“โซเชียลมีเดีย” กับ 6 สิ่งที่อาจทำร้าย “สุขภาพจิต” ของเราโดยไม่รู้ตัว
โซเชียลมีเดียอาจทำให้คนที่อยู่ห่างไกลกันคนละซีกโลกได้พูดคุยทำความรู้จักกันแบบเรียลไทม์จนรู้สึกว่าโลกเราช่างแคบกว่าที่คิด แต่อีกนัยหนึ่งโซเชียลมีเดียก็ทำให้คนที่ไม่เคยรู้จักเรามาก่อนมาต่อว่าเราจนทำให้เราเสียความรู้สึกไปทั้งวันได้เช่นกัน แม้ว่าจะมีประโยชน์มากเพียงใด แต่หากเราใช้โซเชียลมีเดียมากเกินไป เราอาจโดนทำร้ายจิตใจจนเสียสุขภาพจิตโดยไม่รู้ตัว
“โซเชียลมีเดีย” กับ 6 สิ่งที่อาจทำร้าย “สุขภาพจิต” ของเราโดยไม่รู้ตัว
-
“เสพติด” โซเชียลมีเดีย
เคยไหม เฟซบุ๊คล่ม อินสตาแกรมพัง ทวิตเตอร์หยุดทำงาน แค่ไม่ได้เลื่อนฟีดดูไม่กี่นาทีก็รู้สึกทุรนทุราย ลุกลี้ลุกลน กระวนกระวายใจจนทำอะไรไม่ถูก ได้แต่เช็กอยู่ตลอดว่าเมื่อไรจะกลับมาเป็นปกติ นี่คือหนึ่งในอาการที่บ่งบอกได้ว่าคุณกำลัง “เสพติด” โซเชียลมีเดีย นอกจากนี้ยังมีอาการที่บ่งบอกได้อย่างชัดอีกเช่น การแสดงความสนใจต่อโลกอินเตอร์เน็ตมากกว่าโลกในชีวิตจริง อ่านข่าวอัปเดตพูดคุยตอบโต้กับคนในอินเตอร์เน็ตมากกว่าคนในชีวิต ละลายคนในครอบครัว เพื่อนสนิท และใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่กับหน้าจอมือถือหรือคอมพิวเตอร์ จนเกิดอาการหงุดหงิดงุ่นงานในทันทีที่ไม่สามารถเข้าถึงโซเชียลมีเดียได้ แม้จะไม่กี่นาทีก็ตาม
-
กระตุ้นอารมณ์เศร้า คุณภาพชีวิตต่ำลง
เมื่อใดก็ตามที่คุณใช้โซเชียลมีเดียมากเกินความจำเป็น เช่น การโพสต์ข้อความหรือรูปที่ในเวลาต่อมามีคอมเมนต์จากคนอื่นในเชิงลบที่คุณอ่านแล้วไม่สบายใจ คุณอาจถูกดึงไปอยู่ในโลกแห่งความเศร้าได้ภายในเวลาไม่นาน คุณอาจไม่เข้าใจว่าเพราะเหตุใดคนเหล่านั้นถึงพูดถึงคุณไม่ดี ทำไมพวกเขาแลดูจงเกลียดจงชังคุณ นานวันเข้าความรู้สึกเศร้า ไม่พอใจในสิ่งที่ตัวเองเป็นก็เริ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ จนความมั่นใจของตัวเองหายไป และเป็นเรื่องที่น่าแปลกใจว่า แม้ว่าโซเชียลมีเดียจะถูกสร้างขึ้นเพื่อเชื่อมโยงคนส่วนใหญ่เข้าด้วยกัน ให้คนที่ห่างไกลกันได้พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็น หรือสร้างความสัมพันธ์กันง่ายขึ้น แต่กลับพบว่ายิ่งใช้โซเชียลมีเดียมากเท่าไร สังคมชีวิตจริงของคุณก็โดดเดี่ยวเดียวดายมากขึ้นเท่านั้น และนั่นส่งกระทบต่อสุขภาพจิตของคุณมากกว่าที่คิด
-
เปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่น ยิ่งทำร้ายจิตใจตัวเอง
โซเชียลมีเดียเป็นศูนย์รวมของข้อมูลที่คนส่วนใหญ่อยากจะโชว์แต่ด้าน ๆ ดีให้คนอื่นเข้ามาชื่นชม ดังนั้นเราจะได้เห็นแต่อาหารที่น่ากิน เสื้อผ้าสวย ๆ สถานที่ท่องเที่ยวงาม ๆ และใครที่รับข้อมูลเหล่านี้มาก ๆ อาจเกิดการเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่นได้ว่าทำไมเราถึงมีชีวิตที่ไม่ดีเท่าเขา และกลายเป็นว่าเราอาจปรับระดับมาตรฐานของตัวเองขึ้นมาใหม่โดยไม่รู้ตัวว่าเราต้องเป็นให้ได้อย่างคนอื่นเพื่อที่จะเหมือนคนอื่น หรือมีคุณภาพชีวิตที่ดีให้เท่ากับคนอื่น ๆ ซึ่งเราอาจลืมไปว่าที่เราเห็นอาจเป็นเพียงส่วนหนึ่งของชีวิตของพวกเขาเหล่านั้นเท่านั้น ในทางกลับกันการที่เราติดตามข้อมูลชีวิตของคนที่ใช้ชีวิตอย่างยากลำบากมาก ๆ มาโดยตลอดก็สามารถทำให้เราเปรียบเทียบตัวเองกับคนเหล่านั้นได้เช่นกัน ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ดีทั้งคู่
-
การเปรียบเทียบ นำไปสู่การอิจฉา
ความรู้สึกอิจฉาคนอื่นที่ได้ทำในสิ่งที่เราอยากทำ ได้เป็นในสิ่งที่อยากเป็น อาจกัดกินจิตใจของเราอย่างช้า ๆ และการอิจฉาก่อให้เกิดพลังงานด้านลบที่ทำให้เราไม่พอใจในสิ่งที่เราเป็น สิ่งที่เรามี จนอาจทำให้เราทำทุกอย่าง หรือพยายามที่จะทำให้ตัวเองดีพอที่ให้คนอื่นอิจฉาเราได้บ้าง จนสุดท้ายวนลูปเป็นวัฏจักรที่ไม่ควรเกิดขึ้น และทำให้สังคมในโลกโซเชียลเป็นที่อวดชีวิตของตัวเองที่จริง ๆ แล้วเป็นเพียงแค่ความสุขเปลือกนอกเท่านั้น และแน่นอนว่ามันส่งผลต่อสุขภาพจิตได้โดยตรง
-
หลอกตัวเองไปวัน ๆ ว่าโซเชียลมีเดียเท่านั้นที่ช่วยเราได้
บางครั้งเราอาจจะคิดว่าปัญหาที่เกิดขึ้น การระบายความในใจลงในโลกโซเชียลจะทำให้เราได้กำลังใจดี ๆ จากคนมากมายได้ แต่มันไม่ได้เป็นอย่างนั้นเสมอไป คนในโลกอินเตอร์มาจากร้อยพ่อพันแม่ที่เราอาจจะรู้จักเขาดี และกับบางคนที่ไม่ได้เข้าใจเรา และมีทัศนคติต่อเรื่องต่าง ๆ ที่แตกต่างจากเรา หากเราเปิดรับเอาความคิดเห็นทั้งหมดทั้งในด้านที่เข้าใจเรา อยู่ข้างเรา และในด้านที่ไม่เข้าใจเรา และซ้ำเติมเรา อาจยิ่งทำให้เรารู้สึกแย่ลงได้ และที่สำคัญเราถอนตัวออกจากโลกโซเชียลยากกว่าที่คิด เพราะยิ่งเราถลำลึก โต้ตอบกับเขาเหล่านั้นไปเรื่อย ๆ เราก็ยิ่งรับแต่ความรู้สึกแง่ลบเข้ามาเรื่อย ๆ
-
เพื่อนในโลกโซเชียล ไม่ได้แปลว่าคุณมีเพื่อนเยอะ
แน่นอนว่าการที่มีจำนวนเพื่อน จำนวนผู้ติดตามในโลกโซเชียลอาจบ่งบอกได้ว่าพวกเขาเหล่านั้นชื่นชอบในตัวของคุณบางอย่าง แต่อย่านับว่าเขาเหล่านั้นคือ “เพื่อน” ของคุณที่รู้จักคุณ เข้าใจคุณ และพร้อมจะอยู่เคียงข้างคุณเสมอทุกสถานการณ์ เพราะพวกเขาล้วนแต่เป็นเพียง “แฟนคลับ” ที่ชอบ “ส่วนหนึ่ง” ของตัวตนของคุณเท่านั้น คุณอาจจะแฟนคลับที่ชื่นชอบ และรับคุณได้ทั้งในด้านดี และด้านลบ แต่ขอให้จำเอาไว้ว่าตราบใดก็ตามที่พวกเขายังไม่ได้เป็น “เพื่อน” ของคุณในชีวิตจริง ยังไม่เคยได้พูดคุย แลกเปลี่ยนทัศนคติกัน หรือร่วมเหตุการณ์ต่าง ๆ ไปด้วยกันเหมือนที่เพื่อนคนหนึ่งควรจะทำด้วยกัน พวกเขาเหล่านั้นก็ยังเป็นเพียงแฟนคลับคอยติดตามผลงานของเราเท่านั้น
ถึงกระนั้น โซเชียลมีเดียไม่ได้มีแต่ข้อเสียแต่เพียงอย่างเดียว หากเรารู้จักจำกัดการใช้งานอย่างเหมาะสม ไม่อยู่กับโลกของโซเชียลมากเกินไป แบ่งเวลาอย่างเหมาะสม ทั้งโลกออนไลน์ และโลกในชีวิตจริงให้สมดุลกัน ไม่ล้ำเส้นซึ่งกันและกัน ถึงเวลาที่ควรวางมือถือลงก็วางเสีย และดื่มด่ำกับบทสนทนา และช่วงเวลาดี ๆ กับการเพื่อนในชีวิตจริง เพิกเฉยต่อคอมเมนต์ที่เต็มไปด้วยอคติ และทัศนคติด้านลบ เก็บคอมเมนต์ดี ๆ เพื่อปรับปรุงตัวเองให้ดีขึ้นจริง ๆ เท่านี้คุณก็สามารถใช้โซเชียลมีเดียอย่างเป็นประโยชน์ได้โดยไม่ส่งผลใด ๆ ต่อสุขภาพจิตอย่างที่หลายคนเป็น