นักวิจัยอเมริกัน “สอนหนูขับรถ” เพื่อศึกษาฮอร์โมนป้องกัน "โรคซึมเศร้า"
หากว่าใครเป็นคนเครียดกับการขับรถ ลองนึกถึงหัวอกของหนู ในการทดลองที่อเมริกา ที่พวกมันถูกฝึกให้ขับรถดูบ้าง
การทดลองให้หนูขับรถขนาดจิ๋วที่ว่านี้ เกี่ยวข้องกับการศึกษาสารที่ร่างกายหลั่งออกมาเพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่ตึงเครียด และนักวิจัยเชื่อว่าความรู้ที่ได้อาจมีประโยชน์ต่อคำเเนะนำเพื่อให้มนุษย์มีสุขภาพจิตที่ดีขึ้นได้ไม่มากก็น้อย
สื่อซีเอ็นเอ็นรายงานว่า นักวิทยาศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยริชมอนด์ ในสหรัฐฯ เริ่มการทดลองด้วยการแบ่งหนูเป็นสองกลุ่ม กลุ่มแรกให้อยู่ในสภาพเเวดล้อมที่มีสิ่งกระตุ้น โดยเฉพาะของเล่นต่าง ๆ และกลุ่มที่สอง ให้อยู่ในกรงซึ่งไร้สิ่งกระตุ้น
จากนั้นหนูทั้งสองกลุ่มถูกจับมาใส่พาหนะที่ทำจากภาชนะพลาสติกที่ต่อกับล้อ หน้าตาเหมือนรถขนาดจิ๋ว ภายในมีที่เร่งมอร์เตอร์ให้รถขับเคลื่อนไปข้างหน้า หากว่าหนูตัวใดสามารถทำให้รถเเล่นได้ไกลจากจุดตั้งต้นถึงอีกฝั่งหนึ่งของพื้นที่ที่ถูกจัดไว้ได้ รางวัลที่รอพวกมันอยู่ก็คือขนมกรุบกรอบรสหวาน
ปรากฏว่าหนูที่ถูกเลี้ยงดูในสภาพเเวดล้อมที่มีสิ่งกระตุ้น สามารถขับรถคันจิ๋วนี้ได้ดี ส่วนกลุ่มที่เคยอยู่เเต่ในกรง "สอบตก. ในการขับรถครั้งนี้
เคลลีย์ แลมเบิร์ต (Kelly Lambert) ผู้นำทีมวิจัยครั้งที่ Behavioral Neuroscience Laboratory แห่งมหาวิทยาลัยริชมอนด์ ศึกษาถึงสารที่สมองของหนูเหล่านี้หลั่งออกมา ด้วยการวิเคราะห์อุจจาระของพวกมัน
สิ่งที่พบอย่างชัดเจนในหนูทั้งสองกลุ่ม คือ ปริมาณฮอร์โมนที่เรียกว่า corticosterone
สารอีกชนิดหนึ่งที่พบในอุจจาระหนูในการทดลองคือ DHEA ซึ่งมีหน้าที่ควบคุมปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นในร่างกายเมื่อเผชิญหน้ากับความเครียด
ซีเอ็นเอ็นระบุโดยอ้างข้อมูลของ นักวิจัย เคลลีย์ แลมเบิร์ตว่า corticosterone ถูกหลั่งออกมาเมื่อร่างกายต้องเจอเรื่องตื่นเต้น เผชิญกับความกังวล และความกลัว ทั้งเรื่องเล็กและเรื่องใหญ่
ส่วน DHEA เป็นสารที่ป้องกันไม่ให้ร่างกายเกิดความเครียดยาวนาน จากปริมาณ corticosterone ที่อาจมีมากจนเป็นพิษ
นักวิจัยพบว่าการให้หนูทำสิ่งที่ยาก เช่น ขับรถในการทดลองนี้ ช่วยฝึกให้พวกมันจัดการกับเหตุการณ์ตึงเครียด และฟื้นจากสภาพตระหนกตกใจ
อาจารย์แลมเบิร์ต กล่าวว่า ดูเหมือนว่าการให้หนูบังคับพาหนะ เปรียบเหมือนการให้หนูฝึกรับรู้ถึงความสามารถในการควบคุมสถานการณ์
ความรู้ที่ได้จากการทดลองนี้สามารถปรับใช้กับมนุษย์ได้ แม้คนเราจะมีสมองที่ซับซ้อนกว่าหนูมาก กล่าวคือ นักวิทยาศาสตร์ทราบว่าสารที่หนูหลั่งออกมา แสดงถึงการฟื้นตัวจากสถานการณ์ที่เกิดความเครียด ซึ่งความสามารถนี้เป็นเครื่องมือป้องกันด่านเเรกของความเจ็บป่วยทางใจ เช่น โรคซึมเศร้าได้
ผู้ทำงานวิจัยชิ้นนี้เรียกการป้องกันความเจ็บป่วยทางจิตด้วยการปรับพฤติกรรม ว่า ‘behaviorceuticals’ ซึ่งช่วยให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนที่ป้องกันการเกิดความเครียดระยะยาวได้
สำหรับมนุษย์ สิ่งที่เทียบเคียงได้กับ ‘กิจกรรมขับรถของหนู’ ในการทดลอง อาจจะเป็นงาน ประเภท การถักไหมพรม ที่ฝึกการประสานงานของนิ้ว อุ้งมือ และสมองไปพร้อม ๆ กัน นั่นเอง