“โรครองช้ำ” เกิดจากอะไร รักษาอย่างไร ?
โรครองช้ำ (plantar fasciitis) หรือที่เรียกกันอย่างเป็นทางการว่า โรคเอ็นฝ่าเท้าอักเสบ หรือ เอ็นส้นเท้าอักเสบ เป็นโรคที่มักทำให้ปวดส้นเท้าและฝ่าเท้า เวลาที่เราเดินลงน้ำหนัก บางคนอาจรู้สึกปวดส้นเท้ามากหลังตื่นนอน เป็นโรคที่หลายคนอาจคิดว่า เป็นการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อธรรมดา ๆ แต่ความจริงแล้ว มันอาจเป็นสัญญาณของ โรครองช้ำ ที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาโดยเร็วก่อนจะมีอาการเรื้อรังก็ได้
โรครองช้ำ มีอาการอย่างไรบ้าง?
โรครองช้ำ เกิดจากการที่เอ็นฝ่าเท้ามีอาการอักเสบ โดยเอ็นฝ่าเท้า จะเป็นเอ็นแผ่นบาง ๆ ที่ห่อหุ้มตั้งแต่ส้นเท้าไปจนถึงปลายนิ้วเท้า และเป็นสิ่งที่รับแรงกระแทกขณะที่เรายืน เดิน หรือวิ่ง ทำให้เมื่อมีการใช้เอ็นฝ่าเท้าทำงานมากเกินไป หรือมีการใช้งานที่ผิดปกติ เช่น ถูกกระแทก ถูกบีบกดจากการเคลื่อนไหว จึงทำให้เกิดการอักเสบขึ้นได้
โรครองช้ำ จะมีอาการ ดังนี้
- ปวดหรือเจ็บส้นเท้า ลามไปทั่วฝ่าเท้า โดยจะเริ่มมีอาการตั้งแต่ลงจากเตียงนอน หรือก้าวเดินก้าวแรกของวัน
- ปวดฝ่าเท้า หรือ ส้นเท้า เมื่อเดินลงน้ำหนัก มีอาการปวดจี๊ดๆ ปวดอักเสบ บางคนอาจปวดทีละน้อย จนคิดว่าอาการป่วยจะหายไปเอง แต่ก็จะกลับมาปวดอีก
- ปวดฝ่าเท้าเมื่อเดิน หรือ เคลื่อนไหวร่างกาย อาการปวดจะรุนแรงที่สุด เมื่อเริ่มมีการลงน้ำหนักที่ส้นเท้าในก้าวแรก เช่น เมื่อลุกเดินก้าวแรกหลังจากตื่นนอน
- ระยะแรกอาจเกิดหลังการออกกำลังกาย หรือการเดิน-ยืนนาน ๆ เมื่อมีการเคลื่อนไหวมากขึ้น จะรู้สึกปวดส้นเท้ามากขึ้น หรือปวดอยู่ตลอดเวลา
โรครองช้ำเกิดจากอะไร?
โรครองช้ำ สามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็น
• ภาวะอ้วน หรือ มีน้ำหนักตัวมากกว่าปกติ ทำให้เมื่อเดิน จะทำให้เกิดแรงกดที่ฝ่าเท้ามาก จนอาจทำให้ผังพืดใต้ฝ่าเท้าอักเสบได้
• มีการยืนติดต่อเนื่องเป็นเวลานาน ทำให้เอ็นฝ่าเท้ารองรับน้ำหนักกดทับมากกว่าปกติ
• มีภาวะเท้าผิดรูป เช่น อุ้งเท้าแบน อุ้งเท้าสูงหรือโก่งมากเกินไป
• สวมรองเท้าที่ไม่เหมาะสมต่อสุขภาพเท้า เช่น รองเท้าส้นสูง รองเท้าที่คับแน่น บีบเท้า หรือรองเท้าที่หลวมเกินไป
• มีการใช้งานฝ่าเท้าหรือส้นเท้าที่มากเกินไป จนร่างกายทนไม่ไหว เช่น การฝึกวิ่งที่หักโหมเกินไป หรือวิ่งในระยะทางที่ไกลเกินไป หรือการวิ่งบนพื้นแข็ง
• สวมใส่รองเท้าไม่เหมาะสม เช่น รองเท้าที่ไม่มีพื้นบุรองส้นเท้า หรือพื้นรองเท้าบางเกินไป
• มีอาการเอ็นร้อยหวายยึด ทำให้ส้นเท้าไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ตามปกติ
• โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ หรือ ข้อสันหลังอักเสบ ซึ่งอาจทำให้มีโอกาสเกิดการอักเสบ ที่เส้นเอ็นจุดใดจุดหนึ่งที่เชื่อมต่อกับกระดูก ทำให้มีโอกาสเกิดพังผืดใต้ฝ่าเท้าอักเสบได้
ใครเสี่ยงเป็นโรครองช้ำได้บ้าง ?
• ผู้สูงอายุ เนื่องจากพังผืดฝ่าเท้ามีความยืดหยุ่นน้อยลง
• ผู้ที่มีน้ำหนักเกิน ทำให้พังผืดฝ่าเท้ารับแรงกระแทกมากขึ้น
• ผู้ที่มีอาชีพ ที่จำเป็นต้องยืน หรือเดินมาก ๆ ทำให้พังผืดฝ่าเท้าตึงแข็ง
• ผู้ที่มีอุ้งเท้าสูง หรือแบน ผิดปกติ
• ผู้ที่ใส่รองเท้าส้นสูง รองเท้าพื้นแข็ง หรือพื้นบาง อยู่เป็นประจำ
• ผู้หญิงมีความเสี่ยงมากกว่าผู้ชาย เนื่องจากไขมันส้นเท้าบางกว่า รวมถึงเอ็น และกล้ามเนื้อของน่อง และฝ่าเท้า ไม่แข็งแรงเท่าของผู้ชาย
• นักวิ่ง หรือนักกีฬา ที่ต้องใช้เท้า และส้นเท้าเป็นเวลานาน
การรักษาโรครองช้ำ
1. พักการใช้เท้า และใช้ยาลดอาการอักเสบ - การลดการเดิน หรือใช้ไม้เท้าพยุง และประคบเย็นราว 20 นาที วันละ 3-4 ครั้งในตอนเย็น จะช่วยลดอาการเจ็บปวดได้ดี หากปวดมาก สามารถทานยาลดอาการอักเสบได้ แต่ควรพิจารณาโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และไม่ทานต่อเนื่องนานเกิน 2-3 สัปดาห์
2. บริหารเอ็นร้อยหวาย และพังผืดฝ่าเท้า - การบริหารเอ็นร้อยหวาย และพังผืดฝ่าเท้าอย่างเหมาะสม เป็นวิธีที่ดีที่สุด ที่จะช่วยทั้งรักษา และป้องกันการเกิดโรครองช้ำได้
3. บริหารข้อเท้า - มีท่าบริหารข้อเท้าอยู่หลายท่า ที่สามารถช่วยบรรเทาอาการรองช้ำได้ เช่น ใช้ฝ่าเท้าเหยียบคลึงอุปกรณ์ทรงกระบอกที่มีความแข็งแรง เช่น ท่อ PVC ลูกเทนนิส หรือขวดน้ำพลาสติกขนาดเล็ก เพื่อช่วยยืดเส้นเอ็นใต้ฝ่าเท้า
หรือยืนหันหน้าเข้ากำแพง แล้วงอเข่าขวาไปด้านหน้าพร้อมดันกำแพง จนข้อเท้าซ้ายด้านรู้สึกตึง ค้างไว้ 10-15 วินาทีก่อนเปลี่ยนข้าง วิธีนี้ เป็นการยืดเอ็นร้อยหวาย และช่วยให้ส้นเท้ารับน้ำหนักได้ดี
4. ใช้แผ่นรองส้นเท้า - การใช้แผ่นรองเท้าที่อ่อนนุ่ม หรือสวมรองเท้าที่เหมาะสมกับเท้าของตนเอง สามารถช่วยบรรเทาอาการปวดได้ดี การใส่เฝือกอ่อน จะช่วยลดการเคลื่อนไหวที่ข้อเท้าได้ จึงเป็นอีกทางเลือกในการช่วยลดอาการอักเสบในช่วงแรก
5. รักษาด้วยคลื่นความถี่ (Shock Wave) - เป็นการกระตุ้นเอ็นพังผืดฝ่าเท้า เพื่อให้มีเส้นเลือดมาเลี้ยงซ่อมแซมตัวเอง การรักษาได้ผลใกล้เคียงกับการผ่าตัด
6. การผ่าตัด - ใช้กับผู้ป่วยส่วนน้อย ที่เข้ารับการรักษาเบื้องต้นแล้ว แต่ไม่หายขาด และอาจต้องเข้ารับการรักษาด้วยการผ่าตัด เพื่อผ่าตัดพังผืดเท้าบางส่วน และนำหินปูนที่กระดูกส้นเท้าออก
7. ฉีดยาลดการอับเสบ - เป็นวิธีที่ไม่แนะนำนัก ใช้กับผู้ช่วยที่มีอาการรุนแรงเท่านั้น และไม่ควรใช้ยาสเตียรอยด์ฉีดเข้าบริเวณส้นเท้า เนื่องจากจะทำให้รักษาได้ยากขึ้น และเสี่ยงต่อภาวะกระดูกติดเชื้อ ไขมันฝ่าเท้าฝ่อ หรือเอ็นฝ่าเท้าฉีกขาด ซึ่งเป็นอาการที่รักษาได้ยากมาก
8. ใช้อุปกรณ์ช่วยรักษาโรครองช้ำ - เช่น Night Splints ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ช่วยให้เท้าของผู้ป่วย อยู่ในตำแหน่งปกติในเวลานอน และช่วยรักษาเส้นเอ็นให้หายเร็วขึ้น เมื่อผู้ป่วยตื่นในตอนเช้า ก็จะช่วยลดความเจ็บปวดของส้นเท้าลงได้ด้วย
หากคุณมีอาการเจ็บส้นเท้า หรือฝ่าเท้าต่อเนื่องเป็นเวลานานแล้วละก็ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษาอย่างเหมาะสม เพราะคุณอาจจะกำลังเป็นโรครองช้ำ หรือ เอ็นฝ่าเท้าอักเสบอยู่ก็ได้ และผู้ป่วยเอ็นฝ่าเท้าอักเสบถึง 90% ก็มักจะมีอาการดีขึ้นภายใน 2 เดือน หลังจากได้รับการรักษาที่เหมาะสมด้วย