“โรคเนื้อเน่า” จากยุง-แมลงกัด อันตรายจากการทำความสะอาดแผลไม่ดีพอ
กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข แนะนำประชาชนหากถูกแมลง ยุงกัดหรือมีบาดแผล แม้เพียงเล็กน้อย ขอให้ดูแลแผลให้สะอาด เพราะอาจเสี่ยงต่อการป่วยด้วยโรคเนื้อเน่าได้ หากแผลเกิดการอักเสบ เช่น บริเวณบาดแผลมีลักษณะปวด บวม ร้อน แดงมากขึ้น หรือมีไข้ แล้วลุกลามให้รีบไปพบแพทย์โดยเร็ว เพื่อรับการวินิจฉัย ซึ่งโรคนี้สามารถรักษาได้
>> "บอย ปกรณ์" เข้าผ่าตัดด่วน ถูกแมลงกัดจนติดเชื้อ ต้องคว้านเนื้อตายทิ้ง
โรคเนื้อเน่า คืออะไร ? มีอาการอย่างไร ?
นายแพทย์อัษฎางค์ รวยอาจิณ รองอธิบดีและโฆษกกรมควบคุมโรค กล่าวว่า โรคเนื้อเน่า หรือเรียกว่า เนคโครไทซิ่ง แฟสเชียไอติส (Necrotizing fasciitis) เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนในแผล ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่พบบ่อย 2 ชนิด คือ Streptococcus pyogenes และ Staphylococcus aureus โดยมีการติดเชื้อบริเวณผิวหนังและชั้นไขมันใต้ผิวหนังอย่างรุนแรง
โรคเนื้อเน่าพบบ่อยในช่วงฤดูฝน มักพบในผู้ที่มีบาดแผลเล็ก ๆ น้อย ๆ หรือแผลจากการถูกแมลงหรือยุงกัด แล้วสัมผัสกับแบคทีเรียที่อยู่ในดินหรือในน้ำ และอาจดูแลแผลไม่ดี จนแผลลาม ทำให้แผลติดเชื้อซ้ำซ้อน
อันตรายของโรคเนื้อเน่า
สำหรับประเทศไทย แต่ละปีจะพบผู้ป่วยโรคเนื้อเน่าประมาณ 100-200 ราย พบผู้ป่วยมากในช่วงฤดูฝน และพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง ตำแหน่งที่เกิดมากสุดคือที่บริเวณขา รองลงมาเป็นบริเวณเท้า เมื่อเชื้อโรคที่พบในดินในน้ำทั่ว ๆ ไปเข้าไปในแผล จะทำให้เกิดการอักเสบ ลุกลามได้ง่าย รายที่รุนแรงอาจเกิดการติดเชื้อในกระแสเลือด ภาวะไตวาย ช็อค และอาจเสียชีวิตได้ ที่สำคัญหากมาพบแพทย์ช้า เมื่อมีอาการรุนแรงถึงขั้นช็อกแล้ว จะทำให้อัตราการเสียชีวิตเพิ่มสูงขึ้น ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับระยะเวลาและความรุนแรงด้วย
กลุ่มเสี่ยงโรคเนื้อเน่า
ประชาชนที่มีความเสี่ยงเกิดโรคเนื้อเน่า ได้แก่
- ผู้ที่มีภูมิต้านทานต่ำหรือเป็นโรคเกี่ยวกับเส้นเลือด เช่น เบาหวาน ไตวาย
- ผู้ป่วยโรคมะเร็งที่อยู่ระหว่างการรักษาด้วยเคมีบำบัด
- ผู้สูงอายุ
- คนอ้วน
- ผู้ที่กินยาสเตียรอยด์หรือยาชุด
- ผู้ที่ดื่มเหล้าเป็นประจำ
เป็นต้น
วิธีป้องกันโรคเนื้อเน่า
- ระมัดระวังอย่าให้เกิดบาดแผลขึ้น โดยเฉพาะบริเวณขาหรือเท้า
- หากมีบาดแผลขอให้หลีกเลี่ยงการลุยน้ำ และทำความสะอาดแผลด้วยน้ำสะอาด ฟอกสบู่ และใส่ยาฆ่าเชื้อ
- ระวังอย่าให้มีสิ่งสกปรกเข้าไปในบาดแผล โดยเฉพาะบาดแผลที่เกิดจากวัสดุที่สกปรก เช่น ตะปู หนาม ไม้ที่อยู่ในน้ำ ทิ่มแทง ควรไปพบแพทย์หรือสถานพยาบาลใกล้บ้าน
- ถ้าปวดบริเวณแผล บวม ร้อน แดงมากขึ้น หรือมีไข้ร่วมด้วย อาจเกิดการติดเชื้อได้ ให้รีบไปพบแพทย์โดยเร็ว เพื่อรับการวินิจฉัย
โรคเนื้อเน่าสามารถรักษาได้ ประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422