5 วิธีรับมือในวันที่เมืองเปื้อน "ฝุ่น PM 2.5 - เชื้อไวรัส"

5 วิธีรับมือในวันที่เมืองเปื้อน "ฝุ่น PM 2.5 - เชื้อไวรัส"

5 วิธีรับมือในวันที่เมืองเปื้อน "ฝุ่น PM 2.5 - เชื้อไวรัส"
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ในช่วงปลายฝนต้นหนาวแบบนี้ อากาศมักเปลี่ยนแปลงบ่อย บางวันอากาศก็เย็นลง บางวัน ก็มีฝนมาให้ชุ่มฉ่ำ ซึ่งในช่วงอากาศแบบนี้จะมีแต่ความชื้นที่เพิ่มขึ้น ทำให้การแพร่กระจายของเชื้อโรคหลายชนิดเพิ่มมากขึ้นด้วยเช่นกัน จึงไม่แปลกที่ในช่วงนี้เราจะพบผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ และโรคระบบทางเดินหายใจเพิ่มขึ้นอยู่เสมอ แถมปีนี้เจ้าฝุ่นพิษขนาดจิ๋ว PM 2.5 ก็กลับมาเยี่ยมคนกรุงเทพฯ ซ้ำเข้าไปอีก แม้ภาพรวมในครั้งนี้จะมีท่าทีว่าปริมาณฝุ่นคงไม่หนัก เท่ากับครั้งที่ผ่านมา แต่จากเว็บไซต์ AirVisual ที่รายงานดัชนีคุณภาพอากาศทั่วโลกแบบเรียลไทม์ ก็ยังมีการเผยช่วงเวลา ที่สภาพอากาศของกรุงเทพมหานคร ปกคลุมไปด้วยฝุ่นละออง จนเด้งขึ้นไปติดอันดับ 1 ของโลกที่มีค่าปริมาณฝุ่น PM 2.5 มากที่สุดจนได้

ไข้หวัดใหญ่  เกิดจากการติดเชื้อไวรัสอินฟลูเอนซา (Influenza virus) ซึ่งเชื้อนี้มีหลายชนิด แต่ที่เราจะได้ยินบ่อย ๆ คือ ไวรัสชนิด A หรือ H1N1, ไวรัสชนิด B และชนิด C โดยทั่วไปไข้หวัดใหญ่ มักจะมีอาการที่รุนแรงมากกว่าไข้หวัดธรรมดา โดยสังเกตได้จากอาการที่มักเกิดขึ้นทันทีทันใด ต่างจากไข้หวัดธรรมดามักจะมีอาการค่อยเป็นค่อยไป ไข้หวัดใหญ่มักมีไข้สูงติดกันหลายวันโดยเฉพาะในเด็กจะมีไข้สูงลอยเกินกว่า 39-40 องศาเซลเซียสติดต่อกัน 3-4 วัน อาการอื่น ๆ เช่น อาการหนาวสั่นสะท้าน ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อ่อนเพลียอย่างมาก และเบื่ออาหาร ความน่ากลัวของไข้หวัดใหญ่ คือ การเกิดภาวะแทรกซ้อนของโรค ได้แก่ โรคปอดอักเสบ และโรคสมองอักเสบ ซึ่งมักเกิดกับผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงคือ เด็กเล็ก ผู้สูงอายุและผู้ที่มีโรคประจำตัวบางอย่าง เช่น โรคหัวใจ โรคปอด ฯลฯ

โรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจอื่น ๆ เช่น โรคหวัด ไข้หวัดใหญ่ คออักเสบ หลอดลมอักเสบ ปอดอักเสบหรือปอดบวม มักเกิดจากการที่ร่างกายอ่อนแอ เพราะอุณหภูมิเปลี่ยนแปลงจนติดเชื้อโรคที่อยู่ในอากาศ หรือในละอองเสมหะ น้ำมูก น้ำลายของผู้ป่วยที่ไอ จาม ออกมา อาการที่พบได้บ่อย คือ มีไข้ ไอ จาม น้ำมูกไหล หายใจเร็ว หรือหอบเหนื่อย เป็นต้น

ฝุ่นขนาดจิ๋ว PM 2.5 คือ ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน สามารถแพร่กระจายสู่ทางเดินหายใจ กระแสเลือด และแทรกซึมกระบวนการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ เพิ่มความเสี่ยงโรคเรื้อรัง ซึ่งองค์กรอนามัยโลกกำหนดให้ PM 2.5 อยู่ในกลุ่มที่ 1 ของสารก่อมะเร็ง ตั้งแต่ปี 2556 เป็นสาเหตุ 1 ใน 8 ของประชากรโลกเสียชีวิตก่อนวัยอันควร เพิ่มความเสี่ยงโรคเรื้อรัง เช่น โรคหลอดเลือดในสมอง โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคมะเร็งปอด โรคหัวใจขาดเลือด โรคติดเชื้อเฉียบพลัน ในระบบหายใจส่วนล่าง

ห่วงใยสุขภาพคนไทยจึงมี 5 เคล็ดลับดี ๆ ในการดูแลสุขภาพ ในช่วงปลายฝนต้นหนาวแบบนี้เพื่อป้องกันโรคจากระบบทางเดินหายใจและอันตรายจากฝุ่น PM 2.5 ดังนี้

  1. หลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้ง หรือสวมหน้ากากอนามัย N95 อยู่เสมอ ในช่วงที่มีฝุ่นพิษ 5

หากใครจำเป็นต้องทำกิจกรรมกลางแจ้งให้ใส่หน้ากากอนามัยชนิด N95 สามารถช่วยป้องกันเชื้อโรคและฝุ่นละอองที่มีขนาดเล็กถึง 0.3 ไมครอนได้ เหมาะสำหรับป้องกันมลพิษ ฝุ่น PM 2.5 ควันพิษ ไอเสียรถยนต์ และไอระเหยของสารเคมีต่าง ๆ

  1. ควรหลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่ที่มีผู้คนแออัด และอากาศถ่ายเทไม่ดี และไม่ควรคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่มีอาการไข้หวัด

โดยเฉพาะผู้ที่มีความเสี่ยงสูง อย่างเด็กเล็กและผู้สูงอายุ หรือผู้ป่วยบางโรค แต่หากไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ต้องใส่หน้ากากอนามัยเสมอ หมั่นล้างมือบ่อย ๆ ด้วยน้ำและสบู่ หรือใช้แอลกอฮอล์เจลทำความสะอาดมือ ทั้งผู้ที่ป่วยและไม่ป่วย และไม่ใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น เช่น แก้วน้ำ หลอดดูดน้ำ ช้อนอาหาร ผ้าเช็ดมือ ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว เป็นต้น

  1. เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ โดยเฉพาะผักผลไม้ที่มีวิตามินสูง

การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่จะช่วยให้เรามีสุขภาพแข็งแรง เกิดความสมดุลแก่ร่างกาย แต่ในช่วงหน้าฝนนี้ อาจจะเน้นเลือกรับประทานผักและผลไม้มากขึ้น ทั้งผักและผลไม้ที่มีวิตามินซีสูงเพื่อป้องกันโรคหวัด เช่น ส้ม แอ้ปเปิ้ล ฝรั่ง มะเขือเทศ ผักใบเขียว ฯลฯ และผักและผลไม้ที่มีสารต้านอนุมูลอิสระสูง เช่น มะละกอ มะม่วงสุก สับปะรด อะโวคาโด หัวหอม บรอกโคลี ผักโขม ฯลฯ ซึ่งช่วยทั้งป้องกันโรคหวัด และเพิ่มภูมิต้านทานต่อฝุ่น PM 2.5 ได้อีกด้วย

  1. หาพื้นที่สูดอากาศบริสุทธิ์ให้เต็มปอด โดยเฉพาะในบ้าน

เราอาจไม่สามารถควบคุมอากาศและปัจจัยภายนอกได้ แต่เราสามารถสร้างอากาศบริสุทธิ์ภายในบ้านได้ง่ายๆ  ด้วยการใช้เครื่องฟอกอากาศ โดยเฉพาะในบ้านที่มีเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ และผู้ป่วยระบบทางเดินหายใจ ที่ไวต่อฝุ่นละอองในอากาศมาก ซึ่งการเลือกเครื่องฟอกอากาศนอกจากจะต้องสามารถลดสารก่อภูมิแพ้ ขจัดไวรัส และตรวจจับฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า PM 2.5 ได้แล้ว ยังควรคำนึงถึงขนาดห้องและเลือกขนาดเครื่องฟอกที่เหมาะสมด้วย

  1. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และพักผ่อนให้เพียงพอ

การออกกำลังกายก็ยังเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นสำหรับทุกช่วงอายุ เพราะจะช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงให้ร่างกาย ปอด หัวใจ และระบบไหลเวียนโลหิตให้ทำงานได้ดียิ่งขึ้น แต่ในช่วงที่มีฝุ่นพิษ PM 2.5 ไม่ควรออกกำลังกายกลางแจ้ง เพราะจะทำให้การสูดดมเอาฝุ่นพิษเข้าไปมีมากขึ้นและส่งผลอันตรายต่อสุขภาพมากขึ้น ประกอบกับการนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพออย่างน้อยวันละ 8 ชั่วโมง เพียงแค่นี้ก็ช่วยให้เรามีสุขภาพดีห่างไกลโรคแล้ว

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook