5 โรค 3 ภัยสุขภาพ ในช่วงฤดูหนาว

5 โรค 3 ภัยสุขภาพ ในช่วงฤดูหนาว

5 โรค 3 ภัยสุขภาพ ในช่วงฤดูหนาว
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ออกประกาศเตือนประชาชนให้ระมัดระวังการเจ็บป่วยด้วยโรคและภัยสุขภาพในช่วงฤดูหนาวปีนี้ เน้นดูแลสุขภาพและป้องกันตนเองจาก 5 โรคติดต่อ และ 3 ภัยสุขภาพที่สำคัญ พร้อมสั่งการหน่วยงานในสังกัดให้ติดตามสถานการณ์ของโรคร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง เพื่อควบคุม ป้องกัน การแพร่ระบาดของโรค และลดการเจ็บป่วยและเสียชีวิตของประชาชนให้ได้มากที่สุด

ฤดูหนาว แม้ไม่หนาวมาก แต่ก็ยังอันตรายต่อสุขภาพ

นายแพทย์สุวรรณชัย  วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยเข้าสู่ช่วงฤดูหนาวแล้ว ทำให้เชื้อโรคบางชนิดสามารถแพร่กระจายได้ง่ายกว่าในฤดูกาลอื่น ดังนั้น กรมควบคุมโรค จึงมีความห่วงใยสุขภาพของประชาชนในช่วงฤดูหนาว จึงได้ออกประกาศกรมควบคุมโรค เรื่อง การป้องกันโรคและภัยสุขภาพที่เกิดในช่วงฤดูหนาวของประเทศไทย พ.ศ. 2562 ซึ่งโรคและภัยสุขภาพที่มีแนวโน้มจะพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นในฤดูหนาว แบ่งเป็น 2 กลุ่มคือ

1. โรคติดต่อ ได้แก่ โรคหัด โรคปอดอักเสบ โรคไข้หวัดใหญ่ โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลันจากเชื้อไวรัส โรคมือ เท้า ปาก

2. ภัยสุขภาพ ได้แก่ การเสียชีวิตที่เกี่ยวเนื่องจากภาวะอากาศหนาว การสูดดมก๊าซพิษและขาดอากาศหายใจจากเครื่องทำน้ำอุ่นระบบก๊าซ และการเกิดอุบัติเหตุทางถนนในช่วงอากาศหนาวและหมอกจัด 

 

  1. โรคหัด

โรคหัด จะมีอาการคล้ายไข้หวัด หลังมีไข้ 3-4 วัน จะเริ่มมีผื่นนูนแดงขึ้น 1-2 วัน ไข้จะเริ่มลดลง และผื่นจะจางหายไปประมาณ 2 สัปดาห์ โรคนี้สามารถป้องกันได้ด้วยวัคซีน

  1. โรคไข้หวัดใหญ่

โรคไข้หวัดใหญ่จะมีอาการไข้ ไอ มีน้ำมูก ปวดเมื่อยตามตัว โรคนี้ป้องกันได้โดยการดูแลสุขภาพของตัวเองให้แข็งแรง หากมีอาการดังกล่าว แนะนำให้หยุดเรียนหรือหยุดงานทันที และรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษา

  1. โรคปอดอักเสบ

โรคปอดอักเสบ ผู้ป่วยจะมีไข้ หายใจลำบาก หนาวสั่น อุณหภูมิร่างกายต่ำกว่าปกติ โรคนี้ป้องกันโดยหลีกเลี่ยงอยู่ในที่ที่มีผู้คนแออัด ล้างมือบ่อย ดื่มน้ำมากๆ รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ หากสงสัยว่ามีอาการดังกล่าว ควรรีบไปพบแพทย์ทันที

  1. โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลันจากเชื้อไวรัส

โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน จะมีอาการไข้ อาเจียน อุจจาระร่วงอย่างรุนแรง ทำให้เสียน้ำมาก สำหรับการรักษา จะรักษาตามอาการ เช่น ยาแก้อาเจียน ยาแก้ปวดท้อง และให้เกลือแร่ทดแทน โรคนี้ป้องกันโดยการรับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ ดื่มน้ำสะอาด และหมั่นล้างมือบ่อย ๆ

