"นิ่วในถุงน้ำดี" ภัยใกล้ตัวที่ไม่ควรมองข้าม
นิ่วในถุงน้ำดี (Gall Stone) เป็นโรคที่สามารถเกิดขึ้นกับทุกคนได้ และมีความอันตรายถ้าไม่รีบรักษา นิ่วในถุงน้ำดีนั้นเกิดจากการตกตะกอนของหินปูนหรือคอเลสเตอรอลในน้ำดี ทำให้เกิดนิ่ว โดยลักษณะนิ่วมี 3 ประเภท ได้แก่
- นิ่วจากคอเลสเตอรอล (Cholesterol Stones) อาจเป็นสีเหลือง ขาว เขียวเกิดจากการตกตะกอนไขมัน เนื่องจากคอเลสเตอรอลเพิ่มมากขึ้นในถุงน้ำดี
- นิ่วจากเม็ดสี (Pigment Stones) อาจเป็นสีคล้ำดำ เกิดจากความผิดปกติของเลือด โลหิตจาง ตับแข็ง
- นิ่วโคลน (Mixed Gallstones) เป็นคล้ายโคลน เหนียว หนืด เกิดจากการติดเชื้อใกล้ตับ ท่อน้ำดี ตับอ่อน
จะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นนิ่ว ?
โดยทั่วไปแล้วนิ่วในถุงน้ำดีจะไม่แสดงการเกิดอาการ ผู้ป่วยมักจะทราบว่าเป็นโรคก็ต่อเมื่อมาตรวจสุขภาพหรือพบแพทย์ด้วยปัญหาสุขภาพอื่นๆ หรืออาจจะมีการแสดงอาการหากก้อนนิ่วติดค้างอยู่ที่ปากทางออกของถุงน้ำดีและเกิดการอุดตัน ดังนี้
- ท้องอืด
- แน่นท้อง
- ปวดใต้ลิ้นปี่/ชายโครงด้านขวา
- ปวดร้าวที่ไหล่/หลังขวา
- คลื่นไส้อาเจียน (ถุงน้ำดีติดเชื้อ)
- มีไข้หนาวสั่น
- ดีซ่าน/ตัว-ตาเหลือง (เมื่อก้อนนิ่วอุดในท่อน้ำดี)
- ปัสสาวะสีเข้ม (เมื่อก้อนนิ่วอุดในท่อน้ำดี)
- อุจจาระสีขาว (เมื่อก้อนนิ่วอุดในท่อน้ำดี)
การป้องกันนิ่วในถุงน้ำดี
- ควรรับประทานอาหารให้ตรงเวลาและครบมื้อทุกวัน
- ควรควบคุมน้ำหนัก และระดับไขมันในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ เพื่อป้องกันไม่ให้มีการหลั่งคอเลสเตอรอลในน้ำดีมากเกินไป
- หากต้องการลดน้ำหนัก ควรลดอย่างถูกวิธีและค่อยเป็นค่อยไป เพราะการที่น้ำหนักลดลงอย่างรวดเร็ว จะทำให้ตับหลั่งคอเลสเตอรอลในน้ำดีมากกว่าปกติ