ติดเชื้อในกระแสเลือด คืออะไร? อันตรายแค่ไหน?
การติดเชื้อในกระแสเลือด ถึงแม้จะเป็นเพียงอาการ ไม่ใช่ชื่อโรค แต่เราต้องเคยได้ยินกันมาบ้างอย่างแน่นอน เพราะไม่ว่าคุณจะป่วยเป็นโรคอะไร ก็อาจมีสิทธิ์ที่จะมีอาการติดเชื้อในกระแสเลือดได้ แล้วที่สำคัญหากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องและทันท่วงที ก็อาจเสียชีวิตได้ภายในเวลาไม่กี่นาที
Sanook! Health พามาทำความรู้จักกับอาการนี้กันค่ะ
ติดเชื้อในกระแสเลือด คืออะไร?
ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด เกิดขึ้นจากการที่มีเชื้อโรคเข้าสู่ภายในร่างกายทางใดทางหนึ่ง เชื้อโรควิ่งไปตามกระแสเลือด ก่อให้เกิดอาการอักเสบ ติดเชื้อที่บริเวณส่วนใดส่วนหนึ่ง หรือทั่วทั้งร่างกาย
โดยปกติแล้ว เมื่อเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย จะมีเม็ดเลือดขาวคอยทำหน้าที่จับเชื้อโรคนั้นๆ ได้อยู่แล้ว แต่เมื่อใดที่ร่างกายอยู่ในภาวะอ่อนแอ ไม่สามารถต่อสู้กับเชื้อโรคได้ จึงเป็นเหตุให้เชื้อโรคเข้าสู่กระแสเลือดจนมีอาการติดเชื้อได้นั่นเอง
ปัจจัยเสี่ยงต่อภาวะการติดเชื้อในกระแสเลือด
iStock
- ความเจ็บป่วย
แน่นอนว่าเมื่อใดก็ตามที่ร่างกายอ่อนแอ เป็นโรค ภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือทำหน้าที่ได้ไม่เต็มที่ เมื่อนั้นเชื้อก็สามารถเข้าสู่ร่างกายจนทำให้ติดเชื้อได้ เช่น ไข้หวัดใหญ่ ไข้เลือดออก เป็นต้น
iStock
- เด็ก และผู้สูงอายุ มีโอกาสเสี่ยงติดเชื้อในกระแสเลือดมากกว่าวัยรุ่น วัยทำงาน
เนื่องจากเด็กเล็ก และผู้สูงอายุมีภูมิคุ้มกันต่ำกว่าวัยอื่นๆ หากมีอาการเจ็บป่วย หรือไม่แข็งแรงอยู่แล้ว จึงมีโอกาสเสี่ยงต่อการติดเชื้อในกระแสเลือดมากกว่า
iStock
- ผู้ที่มีโรคประจำตัว
เช่น โรคตับแข็ง เบาหวาน ไตวายเรื้อรัง เอดส์ เป็นต้น เพราะร่างกายอยู่ในช่วงที่ภูมิคุ้มกันทำงานได้ไม่เต็มที่
iStock
- การสอดใส่อุปกรณ์ต่างๆ เข้าไปในร่างกาย
หากเป็นผู้ป่วยที่ต้องสวนทวาร สวนปัสสาวะ หรือสอดท่อต่างๆ เข้าไปในคอ หรือตามส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย ต้องระมัดระวังให้อุปกรณ์ทุกชิ้นสะอาด ปราศจากเชื้อโรค เพราะผู้ป่วยจะอยู่ในสภาวะภูมิคุ้มกันโรคต่ำแล้ว เชื้อโรคจากอุปกรณ์ที่สามารถก็สามารถทำให้ผู้ป่วยติดเชื้อ และนำไปสู่ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดได้
ถึงแม้อุปกรณ์ทางการแพทย์ที่โรงพยาบาลจัดเตรียมไว้ เราจะวางใจได้ว่าสะอาดปลอดเชื้อโรค แต่หากใช้เข็มฉีดยานอกโรงพยาบาล ร่วมกับผู้ติดเชื้อ หรือใช้เข็มฉีดยาในการเสพยาเสพติด ตัวยาอาจจะคุณภาพต่ำ ไม่สะอาด ละลายน้ำไม่ดี อาจก่อให้เกิดอาการติดเชื้อในกระแสเลือดได้เช่นกัน
iStock
- เชื้อก่อโรค มีความรุนแรงผิดปกติ และผู้ป่วยอยู่ในภาวะดื้อยา
หากเป็นผู้ป่วยที่มีประวัติการป่วยเป็นประจำอยู่แล้ว ร่างกายอ่อนแอ และเชื้อโรคพัฒนาจนไม่สามารถใช้ยาตัวเดิมเพื่อทำการรักษาอีกต่อไป หากยังหาตัวยาอื่นมาทดแทนไม่ได้ และรักษาไม่ทันท่วงที ก็อาจเกิดภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดได้เช่นกัน
อาการติดเชื้อในกระแสเลือด
- มีไข้สูงเกิด 38.3 องศาเซลเซียส
- ชีพจรเต้นเร็วเกิน 90 ครั้งต่อนาที (ผู้ใหญ่)
- หายใจเร็วเกิน 24 ครั้งต่อนาที (ผู้ใหญ่)
- เม็ดเลือดขาวเพิ่มจำนวนมากขึ้น
- ความดันโลหิตต่ำ จนอาจมีอาการช็อก
- หากติดเชื้อในอวัยวะบางส่วน ก็จะมีอาการเฉพาะส่วน เช่น ปัสสาวะแสบขัดจากการติดเชื้อในกระเพาะปัสสาวะ หรือไอ และเจ็บที่หน้าอก เมื่อมีอาการติดเชื้อที่ปอด เป็นต้น
- การทำงานของอวัยวะต่างๆ ล้มเหลว เช่น ไต ปอด หัวใจ จนสุดท้ายเสียชีวิต
การป้องกันอาการติดเชื้อในกระแสเลือด
1. รักษาสภาพร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ อย่าป่วยบ่อย
2. ทานอาหารให้เป็นประโยชน์ ครบ 5 หมู่ ออกกำลังกายเป็นประจำ สัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง
3. พักผ่อนให้เพียงพอ นอนวันละ 6-8 ชั่วโมง
4. ฉีดวัคซีนป้องกันโรคเป็นครั้งคราว เช่น ไข้หวัดใหญ่ ไวรัสตับอักเสบ
5. ตรวจร่างกายสม่ำเสมอทุกปี
6. ใครที่มีโรคประจำตัวต้องไปตามที่หมอนัด และทานยาอย่างเคร่งครัด