ความผิดปกติทางจิตหลัง “อุบัติเหตุ” อันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้กับทุกคน
Post-traumatic stress disorder (PTSD) เป็นความผิดปกติทางจิตใจภายหลังภยันตราย เป็นอาการทางจิตที่อาจเกิดขึ้นหลังเกิดอุบัติเหตุที่รุนแรงทางร่างกาย และจิตใจ ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย
PTSD ความผิดปกติทางจิตใจภายหลังภยันตราย พบได้บ่อยแค่ไหน ?
ผศ. นพ. พนม เกตุมาน จิตแพทย์จากคลินิคจิต-ประสาท ระบุว่า “อาการ PTSD พบมากเป็นอันดับ 4 ของโรคทางจิตเวชทั้งหมดความชุกชั่วชีวิต (life time prevalence)พบร้อยละ 10.3 ในผู้ชายและ ร้อยละ 18.3 ในผู้หญิง โรคนี้เป็นที่รู้จักหลังจากแพทย์พบอาการทางจิตใจในทหารผ่านศึกที่ผ่านการสู้รบรุนแรงถึงคุกคามชีวิต หรือมีเพื่อนเสียชีวิต”
“นอกจากนี้ PTSD อาจพบได้ในเหตุการณ์ภัยรุนแรงทุกชนิด หรือสถานการณ์อื่น ๆ เช่น ภัยธรรมชาติ อุบัติเหตุ หรืออุบัติภัยหมู่ การถูกทำร้ายทางร่างกายหรือทางเพศ การถูกทารุณทางเพศ การถูกข่มขืน ถูกทรมาน เด็กที่อยู่ในบ้านที่มีความรุนแรง คนที่อยู่ในเหตุการณ์สงคราม หรือการก่อการร้ายที่นับวันมีมากขึ้นในอนาคต ภัยที่คุกคามรุนแรงเกินภัยปกติที่คนเผชิญเหล่านั้น ล้วนทำให้เกิด PTSD ได้เช่นกัน การศึกษาในระยะหลังพบว่า คนทั่วไปส่วนใหญ่มีโอกาสพบภัยพิบัติอย่างน้อยหนึ่งครั้งในชีวิต และร้อยละ 25 ของผู้ที่ประสบภัยดังกล่าวจะเกิดโรค PTSD”
อันตรายแค่ไหน เสี่ยงอาการ PTSD
ลักษณะของภัยพิบัติที่ทำให้เกิดผลเป็น PTSD ได้ต้องมีลักษณะรุนแรงมากเพียงพอที่จะทำให้เกิดอาการและปัญหาในการปรับตัวได้อย่างเรื้อรังในคนส่วนใหญ่ที่เผชิญภัยพิบัตินั้น ไม่ใช่เหตุการณ์ที่ทำให้เกิดความเครียดธรรมดา หรือการสูญเสียตามปกติที่พบในชีวิต แต่เป็นสถานการณ์ที่รุนแรงนอกเหนือจากเหตุของความเครียดปกติของชีวิต และมีลักษณะคุกคามต่อชีวิตของผู้นั้น หรือคนอื่น ๆ จนทำให้เกิดความกลัว ความหวาดหวั่นอย่างรุนแรง และความรู้สึกช่วยเหลือแก้ไขไม่ได้ ผู้ประสบภัยอยู่ในเหตุการณ์นั้น อาจได้เห็นผู้อื่นบาดเจ็บและเสียชีวิต แต่ตนเองรอดชีวิตมาได้ ในเหตุการณ์มีการเสียชีวิต หรือความเสียหายอย่างมาก เช่น
ภัยธรรมชาติ - พายุ น้ำท่วม สึนามิ แผ่นดินไหว
ภัยจากมนุษย์ - อุบัติเหตุ การก่อการร้าย ข่มขืน ทรมาน ปล้น ลักพาตัว ฯลฯ
อาการของ PTSD
อาการของ PTSD อาจมีอาการหนักเบารุนแรงแตกต่างกัน แต่อาจพบลักษณะที่อาจเกิดขึ้นได้ ดังนี้
- ช็อก เงียบ นิ่งเฉย ขาดการตอบสนอง มึนงง สับสน เฉยชา
- ตกใจ หวาดระแวง ไม่ว่าจะเป็นเสียงเล็กน้อย
- รู้สึกเหมือนอยู่ในเหตุการณ์เดิมซ้ำ ๆ ฝันร้ายบ่อย ๆ
- กลัว และพยายามหลีกเลี่ยงต่อสิ่งที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมด
- ซึมเศร้าจากการสูญเสีย
- เริ่มมีพฤติกรรมถดถอยเหมือนกลายเป็นเด็ก เช่น เริ่มช่วยตัวเองไม่ได้ เรียกร้องเอาแต่ใจ หงุดหงิดในเรื่องไม่เป็นเรื่อง
- ขาดความสนใจในทุก ๆ เรื่องที่เคยสนใจมาก่อน
- มีปัญหาด้านสมาธิ และความจำ
- เริ่มหันหน้าเข้าหาแอลกอฮอล์ บุหรี่ ยาเสพติด
- อยากฆ่าตัวตาย
การรักษาอาการ PTSD
ควรพาผู้ป่วยพบจิตแพทย์ และดูแลอย่างใกล้ชิด เบื้องต้นญาติของผู้ป่วยสามารถช่วยเหลือผู้ป่วยได้ ดังนี้
- จัดสภาพแวดล้อมรอบตัวผู้ป่วยให้อยู่ในสถานที่ที่ปลอดภัย มีความเป็นส่วนตัว
- ให้ความช่วยเหลือในการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ช่วยจัดหาอาหาร ยารักษาโรค ต่าง ๆ
- หลีกเลี่ยงการพูดถึงเรื่องที่กระทบกระเทือนจิตใจ เช่น งดให้สัมภาษณ์ เปิดโทรทัศน์ อ่านข่าวจากโซเชียล พูดคุยกับคนอื่นตามลำพัง เป็นต้น
- หากผู้ป่วยอยากเล่า อยากระบาย รับฟังเขาแต่โดยดีโดยไม่ต้องออกความคิดเห็นใด ๆ
- เบี่ยงเบนความสนใจให้กลับไปใช้ชีวิตตามปกติโดยเร็ว เช่น เสนอกิจกรรมที่น่าสนใจ พาออกไปเจอสังคมนอกบ้านเป็นครั้งคราว ให้กลุ่มเพื่อนที่ไว้ใจช่วยเหลือ เป็นต้น