“ยาสมุนไพร” อาจเป็นสาเหตุเพิ่มเสี่ยง “มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก”

“ยาสมุนไพร” อาจเป็นสาเหตุเพิ่มเสี่ยง “มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก”

“ยาสมุนไพร” อาจเป็นสาเหตุเพิ่มเสี่ยง “มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก”
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

แม้ว่าสาเหตุของโรคมะเร็งจะยังไม่สามารถชี้เฉพาะเจาะจงได้ว่ามาจากสาเหตุใดอย่างแน่ชัด แต่จากรายงานวิจัยหลายชิ้นสามารถระบุถึง “ปัจจัยเสี่ยง” ของโรคมะเร็งหลายชนิดได้ มีตั้งแต่อาหารปิ้งย่างที่มีรอยไหม้ดำมากเป็นพิเศษ อาหารแปรรูป เช่น ไส้กรอก แฮม เนื้อแดง เช่น เนื้อวัว และเชื้อราที่อาจพบได้ในอาหารบางชนิด เช่น เชื้อราที่พบได้ในถั่ว เป็นต้น

แต่อีกสาเหตุที่อาจเป็นเรื่องคาดไม่ถึงสำหรับใครหลายคนที่พยายามดูแลตัวเองเป็นอย่างดี คือการกินยาสมุนไพรมากเกินไป หรือกินไม่ถูกวิธี ที่สามารถเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็งได้เช่นกัน


ยาสมุนไพร เพิ่มความเสี่ยงโรคมะเร็ง ?

พญ. กมัยธร เทียนทอง กลุ่มงานสูตินรีเวชศาสตร์ โรงพยาบาลราชวิถี ให้ข้อมูลไว้ว่า ยาสมุนไพรที่มีเอสโตรเจนสูง เช่น กวาวเครือ หากกินมากเกินไปก็อาจเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกได้ เพราะเป็นการเพิ่มระดับฮอร์โมนเพศหญิง หรือฮอร์โมนเอสโตรเจนมากเกินไป

นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ที่ผู้หญิงวัยทองมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกได้อีก เช่น

  • ผู้หญิงวัยทองที่ได้รับฮอร์โมนเอสโตรเจนเสริมเพียงอย่างเดียว

  • คนอ้วน หรือคนที่มีน้ำหนักเกินมาตรฐาน เพราะคนน้ำหนักตัวมากจะสร้างฮอร์โมน เอสโตรเจนมากกว่าคนน้ำหนักปกติ 

  • ผู้ป่วยโรคมะเร็งเต้านมที่กำลังใช้ยารักษามะเร็งเต้านม

  • ผู้หญิงที่อยู่ในภาวะไข่ไม่ตกเรื้อรัง ซึ่งมักมีอาการประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ หน้ามัน เป็นสิว หรือขนดก

  • ความดันโลหิตสูง 

  • เบาหวาน 

  • ผู้หญิงไม่มีลูก

  • มีประวัติพันธุกรรมสายตรง

เป็นต้น

นอกจากนี้คุณหมอยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมอีกด้วยว่า “มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกนั้น นับเป็นมะเร็งที่พบบ่อยเป็นอันดับ 3 ของมะเร็งอวัยวะสืบพันธุ์สตรีไทย ส่วนใหญ่อยู่ในวัยหมดประจำเดือน แต่ปัจจุบันเริ่มพบในผู้หญิงที่อายุต่ำกว่า 40 ปีมากขึ้น จำนวนผู้ป่วยรายใหม่ที่เข้ามารักษาเฉพาะมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกของ รพ.ราชวิถี ปี 2561 ที่ผ่านมา คนไข้มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกมีมากถึง 570 คน”


อาการเริ่มต้นของโรคมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก

อาการของโรคนี้ที่สังเกตได้ง่ายคือ มีเลือดออกทางช่องคลอด เนื่องจากมะเร็งชนิดนี้มักเกิดหลังอายุ 50 ปี หากมีเลือดออกหลังหมดประจำเดือนควรรีบมาพบแพทย์ แต่หากเลือดออกในช่วงที่ไม่ใช่รอบเดือน เช่น ออกกะปริดกะปรอย หรือออกมาก นานเกิน 7 วันต่อรอบ ก็ควรรีบมาพบแพทย์ 

หากตรวจพบแล้ว การผ่าตัดนับเป็นวิธีหลักของการรักษาโรคนี้ โดยผ่าตัดทางหน้าท้อง หรือผ่านกล้อง จากนั้นแพทย์จะวิเคราะห์ต่อว่าจะรักษาเช่นใดเพิ่มเติม รังสีรักษา หรือเคมีบำบัด


ใช้ยาสมุนไพรอย่างไร ไม่เสี่ยงอันตราย

ขึ้นชื่อว่าเป็นยาที่มีส่วนผสมมาจากสมุนไพร ใช่ว่าจะปลอดภัยต่อร่างกายเสมอไป เพราะ

  1. ไม่ใช่ยาสมุนไพร 100% โดยสามารถสังเกตได้จากแหล่งผลิต ว่ามาจากผู้ผลิตที่เชื่อถือได้หรือไม่ อ่านฉลากข้างบรรจุภัณฑ์ให้ดีว่ามีส่วนผสมอะไรบ้าง เป็นสมุนไพรจริงมากน้อยแค่ไหน มีความเสี่ยงที่จะใส่ตัวยาอื่น ๆ ที่อันตรายต่อร่างกายในภายหลังหรือไม่

  2. เป็นยาสมุนไพรจริง แต่ยังไม่ทราบวิธีการกินที่ถูกต้อง เพราะไม่ได้หาข้อมูลการกินให้ดี และไม่ได้ปรึกษาแพทย์ และเภสัชกรก่อนกิน ได้แต่เชื่อเพื่อน หรือคนอื่นที่ไม่ใช่แพทย์ และเภสัชกร ทำให้เสี่ยงที่จะกินผิดวิธี กินน้อยไปไม่ได้ผล กินมากไปส่งผลอันตรายต่อร่างกาย

  3. แอบซื้อยาสมุนไพรมากินควบคู่ไปกับการกินยาปฏิชีวนะจากแพทย์แผนปัจจุบัน การกินยาทั้งคู่พร้อมกันอาจเป็นการทวีประสิทธิภาพของยาให้มากขึ้นกว่าเดิม และส่งผลอันตรายต่อร่างกายได้ เช่น กินยาลดความดันโลหิตจากแพทย์โรงพยาบาล และกินยาสมุนไพรที่ช่วยลดความดันโลหิตเพิ่มเข้าไปอีก อาจทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตต่ำเกินไปได้ 

ดังนั้นก่อนกินยาอื่น ๆ ควรปรึกษาแพทย์ประจำตัวที่ให้การรักษาอยู่ก่อนแล้วด้วยทุกครั้ง ไม่ควรซื้อยามากินเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์ และเภสัชกรเด็ดขาด แจ้งอย่างละเอียดว่าเป็นโรคอะไร มีอาการอย่างไร กินยาตัวไหนอยู่ แล้วอยากกินยาตัวไหนเพิ่ม อยากเพิ่มยา หรือเปลี่ยนยาเพราะอะไร การแจ้งรายละเอียดกับแพทย์ และเภสัชกร จะช่วยให้เราได้ยาที่เหมาะสมกับอาการของเราได้มากขึ้น และเราสามารถกินยาได้อย่างปลอดภัย ไม่ต้องกังวลเรื่องผลข้างเคียงที่จะตามมา ซึ่งอาจหนักกว่าโรคที่เป็นอยู่ ณ ปัจจุบันได้

>> "ยาสมุนไพร" ผู้สูงอายุควรใช้อย่างไรถึงจะดี และปลอดภัย ?

>> "ยาสมุนไพร" ไม่มี อย. อาจรักษาโรคไม่ได้ แถมเสี่ยงตับไตพัง

>> 5 วิธีกินยาสมุนไพรแบบผิดๆ เสี่ยงอันตรายถึงชีวิต

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook