โรคอาการอาคารป่วย (Sick Building Syndrome) คืออะไร ? อาการเป็นอย่างไร ?
กรมการแพทย์ โดยโรงพยาบาลนพรัตนราชธานี แนะโรคอาการอาคารป่วย Sick Building Syndrome เป็นการเจ็บป่วยของผู้ที่ทำงานภายในอาคาร อาจมาจากวัสดุโครงสร้าง สารเคมีต่าง ๆ ที่ใช้ภายในอาคาร อุปกรณ์สำนักงาน แนะหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงพร้อมปรับปรุงสภาพแวดล้อมในการทำงานให้ดีขึ้น
โรคอาการอาคารป่วย (Sick Building Syndrome) คืออะไร ?
นายแพทย์มานัส โพธาภรณ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า โรคอาการอาคารป่วย Sick Building Syndrome หรือเป็นกลุ่มอาการที่เกิดขึ้นเมื่อร่างกายได้รับมลภาวะภายในอาคารจากปัจจัยบางอย่าง เช่น วัสดุโครงสร้างของอาคาร สีที่ใช้ภายในอาคาร การถ่ายเทอากาศ เป็นต้น แต่จะมีอาการดีขึ้นหากออกจากตัวอาคาร
อาการของโรคอาการอาคารป่วย
นายแพทย์สมบูรณ์ ทศบวร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลนพรัตนราชธานี กล่าวว่า โรคอาการอาคารป่วยไม่มีอาการที่จำเพาะเจาะจง และอาการหลายอย่างก็คล้ายคลึงกับโรคทั่วไป จึงทำให้ยากต่อการวินิจฉัยโรค อย่างไรก็ตาม แพทย์อาจสอบถามเกี่ยวกับระยะเวลาในการทำงานและสภาพแวดล้อมในที่ทำงาน เพื่อหาความเกี่ยวข้องหรือความเป็นไปได้ของการเกิดโรคอาการอาคาร ซึ่งผู้ป่วยสามารถสังเกตตนเองได้ว่าอาการต่าง ๆ มักเกิดขึ้นเฉพาะตอนอยู่ภายในอาคารหรือไม่ วิธีการนี้จะช่วยให้แพทย์วินิจฉัยโรคได้อย่างถูกต้อง
อาการป่วยที่พบเมื่ออยู่ในอาคาร คือ
- เจ็บตา
- เจ็บคอ
- แสบร้อนในจมูก
- มีน้ำมูก
- หนาว
- เป็นไข้
- ผิวแห้งเป็นผื่น
- อ่อนเพลีย
- หงุดหงิด
- ปวดหัว
- ปวดท้อง
- ปวดเมื่อยตามร่างกาย
- หายใจไม่สะดวก
- ผู้ป่วยที่เป็นโรคทางเดินหายใจ หรือเป็นภูมิแพ้อยู่ก่อนแล้ว อาจมีอาการรุนแรงมากยิ่งขึ้น
สาเหตุของโรคอาการอาคารป่วย
สาเหตุของโรคอาการอาคารป่วยแม้ไม่สามารถระบุได้อย่างแน่ชัด แต่ก็มีหลายปัจจัยที่อาจทำให้เกิดโรคกลุ่มอาการอาคารป่วย เช่น
- น้ำยาถูพื้น
- สารฟอร์มาลดีไฮด์
- สีที่ใช้ทาภายในอาคาร
- อุปกรณ์สำนักงานอย่าง จอคอมพิวเตอร์ ที่ไม่กรองแสงเป็นอันตรายต่อสายตา
- ฝุ่นภายในอาคาร หรือมลพิษอื่น ๆ ในบริเวณใกล้เคียง
- เสียงรบกวน
- อากาศที่ไม่ถ่ายเท
- ไฟที่ส่องสว่าง
- ความร้อนหรือความชื้น แบคทีเรีย เชื้อรา
การรักษาโรคอาการอาคารป่วย
การรักษาโรคอาการอาคารป่วยยังไม่มีวิธีเฉพาะเจาะจง แต่เป็นการรักษาเพื่อบรรเทาอาการตามที่เป็น และผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ที่จะทำให้อาการกำเริบ เช่น
- ปรับปรุงสภาพแวดล้อมในที่ทำงานให้ดีขึ้น เช่น เปิดประตู หน้าต่างให้อากาศถ่ายเทสะดวก เพื่อป้องกันความอับชื้นหรือเชื้อรา
- ทำความสะอาดสถานที่ทำงานอยู่เสมอ ใช้เครื่องดูดฝุ่นเพื่อลดมลภาวะ ทำความสะอาดเครื่องกรองอากาศเป็นประจำ
- เปลี่ยนหลอดไฟเพื่อปรับความสว่าง หรือเปลี่ยนจอคอมพิวเตอร์ เป็นต้น
ทั้งนี้หากป้องกันเบื้องต้นด้วยวิธีต่าง ๆ แต่อาการไม่ดีขึ้นควรรับการรักษาเพื่อให้แพทย์วินิจฉัยโดยทันที หรือปรึกษาได้ที่ คลินิกโรคจากการทำงาน กลุ่มศูนย์การแพทย์เฉพาะทางด้านอาชีวเวชศาสตร์และสิ่งแวดล้อม โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี ได้ในวันและเวลาราชการ