“ตู้น้ำดื่ม” ในโรงเรียน แฝงอันตราย
ตู้น้ำดื่มในโรงเรียน อาจแฝงอันตรายถึงชีวิตบุตรหลานได้ หากไม่ดูแลบำรุงรักษาให้ดีพร้อมใช้งานอยู่เสมอ
ตู้น้ำดื่มที่ตั้งอยู่ในโรงเรียน บ้างก็อยู่ในอาคาร บ้างก็อยู่กลางแจ้ง อาจเป็นจุดที่นักเรียนกดน้ำดื่มกินกันอยู่เป็นประจำทุกวัน ถ้ามีอันตรายแฝงอยู่ในตู้น้ำดื่ม อาจเป็นการแพร่กระจายอันตรายถึงเด็กจำนวนมากอย่างรวดเร็ว
อันตรายจากตู้น้ำดื่ม
ตู้น้ำดื่มที่มีน้ำเฉอะแฉะอยู่ตลอดเวลา อาจเป็นแหล่งสะสมเชื้อแบคทีเรียได้ หากไม่ทำความสะอาดอยู่เสมอ ซึ่งเชื้อแบคทีเรียที่อาจเกิดขึ้นได้ อาจก่อให้อาการท้องเสีย ท้องร่วง และอาจยังเป็นแหล่งสะสมเชื้อโรคจากโรคติดต่อต่าง ๆ เช่น หวัด หัด มือเท้าปาก ฯลฯ อีกด้วย
นอกจากนี้ เนื่องจากเป็นแหล่งที่มีน้ำตลอดเวลา หากไม่จัดตั้งตู้น้ำดื่มอย่างถูกต้อง อาจเสี่ยงอันตรายกระแสไฟฟ้าช็อต จนบาดเจ็บ หรือเสียชีวิตได้ด้วยเช่นกัน
เช็กลิสต์ ตู้น้ำดื่มที่ปลอดภัย ควรเป็นอย่างไร ?
- ทางโรงเรียนควรจัดตั้งตูู้น้ำดื่มในปริมาณที่เพียงพอต่อเด็กในโรงเรียน โดยจัดจุดบริการน้ำดื่ม 1 จุดต่อ 75 คน
- สถานที่ตั้งของตู้น้ำดื่มควรอยู่ห่างจากบริเวณที่มีฝุ่นละออง แหล่งระบายน้ำเสีย และขยะมูลฝอยไม่น้อยกว่า 30 เมตร
- การติดตั้งตู้น้ำดื่มต้องยกระดับสูงกว่าพื้น อย่างน้อย 10 เซนติเมตร มีความมั่นคงแข็งแรงมีระบบป้องกันภัยจากกระแสไฟฟ้ารั่วหรือลัดวงจร โดยติดตั้งสายดิน
- บริเวณพื้นที่ตั้งตู้น้ำดื่มต้องไม่เฉอะแฉะและสกปรก มีการระบายน้ำที่ถูกสุขลักษณะ ไม่ก่อให้เกิดการปนเปื้อนและทำความสะอาดบริเวณที่ตั้งของตู้น้ำดื่มเป็นประจำทุกวัน
- ตู้ หรือตัวถังน้ำดื่มต้องมีการปกปิดหรือมีฝาปิด เพื่อควบคุม และป้องกันการปนเปื้อนจากแมลงและสัตว์พาหะนำโรค
- ทำความสะอาดทั้งภายนอกและภายในอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง
- การคว่ำถัง ลงบนตู้น้ำดื่ม ไม่ควรเอามือจับปากขวด และบริเวณที่จะสัมผัสน้ำในตู้น้ำดื่ม
วิธีทำความสะอาดตู้น้ำดื่ม
- ปิดสวิท ถอดปลั๊ก ระบายน้ำที่ค้างในตู้ออก
- นำถาดพลาสติกในช่องคว่ำน้ำออกไปทำความสะอาดด้วยผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด
- เทน้ำร้อนลงในช่องคว่ำถัง ทิ้งไว้ 2-3 นาที แล้วขัดด้วยฟองน้ำ ระบายน้ำทิ้ง เติมน้ำร้อนอีกครั้ง ทิ้งไว้ 2-3 นาที หรือใช้คลอรีน 60 เปอร์เซ็นต์ ผสมในอัตราส่วน 1 ช้อนชาต่อน้ำ 20 ลิตร แช่ทิ้งไว้ 2-3 นาที ปล่อยน้ำทิ้งแล้วล้างด้วยน้ำเปล่า
- ทดสอบการไหลของน้ำและเสียบปลั๊ก เปิดสวิทใช้งาน