ทำไม “ความรัก” ของเราถึงไปไม่รอด ? คำตอบที่อธิบายด้วยหลักจิตวิทยา

ทำไม “ความรัก” ของเราถึงไปไม่รอด ? คำตอบที่อธิบายด้วยหลักจิตวิทยา

ทำไม “ความรัก” ของเราถึงไปไม่รอด ? คำตอบที่อธิบายด้วยหลักจิตวิทยา
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

“ความรัก” ไม่ใช่เรื่องของ “โชค” เสมอไป เพราะการที่ความสัมพันธ์ของเรากับคนรักจะราบรื่น อยู่ด้วยแล้วสงบร่มเย็นเป็นสุข หรือจะร้อนเป็นไฟ ปะทะคารมกันตลอดเวลา เหมือนพูดกันคนละภาษา หรือบางคู่อยู่ไกลกันก็ยังรักกันดี แต่บางคู่ยิ่งอยู่ใกล้ยิ่งทะเลาะกัน ทั้ง ๆ ที่คุณทั้งคู่ก็เป็นคนดี ไม่มีปัญหานอกใจกัน บางครั้งก็สามารถอธิบายคร่าว ๆ ได้ด้วยหลักจิตวิทยาที่มีชื่อว่า ทฤษฎีความผูกพัน


ทฤษฎีความผูกพัน (Attachment Theory) คืออะไร ?

ทฤษฎีความผูกพัน (Attachment Theory) หรือ ทฤษฎีความผูกพันทางอารมณ์ เป็นแบบจำลองทางจิตวิทยาเพื่อกำหนดพลศาสตร์ของความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ทั้งในระยะยาวระยะสั้น จากข้อมูลทางเพจ KruPooh อธิบายให้เข้าใจง่าย ๆ คือ ตั้งแต่เด็ก เราจะมีความคาดหวังที่จะได้รับความรักจากคนที่ดูแลเรา เช่น พ่อ แม่ หรือญาติที่เลี้ยงเรามา ซึ่งเราอาจจะได้รับความรักอย่างเต็มที่ หรือเราอาจจะขาดความรักจากคนที่ดูแลเราเพราะปัญหาต่าง ๆ เช่น พ่อแม่หย่าร้าง ไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ พ่อแม่ไม่ได้ให้เวลาในการเลี้ยงดูอย่างใกล้ชิด ฯลฯ ความคาดหวังที่จะได้รับความรัก และการถูกเติมเต็มความคาดหวังนี้มากน้อยแค่ไหนในสมัยเด็ก จะตามมาเป็นตัวกำหนดรูปแบบความสัมพันธ์ในความรักของเราในอนาคตได้


เรามีความรักในรูปแบบไหน ?

เพจ KruPooh อธิบายว่า จากทฤษฎีความผูกพัน สามารถแบ่งออกเป็นข้อย่อย ๆ ได้ดังนี้

  1. Secure Attachment = มั่นคง = คาดหวังและได้รับความรัก
    เป็นคนที่มีประสบการณ์ในครอบครัวที่อบอุ่น ได้รับความรักจากพ่อแม่ หรือคนเลี้ยงดูอย่างเต็มที่ ไม่เคยรู้สึกว่าพ่อแม่หรือคนในครอบครัวไม่รักเรา ส่งผลให้เมื่อเติบโตขึ้นมาจึงเป็นคนที่มีความมั่นใจในเรื่องความรักว่าหากเรารักใคร เราก็จะได้ความรักนั้นกลับมาเช่นกัน

  2. Avoidant Attachment = หลีกเลี่ยง = คาดหวัง แต่ไม่ได้รับความรัก
    เป็นคนที่ถูกเลี้ยงมาในครอบครัวที่สมาชิกในครอบครัว พ่อแม่ หรือผู้ที่เลี้ยงดูอาจไม่ได้ให้ความรักอย่างเต็มที่ อยู่ห่างไกลจากคนในครอบครัวเมื่อสมัยเด็ก หรือคนในครอบครัวปฏิบัติด้วยกิริยาท่าทางที่ห่างเหิน เย็นชา ไม่ใส่ใจ หรือมีการใช้ความรุนแรงกันภายในบ้าน เมื่อเติบโตมาจึงไม่ได้รู้สึกว่าต้องการความรัก จึงปิดกั้นความรู้สึกของตัวเอง เพราะไม่อยากเสียใจ และจะพยายามพึ่งตัวเองให้ได้มากที่สุด เพราะไม่อยากมีความผูกพันกับคนอื่น

  3. Anxious Attachment = กังวล = คาดหวัง ได้รับความรักบ้าง ไม่ได้รับบ้าง

เป็นคนที่ถูกเลี้ยงมาในครอบครัวที่เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย บางครั้งก็มีความสุข บางครั้งก็มีความทุกข์ ตอนเด็ก ๆ อาจมีช่วงเวลาที่รักพ่อแม่มาก แต่ก็มีบางช่วงที่ไม่รักพ่อแม่ เพราะพ่อแม่ หรือคนเลี้ยงดูอาจทำให้เป็นทุกข์ หรือเลี้ยงดูแบบใส่ใจบ้าง ไม่ใส่ใจบ้าง ทำให้มีความรู้สึกต่อความรักที่ไม่มั่นคง ไม่แน่นอน เติบโตมาจึงกลายเป็นคนไม่มั่นคง ไม่แน่ใจในความรักที่คนอื่นมอบให้ และมักจะกลัวว่าคนอื่นจะไม่รักตัวเอง

แบบทดสอบตัวเอง ว่าเป็นคนประเภทไหน

http://theoryoflove.space/test/attachment-style/

 
รูปแบบความสัมพันธ์ของคนแต่ละประเภท

คนในแต่ละประเภทที่กล่าวมาข้างต้น จะตอบสนอง และแสดงออกไม่เหมือนกัน เมื่ออยู่ในความสัมพันธ์กับคนรัก

เช่น

"เวลาเกิดความเครียดในความสัมพันธ์"

- Secure : เคลียร์ตรง ๆ แก้ปัญหาโดยไม่ให้กระทบความสัมพันธ์

- Avoidant : เลือกที่จะเงียบและหลบหนี แต่ในใจจะคอยตำหนิคนรักให้เขาดูแย่ลง เพื่อให้รู้สึกชอบธรรมในการหลีกหนี

- Anxious : ไม่พูดออกมา แต่จะแสดงพฤติกรรมต่อต้าน เช่น งอน คือจริง ๆ ก็อยากเคลียร์ แต่ไม่กล้า เพราะกลัวคำตอบ

"ทัศนคติ กับความใกล้ชิด"

- Secure : ก็อยากอยู่ใกล้ชิดคนรัก แต่ถ้าห่างกันก็ไม่เป็นไร เราเชื่อมั่นในความสัมพันธ์ รู้ว่ายังไงก็มีกันอยู่

- Avoidant : ต้องการพื้นที่ของตัวเอง ไม่ต้องการใคร ออกไป! (จริงๆ ก็ต้องการ แต่แค่กลัว และไม่กล้าเชื่อใจใครอีก)

- Anxious : อยากอยู่ใกล้ชิดกับคนรักตลอดเวลา กระหายความรัก การหายไป ทำให้เรากลัวว่าเค้าจะไม่รักเรา จะรู้สึกไม่มั่นคงตลอดเวลา แต่ถ้าบอกไปตรง ๆ ว่าต้องการอะไร ก็กลัวเขาจะหนีไป

"ใครเป็นคนขับเคลื่อนความสัมพันธ์"

- Secure : มันไม่ใช่ปัญหา เราไปด้วยกันแบบมีความเข้าใจ

- Avoidant : ลองพยายามควบคุมเราดูสิ จะวิ่งหนีเดี๋ยวนี้แหล่ะ

- Anxious : ตามใจคนรักดีกว่า ถ้าไม่ตามเขา เขาต้องไม่รักเรา แล้วไปหาคนอื่นแน่ ๆ

"มุมมองต่อ (ตัวเอง,คนอื่น)"

- Secure : +,+

- Avoidant : +.-

- Anxious : -,+

"เวลาอะไรไม่เป็นไปตามใจ"

- Secure : ไม่เป็นไร เราจะหาทางแก้ได้

- Avoidant : จะรู้สึกโดนทำร้าย รู้สึกว่าทุกคนไว้ใจไม่ได้ เราจะต้องทำทุกอย่างบนโลกด้วยตัวคนเดียว

- Anxious : ต้องมีอะไรที่เราผิดพลาดไปแน่ ๆ แล้วก็จะเริ่มโทษตัวเอง มีความคิดลบ ๆ กับตัวเอง คิดว่าจะต้อง เอาชนะหรือเปลี่ยนตัวเอง เพื่อให้ได้มันมา

Secure ไม่ได้เป็นคนดี Avoidant, Anxious ไม่ได้เป็นคนแย่เสมอไป

แม้ว่าเราอาจเป็นประเภท Avoidant หรือ Anxious แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเราเป็นคนแย่ ๆ ที่คอยทำลายความสัมพันธ์อยู่ตลอดเวลา และไม่ได้หมายความคนประเภท Secure จะคอยพยุงความสัมพันธ์ให้ราบรื่นไปตลอดเช่นกัน เมื่อประสบการณ์ในตอนเด็กหล่อหลอมให้เรากลายเป็นคนแบบนั้นไปแล้ว เราก็ต้องยอมรับ พยายามปรับจูนเข้าหากับอีกคนให้ได้ มันแก้ไขไม่ได้ แต่มันก็ปรับกันได้