  1. โรคมือ เท้า ปาก

โรคมือ เท้า ปาก พบบ่อยในกลุ่มเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี ผู้ป่วยจะมีแผลหรือตุ่มในช่องปาก กระพุ้งแก้ม หรือมีผื่นแดงบริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้า สำหรับการรักษาจะรักษาตามอาการป่วย ผู้ปกครองและครูจะต้องสังเกตอาการผิดปกติของเด็ก ถ้าพบว่าเด็กมีอาการดังกล่าว ให้แยกเด็กป่วยออกจากเด็กปกติทันที

วิธีป้องกันอันตรายต่อสุขภาพในช่วงฤดูหนาว

นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า ภัยสุขภาพที่ควรระมัดระวังในช่วงฤดูหนาว ได้แก่

1. การเสียชีวิตที่เกี่ยวเนื่องจากภาวะอากาศหนาว 
มักเกิดขึ้นในกลุ่มผู้สูงอายุ และผู้มีโรคประจำตัว วิธีการป้องกันตนเองจากภัยหนาว คือ

  • ไม่ดื่มสุราและเสพของมึนเมา
  • รักษาร่างกายให้อบอุ่น
  • ดูแลผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัว เด็กเล็กอย่างใกล้ชิด
  • จัดหาเสื้อผ้าหรือเครื่องนุ่งห่มกันหนาวและที่อยู่อาศัยให้เหมาะสม
  • สังเกตอาการผู้ป่วยหลังกินยารักษาโรคบางชนิดที่มีผลต่อร่างกายในภาวะอุณหภูมิร่างกายต่ำลง

2. การสูดดมก๊าซพิษ และขาดอากาศหายใจจากเครื่องทำน้ำอุ่นระบบก๊าซ 
ในช่วงนี้ประชาชนมักเดินทางไปพักผ่อนตามรีสอร์ท หรือบ้านพักต่าง ๆ ซึ่งอาจมีการติดตั้งเครื่องทำน้ำอุ่นระบบแก๊สแทนระบบไฟฟ้า นักท่องเที่ยวจึงต้องเพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะอาจได้รับอันตรายจากการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ ทำให้เกิดก๊าซคาร์บอนมอนนอกไซด์ หากสูดดมเข้าไปในปริมาณมากจะมีอาการวิงเวียน มึนงง หน้ามืด หมดสติ คำแนะนำคือ ให้ตรวจสอบเครื่องทำน้ำอุ่นระบบแก๊สให้ได้มาตรฐานและปลอดภัย มีการติดตั้งพัดลมดูดอากาศ ติดป้ายเตือน และบอกวิธีใช้งาน หากในขณะอาบน้ำแล้วได้กลิ่นแก๊ส ควรรีบออกจากห้องน้ำทันที

3. การเกิดอุบัติเหตุทางถนนในช่วงอากาศหนาวและหมอกจัด
การเดินทางในช่วงนี้อาจเจอหมอกลงจัดและทัศนะวิสัยที่ไม่ดี เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุทางถนนได้ง่าย คำแนะนำสำหรับผู้ใช้รถใช้ถนนมีดังนี้

  • ตรวจสอบสภาพอากาศและเส้นทางก่อนเดินทาง หากทัศนะวิสัยไม่ดี หมอกลงจัด ไม่ควรเดินทาง
  • พักผ่อนให้เพียงพอก่อนขับทางไกล
  • ตรวจสอบสภาพเครื่องยนต์ ให้อยู่ในสภาพปลอดภัยและพร้อมใช้งาน
  • ปฏิบัติตามกฎจราจร คาดเข็มขัด และสวมหมวกนิรภัยทุกครั้ง

ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรค ได้จัดทำประกาศแจ้งเตือนให้ระวังโรคและภัยสุขภาพไปยังหน่วยงานในพื้นที่ ประกอบด้วย สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานป้องกันควบคุมโรคทั้ง 12 แห่ง และสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง พร้อมสังการหน่วยงานในสังกัด เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ของโรคร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่อย่างต่อเนื่องและใกล้ชิด เพื่อควบคุม ป้องกัน การแพร่ระบาดของโรคติดต่อ รวมถึงสื่อสารและประชาสัมพันธ์ให้ความรู้แก่ประชาชน เพื่อลดการเจ็บป่วยและเสียชีวิตของประชาชนให้ได้มากที่สุด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook