"ริดสีดวงทวาร" คืออะไร ? อาการ และวิธีป้องกัน

"ริดสีดวงทวาร" คืออะไร ? อาการ และวิธีป้องกัน

"ริดสีดวงทวาร" คืออะไร ? อาการ และวิธีป้องกัน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

โรคริดสีดวงทวาร คืออะไร?

โรคริดสีดวงทวาร คือ การที่หลอดเลือดดำที่ลำไส้ใหญ่ และทวารหนัก มีอาการบวม หรือโป่งพอง เป็นหัว หรือที่เรียกว่า "หัวริดสีดวง" โดยหลอดเลือดบางส่วนยื่นออกมาจากทวารหนัก โดยเราสามารถแบ่ง ริดสีดวงทวาร ออกได้เป็น 2 ประเภท คือ

  1. ริดสีดวงทวารภายใน คือ ริดสีดวงทวารที่เกิดเหนือรูทวารหนักราว 1.5 – 2 ซม. และหลอดเลือดที่โป่งพอง มักจะไม่โผล่ออกมาให้เห็น รวมถึงคลำไม่พบ มักถูกคลุมด้วยเยื่อลำไส้ใหญ่ตอนปลายสุด ไม่ก่อให้เกิดความเจ็บปวดในขณะที่ยังไม่มีอาการแทรกซ้อน แต่จะมีอาการเลือดออก และพบก้อนได้

  2. ริดสีดวงภายนอก คือ ริดสีดวงทวารที่เกิดขึ้นบริเวณปากรอยย่นของทวารหนัก สามารถมองเห็น และคลำติ่งเนื้อที่ปกคลุมหลอดเลือดโป่งพองได้ หลอดเลือดที่โป่งพองจะถูกคลุมด้วยผิวหนัง อาจมีความรู้สึกเจ็บปวด และเลือดออก เนื่องจากที่ติ่งเนื้อมีปลายประสาทรับความรู้สึก


อาการของ โรคริดสีดวงทวาร

อาการของโรคริดสีดวงทวาร สามารถแบ่งออกได้เป็น 4 ระยะ ตามความรุนแรงของอาการที่เพิ่มขึ้น ได้แก่

ระยะที่ 1: มีเส้นเลือดดำโป่งพองในทวารหนัก มีเลือดไหลขณะเบ่งถ่ายอุจจาระ หากท้องผูก จะมีเลือดออกมากขึ้น

ระยะที่ 2: หัวริดสีดวงทวารมีขนาดใหญ่ขึ้น และเริ่มโผล่พ้นทวารหนัก เวลาเบ่งอุจจาระ จะออกมาให้เห็นมากขึ้น และหดกลับได้เองหลังขับถ่าย

ระยะที่ 3: หัวริดสีดวงทวารโผล่ออกมามากกว่าเดิม เวลาไอ จาม หรือยกของหนักที่ต้องเกร็งท้อง จะเกิดการเบ่ง ทำให้หัวริดสีดวงทวารออกมาข้างนอก ไม่สามารถหดกลับเข้าไปได้เอง และต้องใช้นิ้วดันกลับเข้าไป

ระยะที่ 4: หัวริดสีดวงทวารโตมากขึ้น สามารถมองเห็นจากภายนอกได้ง่าย และชัดเจน มีอาการบวม อักเสบ และอาการแทรกซ้อนที่รุนแรง โดยจะมีเลือดออกอยู่เสมอ หรืออาจเป็นน้ำเหลืองที่มีลักษณะเมือก ลื่น และมีอุจจาระออกมาได้ ทำให้สกปรก ผู้ป่วยรู้สึกเปียกชื้นตลอดเวลา อาจมีอาการคันที่ขอบปากทวารร่วมด้วย มีอาการเน่า และอักเสบมากขึ้น ซึ่งทำให้เกิดการติดเชื้อได้ง่าย หากมีเลือดออกอยู่เรื่อย ๆ จะทำให้ซีด อ่อนเพลีย น้ำหนักตัวลด และหน้ามืดได้ ควรเข้าพบแพทย์โดยด่วน


สาเหตุของริดสีดวงทวารหนัก

  1. มักทานอาหารที่มีกากใยน้อย

  2. มีภาวะท้องผูกเรื้อรัง ทำให้ต้องเบ่งถ่ายอุจจาระอยู่เป็นประจำ แรงเบ่งจะทำให้เนื้อเยื่อหลอดเลือดเกิดการบาดเจ็บ ส่งผลให้หลอดเลือดโป่งพอง หรือหลอดเลือดขอดได้ง่าย

  3. ชอบเบ่งอุจจาระแรง ๆ และ ถ่ายอุจจาระเป็นเวลานาน เช่น ชอบเล่นโทรศัพท์มือถือขณะขับถ่าย รวมถึงการ การยืน หรือเดินเป็นเวลานาน

  4. ชอบใช้ยาสวนอุจจาระ หรือยาระบายพร่ำเพรื่อ

  5. ท้องเดิน ท้องเสียเรื้อรัง เมื่อถ่ายอุจจาระบ่อย ๆ จะทำให้เกิดแรงเบ่งที่เป็นการเพิ่มความดัน

  6. มีน้ำหนักตัวมาก หรือโรคอ้วน ส่งผลให้แรงดันในช่องท้อง และอุ้งเชิงกรานเพิ่มขึ้น เลือดจึงคั่งในเนื้อเยื่อหลอดเลือดได้

  7. ตั้งครรภ์ น้ำหนักของครรภ์ จะกดทับบนเนื้อเยื่อหลอดเลือด ทำให้เลือดคั่งอยู่ในหลอดเลือด

  8. การมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก จะทำให้เกิดการกด เบียดทับ หรือบาดเจ็บ ต่อเนื้อเยื่อหลอดเลือดเรื้อรังได้ ทำให้เลือดคั่งอยู่ในหลอดเลือด และเกิดหลอดเลือดโป่งพองได้ง่าย

  9. อายุที่เพิ่มมากขึ้น ผู้สูงอายุมักจะมีการเสื่อมของเซลล์ต่าง ๆ รวมทั้งความเสื่อมของกลุ่มเนื้อเยื่อหลอดเลือด จึงทำให้หลอดเลือดโป่งพองได้ง่ายกว่าปกติ

  10. พบร่วมกับโรคในช่องท้องอื่น ๆ เช่น ก้อนเนื้องอกในท้อง เนื้องอกมดลูก ถุงน้ำรังไข่ มะเร็งลำไส้ใหญ่ ต่อมลูกหมากโต ตับแข็ง หากมีเลือดออกนานกว่า 1 สัปดาห์ หรือเป็นผู้ที่มีอายุมากกว่า 40 ปี ควรเข้ารับการตรวจ


วิธีป้องกันโรคริดสีดวงทวารแบบง่าย ๆ

  1. ทานอาหารที่มีกากใยสูง เช่น ข้าวกล้อง ธัญพืช ผัก และผลไม้ต่าง ๆ หรือน้ำลูกพรุน อยู่เสมอ เพื่อให้ระบบขับถ่ายคล่องตัว

  2. ดื่มน้ำสะอาดวันละ 8 - 10 แก้ว เนื่องจากน้ำมีส่วนช่วยให้กากใยอาหารอ่อนตัว ทำยให้อาหารเคลื่อนผ่านลำไส้ได้ง่ายขึ้น

  3. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ การออกกำลังกาย มีส่วนช่วยทำให้ระบบขับถ่ายดีขึ้น และยังช่วยทำให้ลำไส้แข็งแรงขึ้นได้ด้วย


โรคริดสีดวงทวารหนัก เป็นโรคที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน แต่ผู้ป่วยส่วนมากมักจะอาย และไม่กล้าไปพบแพทย์ หรืออาจหันไปใช้แพทย์ทางเลือก เช่น การรักษาด้วยการฉีดยาสมุนไพร จนทำให้แผลเน่าและรูทวารตีบ หากเป็นเช่นนี้ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะต้องทำการขยายรูทวาร และนำผิวหนังที่ยื่นนูนออกมาให้กลับเข้าไปภายใน ซึ่งจะทำให้เกิดความเจ็บปวดเป็นอย่างมาก ดังนั้น หากเกิดเป็นริดสีดวงทวารขึ้นมาแล้ว ควรไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษาอย่างถูกต้อง ไม่ควรอายเป็นอันขาด ไม่เช่นนั้น อาจจะก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพร้ายแรงกว่าที่คิดในภายหลังได้

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook