจากการขับโปรตีนส่วนเกินออกทางปัสสาวะแล้ว ร่างกายยังสามารถสะสมโปรตีนส่วนเกินในรูปของไขมันได้อีกด้วย
ปริมาณโปรตีนที่เหมาะสมกับร่างกายของเรา หลักทั่วไปคือ เราต้องการอย่างน้อย 0.8 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม เช่น หนัก 50 กิโลกรัม จะต้องการโปรตีนอย่างน้อย 40 กรัมต่อวัน หรือประมาณ 13 กรัมต่อมื้อ เราสามารถทราบปริมาณโปรตีนได้จากข้อมูลโภชนาการบนบรรจุภัณฑ์ของผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ
โดยโปรตีน 1 กรัม ให้พลังงาน 4 แคลอรี สามารถรักษาสมดุลของอาหารในแต่ละมื้อได้เพื่อให้ได้ตลอดทั้งวันรับประทานอาหารที่มีพลังงานมากจนเกินความจำเป็น จนทำให้เป็นสาเหตุของโรคอ้วนได้