เดินป่าหน้าหนาว “ไรอ่อน” กัด เสี่ยงโรค “สครับไทฟัส” อันตรายถึงชีวิต
หน้าหนาว อากาศเย็น ๆ หลายคนจึงนิยมเข้าป่าขึ้นดอยเพื่อสัมผัสลมหนาว แต่การเข้าป่าในฤดูหนาวอาจเสี่ยงตัวไรอ่อนกัด ซึ่งอาจเป็นสาเหตุของโรค “สครับไทฟัส” ได้
โรคสครับไทฟัส คืออะไร ?
นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค ให้ข้อมูลว่า โรคสครับไทฟัส (Scrub typhus) มีอีกชื่อหนึ่งที่บางคนอาจจะคุ้นตามากกว่า คือ โรคไข้รากสาดใหญ่ เกิดจากการติดเชื้อหลังถูกตัวไรอ่อนกัด ซึ่งพบได้ในป่าเขาเขตชนบทต่าง ๆ โดยเฉพาะภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และมักพบผูในช่วงฤดูฝน และฤดูหนาว ตัวไรแก่จะอาศัยอยู่บนหญ้าและวางไข่บนพื้นดิน เมื่อฟักเป็นตัวอ่อน ไรอ่อนจะกระโดดเกาะสัตว์ เช่น หนู กระแต หรือคนที่เดินผ่าน เพื่อดูดน้ำเหลืองเป็นอาหาร
อาการของโรคสครับไทฟัส
ตัวไรอ่อนมักกัดในร่มผ้า เช่น ขาหนีบ เอว ลำตัว รักแร้
หลังถูกกัดประมาณ 10-12 วัน อาจมีอาการเหล่านี้
- มีไข้สูง หนาวสั่น
- ปวดศีรษะ
- ปวดเมื่อยตัว
- ตาแดง ปวดกระบอกตา
- พบแผลคล้ายถูกบุหรี่จี้ บริเวณที่ถูกไรอ่อนกัด ลักษณะมีสีแดงคล้ำเป็นรอยบุ๋ม ไม่คัน
อันตรายของโรคสครับไทฟัส
แผลที่เกิดขึ้นจากการถูกตัวไรอ่อนกัด สามารถหายได้เอง แต่บางรายอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรง พบประมาณ 1 ใน 5 เช่น ปอดอักเสบ สมองอักเสบ ทำให้เสียชีวิตได้
กลุ่มเสี่ยงโรคสครับไทฟัส
กลุ่มชาวไร่ ชาวสวน นักล่าสัตว์ นักท่องป่า ทหาร และผู้ที่ออกไปตั้งค่ายในป่า
วิธีลดความเสี่ยงโรคสครับไทฟัส
โรคสครับไทฟัสยังไม่มีวัคซีนป้องกัน แต่มียารักษาให้หายได้ อย่างไรก็ตามการป้องกันการเกิดของโรคตั้งแต่แรกเป็นวิธีที่ดีที่สุด ดังนี้
- หากตั้งใจจะไปท่องเที่ยวตั้งแคมป์ไฟ กางเต็นท์นอนในป่า ควรทำบริเวณค่ายพักให้โล่งเตียน หลีกเลี่ยงการนั่งและนอนบนพื้นหญ้า พุ่มไม้ ป่าละเมาะ
- ขณะอยู่ในป่า ควรแต่งกายให้มิดชิด สวมรองเท้า สวมถุงเท้าหุ้มปลายขากางเกง ใส่เสื้อแขนยาวปิดคอ และเหน็บชายเสื้อเข้าในกางเกง
- อย่าลืมทายาป้องกันแมลงกัดตามแขนขาทุกครั้งที่อยู่ในป่า
- หลังออกจากป่าให้รีบอาบน้ำ และซักเสื้อผ้าที่สวมใส่ทันที เพราะตัวไรอาจติดมากับเสื้อผ้าได้ และภายหลังจากกลับจากเที่ยวป่า หรือกางเต็นท์ภายใน 2 สัปดาห์
หากป่วย มีไข้ขึ้นสูง หนาวสั่น ปวดศีรษะ หรือตรวจพบสะเก็ดแผล ที่มีรอยไหม้คล้ายถูกบุหรี่จี้ที่ผิวหนัง ขอให้นึกถึงโรคนี้ และควรรีบไปพบแพทย์ทันที และแจ้งประวัติการเข้าไปในป่า เพื่อรับการรักษาโดยเร็วป้องกันการเสียชีวิต
หากตรวจพบว่าเป็นโรค ให้รับประทานยาปฏิชีวนะครบตามแพทย์สั่ง และไปติดตามผลการรักษาตามนัด