"ยาสมุนไพร" ผู้สูงอายุควรใช้อย่างไรถึงจะดี และปลอดภัย ?
การใช้ยาอย่างถูกต้องย่อมปลอดภัย และเกิดประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ แต่ถ้าใช้ยาผิดพลาด! อาจทําให้ได้รับอันตราย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้ยาในผู้สูงอายุ ซึ่งพบว่าเป็น ผู้ที่มีความเสี่ยง หรือมีโอกาสที่จะได้รับอันตรายจากการใช้ยามากกว่าบุคคลทั่วไป ฉะนั้นมาดูกันดีกว่าว่า "การใช้ยา และ สมุนไพร" สำหรับผู้สูงวัย ควรใช้อย่างไรจึงจะดี และปลอดภัย?
ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการใช้ยาในผู้สูงอายุ
- เมื่ออายุมากขึ้น การทํางานของไตจะลดลง ทําให้มีโอกาสที่ยาจะสะสมในร่างกายสูงขึ้น
- การที่ประสิทธิภาพของตับลดลง ทําให้มีระดับยาในเลือดสูงจนอาจเกิดอันตรายได้
- เมื่ออัลบูมินซึ่งเป็นโปรตีนชนิดหนึ่งในเลือด ทําหน้าที่เป็นพาหนะขนส่ง ยาลดลงจะทําให้ยาอยู่ในรูปอิสระมากขึ้น ส่งผลให้ยาออกฤทธิ์ได้แรงขึ้น
- ผู้สูงอายุมักจะมีความไวต่อยาที่ออกฤทธิ์บริเวณระบบประสาทส่วนกลาง รวมทั้งระบบการทํางานของหลอดเลือดและหัวใจ ทําให้เกิดอาการข้างเคียงของยาเพิ่มขึ้น
- ผู้สูงอายุอาจจะมีอาการหลงลืมได้ง่าย อาจเกิดปัญหาการใช้ยาไม่ครบตามที่กําหนด หรือการใช้ยาซ้ำซ้อน
- น้ำหนักผู้สูงอายุจําเป็นต้องพิจารณาขนาดยาให้เหมาะสม เพราะยาที่ละลายได้ดีในไขมัน เมื่อให้แก่ผู้ที่มีน้ำหนักตัวมาก ยาจะไปอยู่ตามเนื้อเยื่อไขมัน ทําให้ระดับยาในเลือดต่ำกว่าที่ต้องการ ดังนั้นอาจต้องให้ยาในขนาดที่สูงกว่าคนรูปร่างปกติ
- ผู้สูงอายุมักเป็นหลายโรค จะได้รับยาหลายขนานที่อาจเกิดปฏิกิริยาต่อกันของยาเพิ่มขึ้น
ข้อควรปฏิบัติในการใช้ยาของผู้สูงอายุ
- แจ้งให้แพทย์ หรือเภสัชกรทราบเกี่ยวกับยาที่ใช้อยู่
- แจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบเกี่ยวกับอาการผิดปกติที่เกิดขึ้น
- แจ้งให้ทราบถ้ามีปัญหาเกี่ยวกับการกลืนยา เพื่อแพทย์ หรือเภสัชกรจะได้เลือกชนิดยาที่เหมาะสม
- ศึกษาเกี่ยวกับยาที่ผู้สูงอายุใช้อยู่เป็นประจํา เพื่อความปลอดภัยในการใช้ยา
- สอบถามแพทย์ หรือเภสัชกรเกี่ยวกับระยะเวลาการใช้ยาให้ชัดเจน
- สอบถามแพทย์ หรือเภสัชกรเกี่ยวกับอาหารที่รับกินว่า มีผลต่อการใช้ยาหรือไม่ อย่างไร
- อ่านฉลากยา และปฏิบัติตามคําแนะนําทุกขั้นตอนก่อนการใช้ยาทุกครั้ง
- กินยาตามที่แพทย์ หรือเภสัชกรแนะนําอย่างเคร่งครัด
การใช้ยาในผู้สูงอายุ เป็นสิ่งที่ควร ระมัดระวัง ดังนั้นผู้ที่เกี่ยวข้อง ควรใส่ใจในการใช้ยาของผู้สูงอายุเป็นพิเศษ ส่วนผู้สูงอายุเองควรศึกษาหาความรู้ เกี่ยวกับยาที่ใช้ เพื่อประโยชน์ในการรักษา
สมุนไพรในผู้สูงอายุ
การใช้สมุนไพรเป็นทางเลือกหนึ่ง ของผู้สูงอายุ สมุนไพรหลายชนิดมี ประสิทธิภาพในการรักษา การเลือกซื้อ หรือเลือกใช้ผลิตภัณฑ์สมุนไพรให้ปลอดภัยนั้น ควรศึกษาข้อมูลที่ถูกต้อง หรือปรึกษาเภสัชกร
ผู้สูงอายุอาจกินสมุนไพรควบคู่กับการกินยาที่ใช้รักษาโรคของแพทย์แผนปัจจุบันได้ แต่ต้องแจ้งชื่อ สมุนไพรให้แพทย์ผู้ตรวจทราบด้วย ถ้าเกิดมีอาการ ผิดปกติ หรือข้อสงสัยในการใช้สมุนไพร อาจสอบถามแพทย์ หรือเภสัชกร เพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพของผู้สูงอายุ
สมุนไพรที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุมีหลายชนิด เช่น
-
สมุนไพรที่ช่วยลดไขมันในเลือด
กระเทียม (หอมขาว หอมเทียม หัวเทียม)
ส่วนที่ใช้ : กระเทียมสด
วิธีใช้ : ใช้รับกินเป็นอาหาร สําหรับผู้ที่มีระดับไขมันในเลือดสูง โดยให้กินครั้งละ 5 กรัม (ประมาณ 5-7 กลีบ) วันละ 3 ครั้ง พร้อมอาหาร หรือ หลังอาหารเป็นเวลา 1 เดือน แล้วให้กินต่อไปวันละ 5 กรัม (ประมาณ 5 - 7 กลีบ)
-
สมุนไพรลดระดับน้ำตาลในเลือด
มะระขี้นก (มะระเล็ก ผักไห่ มะไห่ ผักเหย)
ส่วนที่ใช้ : ผล
วิธีใช้ : นําผลสดมาปั้นหยาบๆ
คั้นเป็นน้ำสมุนไพรดื่ม หรือนําผลมาปรุงเป็นอาหาร เช่น ผัด ต้ม แกง เป็นต้น
-
สมุนไพรช่วยระบาย
แมงลัก (มังลัก ก้อมก้อขาว)
ส่วนที่ใช้ : เมล็ด
วิธีที่ใช้ : ใช้เมล็ด 1 - 2 ช้อนชา
นํามาแช่น้ําจนพองตัว เต็มที่ก่อนกิน ควรกินก่อนนอน
ข้อควรระวัง : การแช่เมล็ดแมงลักในน้ำต้องให้มีปริมาณน้ำที่มากพอ เพื่อให้เมล็ดพองตัวเต็มที่ ซึ่งถ้าเมล็ดแมงลักไม่พองตัวเต็มที่ เมื่อกินเข้าไปแล้วจะดูดน้ำในกระเพาะอาหาร และลําไส้ เมื่อเมล็ดพองตัว จะทําให้เกิดการแข็ง และอุดตัน ของกากอาหารมากยิ่งขึ้น
-
สมุนไพรช่วยลดอาการท้องอืด แน่นท้อง
ขมิ้นชัน (ขมิ้น ขมิ้นแกง ขมิ้นอ้อย)
ส่วนที่ใช้ : เหง้า
วิธีที่ใช้ : ฝานขมิ้นตากแดด บดเป็นผง แล้วปั้นเป็นลูกกลอน กินครั้งละ 2 - 3 เม็ด วันละ 3 - 4 ครั้ง หลังอาหาร
เป็นอย่างไรกันบ้างเอ่ย กับเคล็ดลับ "การใช้ยา และ สมุนไพร" สำหรับผู้สูงวัย ใครที่มีผู้สูงวัยอยู่ในบ้าน สามารถนำเอาเคล็ดลับดีดีเหล่านี้ไปใช้กันได้นะคะ สุดท้ายนี้ GedGoodLife ขอให้ผู้สูงวัยทุกท่าน มีสุขภาพแข็งแรง อายุยืน เป็นร่มโพธิ์ร่มไทรให้ลูกหลานไปนาน ๆ