5 กลุ่มเสี่ยง “ช็อกโกแลตซีสต์”
จริง ๆ แล้วโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบสืบพันธุ์ของเพศหญิง มักไม่มีสาเหตุที่ระบุได้อย่างชัดเจน กว่าจะรู้ตัวว่าเป็นก็ต่อเมื่อไปตรวจร่างกายประจำปีเจอ หรือที่แย่กว่านั้นคือมีสัญญาณอันตรายเตือนถึงโรคร้ายแล้วเป็นที่เรียบร้อย บ้างก็รักษากันทันด้วยการติดตามอาการ กินยา หรือฉีดยา แต่ที่เจอบ่อยไม่แพ้กันคืออาการที่เกิดขึ้นจนต้องผ่าตัดสถานเดียว
ช็อกโกแลตซีสต์ โรคอันตรายที่เกิดขึ้นได้กับผู้หญิงทุกคน
นายแพทย์สุกรม ชีเจริญ รองผู้อำนวยการด้านการแพทย์ โรงพยาบาลราชวิถี อธิบายว่า ช็อกโกแลตซีสต์ หรือ ถุงน้ำช็อกโกแลต ที่ในทางการแพทย์เรียกว่า เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญเติบโตผิดที่ สาเหตุส่วนใหญ่ของช็อกโกแลตซีสต์ เกิดจากประจำเดือนส่วนหนึ่งไหลย้อนไปทางปีกมดลูก แล้วเข้าไปฝังตัวที่อื่นๆ โดยนำเซลล์ของเยื่อบุโพรงมดลูกเข้าไปด้วย เมื่อเซลล์นี้ไปฝังตัวอยู่ที่อวัยวะไหนก็จะเกิดถุงน้ำขึ้นที่อวัยวะนั้น ส่วนมากเราจะพบจุดเกิด ช็อกโกแลตซีสต์บ่อยๆได้ในรังไข่ แต่ถ้าเยื่อบุโพรงมดลูกแทรกเข้าไปในกล้ามเนื้อมดลูกจะไม่กลายเป็นซีสต์ ทว่าจะกลายเป็นพังผืดหรือก้อนในกล้ามเนื้อมดลูกแทน
>> ปวดท้องประจำเดือนรุนแรง เสี่ยง "ช็อกโกแลตซีสต์"
กลุ่มเสี่ยง “ช็อกโกแลตซีสต์”
ผศ. พญ. ทัศน์วรรณ รังรักษ์ศิริวร โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ให้ข้อมูลถึงกลุ่มเสี่ยงโรคช็อกโกแลตซีสต์เอาไว้ดังนี้
- มีประจำเดือนบ่อยกว่าปกติ (ระยะห่างของรอบเดือนที่สั้น คือ น้อยกว่า 28 วัน)
- ประจำเดือนมีปริมาณมากผิดปกติเป็นประจำ
- อยู่ในภาวะมีบุตรยาก
- มีบุตรช้า
- พันธุกรรม (ผู้มีประวัติคนใครอบครัวเคยเป็นโรคช็อกโกแลตซีสต์ จะมีความเสี่ยงในการเป็นโรคมากกว่าคนปกติ 6-10 เท่า)
อาการของโรคช็อกโกแลตซีสต์
ผู้ที่มีช็อกโกแลตซีสต์ อาจมีอาการปวดท้องมากเมื่อมีประจำเดือน และอาจมีอาการเจ็บปวดเมื่อมีเพศสัมพันธ์
ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง หากพบความผิดปกติเกี่ยวกับการมีประจำเดือน ควรเข้ารับการตรวจกับแพทย์ เพื่อรับการวินิจฉัยอย่างละเอียด