 
ความสัมพันธ์ราบรื่น เมื่อจับคู่คนให้ถูก

หากอยากให้ความสัมพันธ์ของเราไปด้วยกันตลอดรอดฝั่ง เราก็ต้องจับคู่กับคนให้ถูกประเภท

หากคุณเป็นคนประเภท Secure คุณสามารถอยู่คู่กับคนประเภท Avoidant หรือ Anxious ก็ได้

Secure + Secure = ต่างคนต่างมั่นคงในความรัก มั่นใจซึ่งกันและกัน ร่มเย็นมีความสุข

Secure + Avoidant = มอบพื้นที่ส่วนตัวให้อีกคนได้ ไม่เจ้ากี้เจ้าการ ยุ่มย่าม หรือคุกคามชีวิตเขาจนเขาอึดอัดมากเกินไปได้

Secure + Anxious = อีกคนจะตัวติดหนึบกับเราก็ได้ คุยกันตลอดเวลาได้ เขาก็จะรู้สึกว่าเราไม่ได้หาย หรือทิ้งเขาไปไหน


แต่หาก Avoidant กับ Anxious มาคบกัน

Avoidant = ต้องการพื้นที่ส่วนตัว กลัวการจู่โจมเข้าหา

Anxious = ต้องการการใกล้ชิด การบอกรัก

Avoidant + Avoidant = ต่างฝ่ายต่างอยากมีพื้นที่ส่วนตัวของตัวเอง เหมือนใช้ชีวิตกันคนละโลก กลัวการผูกมัด ไม่มีฝ่ายใดเข้าหาอีกฝ่ายหนึ่ง จึงไปกันไม่รอด

Anxious + Anxious = ใกล้ชิดกันอยู่ตลอด ตัวติดกันเป็นปาท่องโก๋ แต่แทนที่ต่างฝ่ายจะเข้าใจกัน กลับเรียกร้องหาความรักจากอีกฝ่ายตลอดเวลา ไม่เข้าใจกัน และแสดงพฤติกรรมต่อต้านกันและกันตลอดเวลา เพราะต่างฝ่ายต่างคิดว่าอีกฝ่ายไม่รักตัวเอง

 
วิธีแก้ปัญหา เมื่อคนรักเป็นคน Avoidant

มอบพื้นที่ส่วนตัวให้เขาได้ทำอะไรในแบบที่เขาอยากทำคนเดียวได้ ไม่บังคับ ผูกมัด หรือฝืนใจให้เขาทำในสิ่งที่ไม่อยากทำ ไม่เรียกร้องความรักจากเขามากเกินไป แต่คอยเป็นกำลังใจ และอยู่ข้าง ๆ ทุกครั้งที่เขาต้องการ

 
วิธีแก้ปัญหา เมื่อคนรักเป็นคน Anxious

มอบความรัก ความมั่นคงให้กับเขา ให้เขาเชื่อใจเราว่าเรารักเขา จะอยู่ข้าง ๆ เขาเสมอ ไม่นอกใจไปไหน มอบความ “สม่ำเสมอ” ให้กับเขา เช่น โทรคุยกันเรื่อย ๆ ตอบแชทกัน เจอหน้ากันเรื่อย ๆ ทำให้อีกฝ่ายมั่นใจว่าเราไม่ได้เปลี่ยนไปตั้งแต่วันแรกที่คบกัน หากมีช่วงไหนที่ไม่สะดวก ก็ต้องทำให้เขามั่นใจว่าเรายังเหมือนเดิม ถ้าคุยตอนนี้ไม่ได้เดี๋ยวอีกแปบเดียวจะโทรกลับ เป็นต้น

ดังนั้น การจะมีความสัมพันธ์ที่ยั่งยืน และมีความสุขไปได้ตลอดรอดฝั่ง ไม่จำเป็นต้องมีทั้งสองฝ่ายที่เป็นคนประเภท Secure ขอแค่มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นคน Secure ก็เพียงพอแล้ว คนที่มีความสัมพันธ์กับคนประเภท Avoidant และ Anxious ก็ต้องทำความเข้าใจเขาให้มากขึ้น มอบในสิ่งที่เขาต้องการ ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ส่วนตัว หรือความรัก ถ้าทำได้ความสัมพันธ์ของคุณก็จะไม่มีปัญหาอีกต่อไป

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook