8 เคล็ดลับ กินอย่างไร ห่างไกล “มะเร็ง”
แม้ว่าเทคโนโลยีในการรักษาโรคจะล้ำหน้าไปมากเพียงใด แต่สำหรับโรคมะเร็งแล้ว ยังไม่มีตัวยาไหนที่สามารถรักษาโรคนี้ได้ 100% ดังนั้นการป้องกันการเกิดของโรคตั้งแต่แรกจึงเป็นวิธีที่ดีที่สุด และเราสามารถเริ่มต้นได้โดยการกิน นอกจากจะเป็นอาหารที่ดีต่อสุขภาพโดยตรงแล้ว ข้อมูลจาก อ. นพ. นริศร ลักขณานุรักษ์ จากโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ยังระบุอีกว่า อาหารเหล่านี้มีหลักฐานทางการแพทย์ที่พิสูจน์ได้จริงว่าอาหารเหล่านี้ช่วยลดความเสี่ยงของมะเร็งบางชนิดได้จริงอีกด้วย
8 เคล็ดลับ กินอย่างไร ห่างไกล “มะเร็ง”
- รับประทานอาหารที่สะอาด และถูกสุขลักษณะ หลีกเลี่ยงอาหารบางชนิด เช่น ปลาร้าดิบที่ไม่สะอาด เนื่องจากอาจมีพยาธิที่ก่อมะเร็ง ถั่วที่เก็บไม่ดี เพราะอาจมีเชื้อราที่สร้างสารก่อมะเร็งได้
- เน้นรับประทานผัก และผลไม้ให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย โดยพยายามกินผักให้ได้อย่างน้อย 2 ใน 4 ส่วนของมื้ออาหารในแต่ละมื้อ และเพิ่มผลไม้เข้าไปหลังอาหารอีก 1 ส่วน เช่น ผลไม้ 3-5 ชิ้น เป็นต้น
- รับประทานอาหารแต่พอดี ไม่มากจนเกินไปจนทำให้น้ำหนักเกินมาตรฐาน หรืออ้วน
- หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง โดยเฉพาะไขมันอิ่มตัว
- ลดเกลือ อาหารหมักดอง อาหารผ่านกรรมวิธีต่าง ๆ รวมถึงอาหารปิ้งย่าง
- หลีกเลี่ยงขนม และเครื่องดื่มรสหวาน เน้นอาหารหวานน้อย
- ลดการรับประทานเนื้อแดง เช่น เนื้อหมู เนื้อวัว แกะ และเนื้อผ่านกรรมวิธีต่าง ๆ เช่น เบคอน ไส้กรอก เป็นต้น
- งด หรือลดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ผู้ชายไม่เกิน 2 หน่วยต่อวัน ผู้หญิงไม่เกิน 1 หน่วยต่อวัน (1 หน่วย = ไวน์ 1 แก้ว / สุรา 1 เป๊ก / เบียร์น้อยกว่า 5 ดีกรี 1 กระป๋อง)
เคล็ดลับดูแลสุขภาพ ห่างไกลโรคมะเร็ง
นอกจากการกินอาหารตามวิธีข้างต้นแล้ว การดูแลสุขภาพด้วยการออกกำลังกาย และการพักผ่อนก็สำคัญเช่นกัน ควรออกกำลังกายทุกวัน หรืออย่างน้อย 3-5 วันต่อสัปดาห์ ครั้งละ 30 นาที - 1 ชั่วโมง เน้นทั้งการคาร์ดิโอที่ทำให้เหนื่อย เช่น วิ่ง ปั่นจักรยาน ว่ายน้ำ แอโรบิก และการออกกำลังกายแบบเวทเทรนนิ่ง คือการเสริมสร้างกล้ามเนื้อให้แข็งแรงขึ้น เช่น การใช้อุปกรณ์เพิ่มน้ำหนัก เพิ่มแรงต้านทานให้กับแขน ขา รวมถึงการออกกำลังกายกล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆ ให้แข็งแรงขึ้น
ส่วนการพักผ่อน ควรนอนหลับให้ได้ 6-8 ชั่วโมงต่อวัน และรักษาสุขภาพจิตให้ได้ เพื่อไม่ให้มีปัญหาต่อการนอนหลับในอนาคต
… เท่านี้ก็ช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็งได้มากแล้ว แต่หากใครก็ตามที่มีญาติ พ่อ แม่ หรือคนในครอบครัวเป็นโรคมะเร็งมาก่อน อาจมีความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งมากกว่าคนอื่น ๆ จึงควรเข้ารับการตรวจร่างกาย ตรวจคัดกรองโรคมะเร็งเป็นประจำปีละ 1 ครั้ง เพราะหากพบเจอโรคมะเร็งตั้งแต่ระยะแรก ๆ โอกาสหายจากโรคก็มีสูงเช่นเดียวกัน