ทำไมบางคน “เครียด” แล้วกินไม่ลง VS “เครียด” แล้วกินเยอะเกินไป?
ภาวะเครียด สามารถส่งผลต่อสภาพจิตใจ และร่างกายของเรามากอย่างที่คุณเองอาจไม่คาดคิด เพราะความเครียดอาจส่งผลต่อพฤติกรรมการรับประทานอาหาร การนอนหลับพักผ่อน ไปจนถึงสภาพความคิดจิตใจที่ส่งผลต่อการกระทำของเราต่อผู้อื่นได้อีกด้วย
ความเครียด กับพฤติกรรมการกิน
หลายคนอาจเคยมีประสบการณ์ เครียดเรื่องเรียน เรื่องงาน เรื่องความรัก เรื่องครอบครัว และเรื่องอื่น ๆ ที่ส่งผลให้พฤติกรรมการกินของเราเปลี่ยนไป บางคนกินไม่ลงจนผ่านผอม บางคนกินเยอะขึ้นมากจนอ้วน
ความเครียดเรื้อรังที่ส่งผลกระทบต่อร่างกาย อาจส่งผลให้ความอยากอาหารลดลง เช่น
- ปวดศีรษะ ไมเกรน
- ท้องอืด อาหารไม่ย่อย
- กล้ามเนื้อตึง
- เหนื่อยล้า อ่อนเพลีย
- นอนไม่หลับ
- อารมณ์เปลี่ยนไป ควบคุมอารมณ์ไม่ค่อยอยู่
- หลง ๆ ลืม ๆ เช่น ลืมกุญแจบ้าน กระเป๋าเงิน มือถือ หรือลืมเรื่องง่าย ๆ ที่ไม่ควรลืม
- หัวใจเต้นแรง และเร็วขึ้น
- เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ
- เป็นโรคร้ายแรงที่มีอาการเรื้อรัง
ส่วนความเครียดเรื้อรังที่ส่งผลกระทบทางจิตใจ แต่ร่างกายไม่ได้มีผลกระทบมาก เช่น อกหัก ไม่ถูกหวย เซ็งในเรื่องต่าง ๆ ที่ไม่ใช่เรื่องจริงจังมาก อาจทำให้เราอยากอาหารมากขึ้น เพราะร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนเครียดที่มีชื่อว่า ฮอร์โมนคอร์ติซอล และฮอร์โมนหิว หรือฮอร์โมนเกรลิน ออกมา จึงทำให้เรามีความอยากอาหารมากขึ้น โดยเฉพาะผู้หญิงที่จะหันไปหาอาหารได้ง่ายกว่าผู้ชาย ที่จะหันไปหาบุหรี่ หรือแอลกอฮอล์มากกว่า การกินอาหารที่ให้พลังงานในทันที ทำให้อิ่มท้องและอิ่มใจได้ง่าย ก็คืออาหารที่มีน้ำตาล และไขมันสูง เช่น ของหวาน ของทอด เบเกอรี่ ปิ้งย่าง ไอศกรีม อาหารจากแป้งและน้ำตาลต่าง ๆ นั่นเอง
แก้ความเครียด ด้วยอาหารที่ดีต่อสุขภาพ
ไม่ว่าคุณจะเครียดแล้วกินไม่ลง หรือกินมากเกินไป หากหันมากินอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ก็จะช่วยไม่ให้ร่างกายของเราได้รับผลกระทบจากความเครียดมากเกินไปนัก ดังนั้น เครียดเมื่อไร ให้หันมากินอาหารคลีน อาหารเมดิเตอร์เรเนียน ที่เน้น ผัก ผลไม้ ปลา ไก่ (ไม่กินหนัง) โดยใช้วิธีปรุงด้วยการต้ม นึ่ง ย่าง และปรุงอาหารให้น้อย ๆ
นอกจากนี้อย่าลืมระบายความเครียดด้วยการออกกำลังกาย ทำกิจกรรมที่ตัวเองชอบ เช่น ฟังเพลงโปรด ดูหนังเรื่องโปรด หรือหาเวลาไปเจอเพื่อน พูดคุย ทำกิจกรรมกับเพื่อน ๆ เท่านี้ก็ช่วยลดเครียดได้โดยไม่ทำร้ายร่างกายได้แล้ว