5 เหตุผลที่ควรตรวจสุขภาพก่อน "วิ่ง"

5 เหตุผลที่ควรตรวจสุขภาพก่อน "วิ่ง"

5 เหตุผลที่ควรตรวจสุขภาพก่อน "วิ่ง"
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
  • Sudden Cardiac Death คือ ความเสี่ยงการเสียชีวิตโดยไม่มีสัญญาณเตือนล่วงหน้า มักเกิดขึ้นกับนักวิ่งที่อาจเป็นโรคบางชนิดที่ไม่เคยรู้มาก่อน โดยเฉพาะโรคหัวใจ

  • การวิ่งมาราธอนเป็นการวิ่งระยะทางไกลโดยเฉพาะวิ่งในสภาพอากาศที่ร้อน อาจเกิดปัญหากับสุขภาพ ควรพบแพทย์เพื่อประเมินความเสี่ยงก่อนออกวิ่ง ในขณะวิ่งควรหมั่นสังเกตอาการผิดปกติและไม่ฝืนเพื่อเข้าเส้นชัย

  • การตรวจความฟิต (Fitness testing) โดยดูอัตราการใช้ออกซิเจนสูงสุดของร่างกายขณะออกกำลังกาย Aerobic test (VO2 max test) มีประโยชน์อย่างมากสำหรับนักวิ่งที่ต้องการเพิ่มประสิทธิภาพของตัวเอง


ด้วยกระแสการวิ่งมาราธอนที่กำลังมาแรง ทำให้มีคนออกมาวิ่งกันมากมาย เพราะนอกจากการวิ่งที่สม่ำเสมอจะส่งผลให้มีสุขภาพแข็งแรงแล้ว ในปัจจุบันยังมีสนามวิ่งและการจัดงานวิ่งมาราธอนที่น่าสนใจมากมาย สำหรับมือใหม่ที่เริ่มหัดวิ่ง หรือแม้แต่ผู้ที่วิ่งอยู่เป็นประจำ รวมถึงนักวิ่งที่ผ่านมาหลายสนามแต่ต้องการพัฒนาการวิ่งมากขึ้นเพื่อสร้างสถิติใหม่ก็ตามควรคำนึงถึงความสามารถของร่างกายที่อาจส่งผลร้ายถึงชีวิตได้

นพ. ประพนธ์ ดิษฐ์รุ่งโรจน์ แพทย์สาขาอายุรศาสตร์ และอนุสาขาอายุรศาสตร์โรคหัวใจ โรงพยาบาลสมิติเวช ระบุว่า Sudden Cardiac Death คือ ความเสี่ยงการเสียชีวิตโดยไม่มีสัญญาณเตือนล่วงหน้า มักเกิดขึ้นกับนักวิ่งที่อาจเป็นโรคบางอย่างที่ไม่เคยรู้มาก่อน โดยเฉพาะโรคหัวใจ ซึ่งหากใช้กำลังหรือออกแรงมากกว่าปกติจะส่งผลกับการเต้นของหัวใจ ทำให้เสียชีวิตจากหัวใจวายขณะวิ่งได้ ดังที่เป็นข่าวอยู่บ่อยๆ ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยของนักวิ่งเอง ก่อนสมัครลงวิ่งรายการใด ๆ ที่เพิ่มขีดจำกัดของตัวเองควรเข้ารับการตรวจสุขภาพก่อนวิ่ง ด้วยเหตุผล 5 ข้อ ดังนี้

  1. ค้นหาโรคร้ายที่ซ่อนอยู่

การตรวจคัดกรองหรือการตรวจสุขภาพประจำปีทั่วไปอาจไม่สามารถตรวจพบได้ โดยเฉพาะโรคหัวใจ ซึ่งการออกแรงมากเกินกว่าปกติต่อเนื่องกันเป็นเวลานานจะส่งผลโดยตรงกับการเต้นของหัวใจทำให้หน้ามืด เป็นลม เเน่นหน้าอก ใจสั่น หรือเสียชีวิต รวมถึงโรคร้ายอื่นๆ เช่น โรคเนื้อเยื่อสมองเสื่อมรุนแรงเรื้อรัง ซึ่งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตของนักกีฬาอาชีพ อย่าง ไมค์ เว็บสเตอร์ (Mike Webster) นักอเมริกันฟุตบอลผู้มีชื่อเสียง ที่ปฏิเสธการตรวจสุขภาพก่อนลงแข่ง

  1. ประเมินความเสี่ยง

เป็นที่ทราบดีว่าการวิ่งมาราธอนที่ต้องใช้กำลังกายและกำลังใจออกวิ่งเป็นระยะทางมากถึง 42.195 กิโลเมตร  หรือแม้กระทั่งผู้เพิ่งเริ่มหัดวิ่งที่ต้องออกแรงมากกว่าที่เคย โดยเฉพาะเมื่อต้องวิ่งในสภาพอากาศที่ร้อนอย่างประเทศไทย ทั้งนี้จากการวิจัยของมหาวิทยาลัยฮาวาร์ด (Harvard University) พบว่าในทุกๆ ปี มีคนหนุ่มสาวเสียชีวิตขณะเล่นกีฬามากกว่า 200-300 คน จากโรคหอบหืดและโรคลมแดด ดังนั้นการหายใจให้เป็นจังหวะและดื่มน้ำให้เพียงพอในระหว่างวิ่ง รวมถึงหมั่นสังเกตอาการขณะวิ่ง ไม่ควรฝืนหากพบว่ามีอาการผิดปกติ การพบแพทย์เพื่อประเมินความเสี่ยงก่อนออกวิ่งจึงเป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้าม

  1. ตรวจหาสภาวะที่ห้ามออกกำลังกายด้วยการวิ่ง

ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคอ้วน เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ซึ่งหลายคนมองว่ามีความจำเป็นต้องออกกำลังกายเพิ่มขึ้น แต่ในความจริงแล้วโรคเรื้อรังบางชนิดส่งผลให้หลอดเลือดตีบ ทำให้เลือดไม่สามารถไปเลี้ยงหัวใจได้ตามปกติ การออกกำลังกายที่หนักหน่วงเกินความสามารถของร่างกายอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพมากกว่าผลดี ดังนั้นผู้มีโรคประจำตัวควรปรึกษาแพทย์ก่อนวิ่งเสมอ

  1. ตรวจหาความเสี่ยงการบาดเจ็บ

โดยเฉพาะผู้ที่เคยมีประวัติการบาดเจ็บขณะวิ่งมาก่อน ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการอักเสบต่อเนื่องและเรื้อรังในที่สุดหากไม่หยุดพักร่างกายจนหายดี รวมถึงนักวิ่งที่ไม่ได้รับการฝึกอย่างถูกต้อง การพบแพทย์จะช่วยลดความเสี่ยงของการบาดเจ็บซ้ำซากที่อาจส่งผลให้ต้องหยุดวิ่งเป็นระยะเวลานาน หรืออาจไม่สามารถวิ่งได้อีกเลย หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี

  1. เช็กความฟิตของร่างกาย

การตรวจวัดความฟิต (Fitness testing) แพทย์จะทำการตรวจเช็คร่างกาย และดูอัตราการใช้ออกซิเจนสูงสุดของร่างกายขณะออกกำลังกาย โดยการตรวจ Aerobic test (VO2 max test) หากมีค่าสูงก็แสดงว่ามีความฟิตมาก ซึ่งมีประโยชน์อย่างมากสำหรับนักวิ่งที่ต้องการเพิ่มประสิทธิภาพของตัวเองด้วยความเร็วหรือระยะทาง รวมถึงจะช่วยวางแผนการจัดโปรแกรมการฝึกที่ถูกต้องและมีประสิทธิภาพ

ก่อนออกกำลังกาย หรือเล่นกีฬาใด ๆ ก็ตาม ควรมีการวอร์มอัพหรืออบอุ่นร่างกายทุกครั้ง การวิ่งก็เช่นกัน ผู้วิ่งควรเช็คสภาพร่างกายด้วยการตรวจสุขภาพก่อนวิ่ง โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวและกำลังจะเริ่มหัดวิ่ง  ผู้ที่วิ่งเป็นประจำแต่ต้องการเพิ่มประสิทธิภาพของตัวเองด้วยความเร็วและระยะทางที่มากขึ้น เพื่อตรวจหาภาวะเสี่ยงบาดเจ็บซ้ำซากและเรื้อรัง ที่อาจส่งผลให้ไม่สามารถวิ่งได้อีก รวมถึงการตรวจเช็คความสามารถของร่างกาย เพื่อการวางแผนการฝึกฝนที่ดีขึ้น และที่สำคัญคือการตรวจหาโรคร้ายที่อาจซ่อนอยู่ในร่างกาย ซึ่งหากตรวจพบก่อนก็สามารถรักษาให้หายหรือป้องกันการเสียชีวิตขณะวิ่งได้

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook